รูปแบบเรือนยอด

รูปแบบเรือนยอด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ เลาะรั้ว

นายช่าง

ก่อนเปลี่ยนการปกครองประเทศในปีพ.ศ. 2475 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารที่เรียกว่า วัง นั้น เป็นสิ่งต้องห้ามที่ไม่ให้ขุนนางหรือไพร่ ทาส ใดๆ จะใช้สัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่เป็นของวังมาเป็นองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือนอำมาตย์ขุนนางหรือไพร่ เป็นอันขาด

ว่ากันว่าในอดีตนั้น หลังคาบ้านของอำมาตย์ ของขุนนาง หรือไพร่ ไม่ว่าระดับใดจะใส่หลังคากระเบื้องเคลือบสีไม่ได้เด็ดขาด เพราะหลังคากระเบื้องเคลือบสีมีได้เฉพาะของวัดและวังเท่านั้น

ดังนั้น เรื่องฐานานุรูปฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตย กรรมของวัง จึงเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับชาวบ้านทั่วไป เรื่องที่ต้องห้ามมิให้ชาวบ้านชาวเมืองใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของวังนั้น มีสิ่งใดบ้างก็ต้องไปศึกษาจากคติและสัญลักษณ์ขององค์ประกอบ เหล่านั้น

โดยฐานะของกษัตริย์ไทย มีคติทั้งพุทธและพราหมณ์อยู่ 2 ลักษณะที่รวมกันอยู่ และอยู่ในฐานะสูงสุดของทั้งพุทธและพราหมณ๏ฟฝคือเทพเจ้าสูงสุด

ในทางพุทธคือ คติของหน่อพุทธางกูรหรือพระโพธิสัตว์

ในทางพราหมณ์คือ คติของพระศิวะและของพระนารายณ์ผู้รักษาโลก และในคติของพระอินทร์หรือท้าวสักกะเทวราชผู้ปกป้องสวรรค์

เพราะฉะนั้นงานทางสถาปัตยกรรมสำหรับ ที่อยู่ที่สถิตของ กษัตริย์ ต้องมีฐานานุรูปฐานานุศักดิ์เฉพาะ ผู้อื่นจะนำเอาไปใช้ไม่ได้ และในฐานะที่เป็นสมมตเทพ

ที่อยู่ที่สถิตของเทพนั้นแตกต่างจากโลกมนุษย์ คติและสัญลักษณ์เหล่านี้จึงต้องนำมาจากความเชื่อของสิ่งที่อยู่เหนือโลกมนุษย์ จึงได้เกิดมีคติ โลก สวรรค์ ขึ้น

ในความเป็นไทยนั้นคติ โลก สวรรค์ ได้กำหนดรูปแบบไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงถึงลักษณะ รูปพรรณ สัณฐาน และสิ่งที่มีหรือองค์ประกอบของโลกสวรรค์นั้น

ดังนั้น วังในฐานะของที่อยู่ของเทพจึงต้องใช้คติและสัญลักษณ์ของสวรรค์ที่มีลักษณะตามโครงสร้างของไตรภูมิพระร่วง

เริ่มต้นก็คือ ลักษณะของวังต้องมีลักษณะเป็น 3 รูปแบบ

รูปแบบที่ 1 เป็นดังศูนย์กลางจักรวาลคือ เขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลาง เป็นที่อยู่ตามลำดับขั้นของเหล่าเทพยาดา และมีภูเขาล้อมรอบเป็นแนวรวมทั้งหมด 7 แถว

ในรูปแบบนี้จะจำแลงลงมาเป็นอาคารที่เรียกว่าเรือนยอด 7 ชั้น ซ้อนกัน ที่จะเห็นชัดเจนเช่น เรือนยอดของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

รูปแบบชนิดนี้บุคคลอื่นจะนำไปใช้ไม่ได้ แม้แต่อาคาร ที่เป็นวัดวาอาราม แต่ปัจจุบันผู้คนแม้พระสงฆ์ก็ไม่ทราบระเบียบฐานานุรูปฐานานุศักดิ์นี้นำเอารูปแบบนี้ไปสร้างเป็นพระอุโบสถทั้งวิหารบ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องและไม่มีใครไป ห้ามปราม เพราะไม่มีกฎหมายบังคับไว้เป็นแต่เพียงคติที่บรรดาช่างเข้าใจเท่านั้น

ท่านอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่งได้เคยอธิบายเรื่องนี้ในการสัมมนาทางวิชาการไว้ว่า เป็นเรื่องที่ทางวัดไม่ควรทำ แต่เสียงของท่านคงเบาไปจึงไม่มีใครค่อยได้ยิน เรื่องจึงผิดเพี้ยนมาทุกวันนี้

ตัวอย่างกรณีรูปแบบนี้คือเรื่องของการสร้างวังหน้า ใน สมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้เคยเกิดกรณีศึกษาอย่างนี้กล่าวคือ กรมพระราชวังบวร วังหน้า ท่านมีพระราชดำรัส จัดสร้างพระที่นั่งโดยจัดสร้างโครงสร้างสำหรับขึ้นทรงหลังคาเรือนยอดเช่นเดียวกับในวังหลวง ได้มีหนังสือไปจากวังหลวงว่า ไม่มีธรรมเนียมใดมาก่อนที่จะสร้างปราสาทเรือน ยอดนอกเขตพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งวังหลังนั้นในวันหน้าจึงแก้ทรงเป็นหลังคาทรงจตุรมุขและเรียกกันในปัจจุบันว่า วัดพระแก้ววังหน้า ที่อยู่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ในปัจจุบัน

นี่คือตัวอย่างของการใช้ฐานานุรูปฐานานุศักดิ์ของวังหน้าที่ห้ามผู้ใดก่อสร้างในรูปแบบเรือนยอด เช่นในวังหลวงเป็นอันขาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook