ซ่อมสกอร์เปี้ยน3พัน ล.พ่นพิษทหารม้า งัดข้อ กรมสรรพาวุธ

ซ่อมสกอร์เปี้ยน3พัน ล.พ่นพิษทหารม้า งัดข้อ กรมสรรพาวุธ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คมชัดลึก : ทบ.ร้าว! จากโครงการซ่อมรถถังสกอร์เปี้ยน 3,000 ล้าน อนุพงษ์ โดดหย่าศึก สรรพาวุธ-ศูนย์การทหารม้า เผยทหารม้าต้องการใช้มาตรฐานอังกฤษ แต่สรรพาวุธยัดไส้ของออสเตรีย ผบ.ทบ.ยันต้องให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้คือทหารม้า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังงบประมาณของกองทัพบกที่ถูกตัดลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จึงมีคำสั่งให้หน่วยทหารม้าทั้งหมด ได้แก่ กองพลทหารม้าที่ 1 (พล.ม.1) จ.เพชรบูรณ์ และกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) สนามเป้า รวมทั้งหน่วยลูกที่เป็นหน่วยขึ้นตรงในเหล่าทหารม้าให้สำรวจยุทโธปกรณ์ประเภทรถถังขนาดเบา และขนาดหนัก รวมถึงรถหุ้มเกราะที่อยู่ในความดูแลของหน่วยทหารม้าทั้งหมดว่า รถประเภทใดถึงเวลาที่จะต้องปลดประจำการ และรถประเภทใดต้องซ่อมบำรุงรักษาเพื่อทดแทนรถที่มีอยู่เดิม หรือต้องจัดซื้อใหม่เข้ามาทดแทน แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งงบประมาณของกองทัพบกไม่เพียงพอ ทำให้กองทัพต้องชะลอหลายโครงการ และใช้วิธีซ่อมแทนการจัดซื้อ แหล่งข่าวนายทหารระดับสูงเปิดเผยว่า ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 กระทรวงกลาโหม กองทัพบกถูกตัดงบประมาณ โครงการจัดซื้ออาวุธขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการจัดซื้อยานเกราะล้อยางจากยูเครนจำนวน 96 คัน งบประมาณ 3,800 ล้านบาท เฟสที่ 2 แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังรบ และยุทโธปกรณ์ในส่วนหน่วยทหารม้า โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ประเภทรถถังที่มีสภาพเก่า และทรุดโทรมเป็นจำนวนมาก กองทัพบกจึงให้หน่วยแม่สำรวจจัดหาโครงการซ่อมรถถังเบาแบบ สกอร์เปี้ยน ของเหล่าทหารม้าที่ซื้อจากอังกฤษมา 31 ปี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแทนการจัดซื้อของใหม่ทดแทน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ มีคำสั่งกองทัพบกลงไปยังศูนย์การทหารม้า ซึ่งเป็นหน่วยวิทยาการของเหล่าทหารม้า ก็ได้จัดลำดับความเร่งด่วนของยุทโธปกรณ์ เพื่อให้เตรียมพร้อมในการใช้งานขึ้น ศูนย์การทหารม้าเลือกแบบที่จะซ่อมรถถังแบบ สกอร์เปี้ยน ที่ได้จัดซื้อสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น ผ.ทบ. เพื่อให้สามารถใช้งานในช่วงที่ประเทศชาติขาดงบประมาณ ทดแทนการจัดซื้อของใหม่ แต่เกิดปัญหาเพราะกรมสรรพาวุธทหารบกเป็นหน่วยเลือกแบบซ่อม แต่ไม่ได้พูดคุยกับหน่วยที่ต้องใช้ จึงเกิดข้อขัดแย้งระหว่างศูนย์การทหารม้า และกรมสรรพาวุธ โดยกรมสรรพาวุธไปเลือกแบบของบริษัทที่ไม่เข้าใจความต้องการ ไม่ฟังข้อคิดเห็นหรือมาปรึกษากับหน่วยศูนย์การทหารม้าที่เป็นผู้ใช้ยุทโธปกรณ์ แหล่งข่าวกล่าว แหล่งข่าวระบุว่า การจัดซ่อมที่ไม่ตรงความต้องการกับผู้ใช้ทำให้ผู้ใหญ่ในศูนย์การทหารม้าบอกว่า ถ้าซ่อมมาแล้วไม่ตรงความต้องการก็ให้กรมสรรพาวุธนำไปใช้เองเลย เพราะหน่วยผู้ใช้คือ ศูนย์การทหารม้า ต้องการให้ซ่อมตามแบบ เพื่อให้การใช้งานถูกตรงความต้องการ แต่ครั้งนี้ถือเป็นการซ่อมที่ไม่ตรงกับความต้องการของศูนย์การทหารม้า โดยเฉพาะการใช้เครื่องยนต์ของออสเตรีย ขณะที่กองทัพบกต้องการซ่อมตามมาตรฐานสากลของกองทัพบกอังกฤษ และใช้เครื่องยนต์อังกฤษ จึงเกิดข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงของทั้ง 2 หน่วยในเวลานี้ แหล่งข่าวกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า แม้กระทรวงกลาโหมจะถูกตัดงบประมาณปี 2553 จาก 1.7 แสนล้านบาท เหลือ 1.5 แสนล้านบาท โดยสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมได้งบประมาณ 5,400 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 1.2 หมื่นล้านบาท กองทัพบก 7.2 หมื่นล้านบาท กองทัพเรือ 2.8 หมื่นล้านบาท กองทัพอากาศ 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งกองทัพบกเห็นว่า เมื่อไม่ได้โครงการรถเกราะล้อยางจากประเทศยูเครนเพิ่มเติม จึงหันมาดันโครงการซ่อมรถถังเบาแบบ สกอร์เปี้ยน จำนวน 128 คัน ที่ใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มมาตรฐานการรบของหน่วยทหารม้าได้ โดยลอตแรกเสนอซ่อมปรับปรุง 42 คัน งบประมาณ 1,070 ล้านบาท ก่อน อย่างไรก็ตาม โครงการนี้กำลังเกิดความไม่ชอบมาพากล เพราะศูนย์การทหารม้า ซึ่งเป็นหน่วยผู้ใช้ที่รวมความต้องการจากหน่วยทหารม้าที่มีรถถัง สกอร์เปี้ยน ประจำการ ทั้งจากหน่วยใน จ.ปราจีนบุรี สระบุรี กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ เสนอให้กองทัพบกซ่อมปรับปรุง หรือ รีเฟอร์บิช (Refurbish) ด้วยมาตรฐานของกองทัพบกอังกฤษ แต่ถูกกรมสรรพาวุธล็อกสเปกให้บริษัทที่ไม่ได้ผ่านมาตรฐานจากกองทัพอังกฤษเข้าดำเนินการ และใช้เครื่องแบบเดิม ไม่เอาเครื่องที่ได้มาตรฐานมาใช้ จึงเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงของทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวในที่สุด แหล่งข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 มีการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก โดย พล.อ.อนุพงษ์ได้เชิญ พล.ท.คำนวน เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก เข้าพบ เพื่อหารือถึงโครงการจัดซ่อมรถถัง สกอร์เปี้ยน ตามที่หน่วยศูนย์การทหารม้าเสนอเข้ามา แต่ถูกกรมสรรพาวุธเปลี่ยนแบบในการซ่อม ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ ไม่พอใจอย่างมาก ที่กรมสรรพาวุธทหารบกไม่ทำตามที่หน่วยผู้ใช้ คือ ศูนย์การทหารม้าร้องขอ และคำสั่งของ ผบ.ทบ. โดยจัดซ่อมผิดแบบ ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ สั่งการให้เกิดความเข้าใจอย่างท่องแท้ ไม่ใช่สอดยัดไส้ โดยให้หน่วยกรมสรรพาวุธทหารบกกลับไปถามความต้องการของศูนย์การทหารม้าใหม่ เพราะเป็นหน่วยที่จะต้องใช้ยุทโธปกรณ์ แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้ 2 หน่วยเกิดความขัดแย้ง และไม่ลงรอยกันอย่างแรงระหว่าง พล.ท.คำนวน กับ พล.ต.ไตรรัตน์ รังคะรัตน ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ ต้องลงมาหย่าศึก ซึ่งปัญหาเกิดจากกรมสรรพาวุธทหารบกเสนอให้ซ่อมเปลี่ยนเครื่องยนต์เท่านั้น โดยใช้เครื่องยนต์สไตเออร์ (Styer) ของออสเตรียอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของหน่วยทหารม้าที่ต้องการให้ซ่อมปรับปรุงรีเฟอร์บิชทั้งระบบ โดยต้องการใช้เครื่องยนต์และการซ่อมของอังกฤษ คือ 1.ต้องใช้เครื่องยนต์คัมมินส์ (Cummins) ของอังกฤษ 2.ต้องเป็นรีเฟอร์บิช ทรานมิชชั่น (Refurbish Transmission) ทั้งการทำระบบควบคุมการยิง ระบบระบายอากาศ และระบบความเย็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook