กทม.ทุ่มงบ 2 หมื่นล้าน ขีดเส้น 2 ปี จัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน

กทม.ทุ่มงบ 2 หมื่นล้าน ขีดเส้น 2 ปี จัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน

กทม.ทุ่มงบ 2 หมื่นล้าน ขีดเส้น 2 ปี จัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กทม.ใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้าน ดันโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินรวม 2,450 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 2 ปี ยันไม่กระทบผิวจราจร พัฒนาสู่เมืองไร้สาย รองรับ 5G

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) โครงการส่งเสริมพัฒนาและกำหนดแนวทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดโครงการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้า เดอะสตรีท ถนนรัชดาภิเษก

พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนมกราคม 2562 ให้กทม.เป็นเจ้าภาพดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงมีการประชุมร่วมกับ กสทช. เพื่อเตรียมความพร้อมแผนงาน และมาตรการต่าง ๆ โดยมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. เป็นผู้จัดหาผู้รับจ้างและดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว เพื่อนำสายสื่อสารบนถนนสายหลัก สายรอง รวมถึงเส้นทางลัด และเส้นทางในซอยที่มีการพาดสายทั่วกรุงเทพฯ ลงใต้ดิน รวม 2,450 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 2 ปี โดยไม่กระทบผิวจราจร รวมมูลค่าโครงการรวมกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2562 ต้องดำเนินโครงการให้ได้อย่างน้อย 600 กิโลเมตร และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จอย่างช้าสุดไม่เกินเดือน มิ.ย.2564

ขณะที่ พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่และสิ่งกีดขวางใต้ดิน โดยใช้ระบบเรดาร์บนทางเท้าที่ระดับความลึก 8 เมตร จากนั้นจะมีการออกแบบและวางแผนเพื่อขุดเจาะวางท่อร้อยขนาดเล็กใต้ดินด้วยเทคโนโลยีไมโครดัก โดยมีวิธีการก่อสร้าง 2 รูปแบบ คือ การก่อสร้างแบบเจาะลากท่อและการก่อสร้างแบบเปิดหน้าดิน ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย ขุดเจาะเปิดหน้าดินน้อย และช่วยประหยัดพื้นที่ โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 จุด ได้แก่

พื้นที่ 1 กรุงเทพเหนือ ระยะทางประมาณ 620 กิโลเมตร โดยเส้นทางนำร่องที่จะดำเนินการ ได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระรามที่ 1 – ถนนเพชรบุรี รวม 1.4 กิโลเมตร

พื้นที่ 2 กรุงเทพตะวันออก ระยะทางประมาณ 605 กม.เส้นทางนำร่องบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ประตู 2 และประตู 3 ถึงซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ และบริเวณถนนเทียมร่วมมิตร จากถนนรัชดาภิเษกถึงหน้าอาคารไซเบอร์เวิลด์ (CW Tower) รวม 1.95 กม.

พื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ระยะทางรวม 605 กม. เส้นทางนำร่องบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 68 จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 รวม 1.7 กิโลเมตร

พื้นที่ 4 กรุงธนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร เช่นเดียวกัน รวมระยะทาง 620 กิโลเมตร โดยเส้นทางนำร่อง ได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร

ด้าน เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า โครงการนำสายโทรคมนาคมลงดินครั้งนี้ จะไม่ทับซ้อนกับโครงการของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ซึ่งจะแยกส่วนการทำงานแต่จะดำเนินโครงการต่อเนื่องกัน โดย กสทช. จะเป็นผู้ประสานหน่วยงานเอกชนที่ให้บริการเครือข่ายสื่อสารเพื่อขอความร่วมมือนำสายโทรคมนาคมลงดินตามกำหนด

ทั้งนี้ กทม.จะเริ่มดำเนินการขุดเจาะและวางท่อร้อยสายประมาณเดือน ก.ค. 2562 โดยตั้งเป้าดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้ได้อย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กม. ภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 2 ปีในเดือน พ.ค.2564

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่า ภายหลังโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ หากบริษัทเอกชนไม่ให้ความร่วมมือ นำสายโทรคมนาคมลงดิน จะถือว่ามีความผิด แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ พร้อมกับยืนยันว่าค่าเช่าในส่วนท่อใต้ดินของ กทม. จะมีราคาถูกกว่าของ ทีโอทีแน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในเรื่องค่าบริการ และพัฒนากรุงเทพฯสู่การเป็น Smart City รองรับเทคโนโลยี 5G ในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook