“ค่ายคุณธรรม” ภาพสะท้อน “เด็กดี” ในสังคมไทย

“ค่ายคุณธรรม” ภาพสะท้อน “เด็กดี” ในสังคมไทย

“ค่ายคุณธรรม” ภาพสะท้อน “เด็กดี” ในสังคมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดราม่าในแวดวงการศึกษาเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นสัปดาห์ จากกรณีที่โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งได้จัดกิจกรรม “ค่ายคุณธรรม” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยมีพระสงฆ์เป็นวิทยากร ทว่ากลับเกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากพระวิทยากรได้ลงโทษพี่เลี้ยงในค่าย ให้คาบรองเท้าจำนวนกว่าร้อยคู่ ด้วยเหตุว่านักเรียนวางรองเท้าไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้โลกออนไลน์เดือด ด้วยแฮชแท็ก #คาบรองเท้า ที่ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ พร้อมข้อความที่ชาวเน็ตโพสต์แชร์ประสบการณ์จากการเข้าค่ายในลักษณะนี้ รวมทั้งตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของค่ายคุณธรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ค่ายคุณธรรมถูกตั้งคำถาม หากยังจำกันได้ เมื่อช่วงปลายปี 2561 ก็เคยมีผู้โพสต์เรื่องเกี่ยวกับน้องชายที่เป็นเพศทางเลือก และได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิในค่ายคุณธรรม ทำให้มีอาการทางจิต ร้องไห้กราบขอโทษพ่อแม่ทุกวัน จนต้องหยุดพักการเรียนไป 1 ปี ซึ่งกรณีนี้ก็ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ จนพระที่จัดกิจกรรมต้องออกมาขอโทษผ่านสื่อ ทว่าสุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป

แม้จะเป็นกรณีที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกครั้ง แต่ก็น่าแปลกใจว่าเหตุใดยังมีค่ายลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่ โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนอะไรในระบบการศึกษาไทย Sanook! News จะเล่าให้คุณฟัง

ค่ายคุณธรรมสอนอะไร

ค่ายคุณธรรมมักจะจัดขึ้นในฐานะกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมให้แก่เด็กนักเรียน โดยกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป แต่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมอันดีงามของพุทธศาสนิกชนชาวไทย เช่น ค่ายคุณธรรมจริยธรรม ค่ายพุทธบุตร ค่ายธรรมะ และมีวิทยากรหลักเป็นพระสงฆ์

จากการสำรวจความเห็นของชาวเน็ตที่เคยผ่านการเข้าค่ายคุณธรรมมาก่อน พบว่าค่ายดังกล่าวนี้มีลักษณะเด่นคือ การฉายวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงให้เด็กชม เช่น วิดีโอการคลอดลูก ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กๆ สำนึกในพระคุณแม่ วิดีโอการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ ที่มักจะเปิดในช่วงเวลารับประทานอาหาร เพื่อให้นักเรียนรับประทานอาหารให้หมด หรือแม้กระทั่งวิดีโอเกี่ยวกับอุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งมุ่งให้เด็กใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท แต่เนื้อหาโดยรวมนั้นกลับส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวในจิตใจของเด็กไม่น้อย

นอกจากการสร้างความหวาดกลัวแล้ว หลายคนยังกล่าวว่า ค่ายลักษณะนี้มักจะสร้างความรู้สึกผิดบาปให้แก่เด็กๆ มีการประจาน ดุด่าว่ากล่าว และทำโทษอย่างรุนแรงแม้จะมีความผิดเพียงเล็กน้อย เช่น หากกินข้าวไม่หมด ก็จะถูกบังคับให้กินเศษอาหารที่ทิ้งรวมกัน คาบถาดที่มีขวดน้ำวางอยู่ ล้างห้องน้ำด้วยมือเปล่า หรือทำโทษบุคคลอื่นแทน เช่น ครูหรือพี่เลี้ยงค่าย ซึ่งบางครั้งก็เป็นเพียงการสร้างสถานการณ์เพื่อกดดันให้เด็กรู้สึกผิด รวมทั้งการละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น บางค่ายมีการนำกล้องวิดีโอเข้าไปแอบถ่ายภาพนักเรียนขณะหลับ และนำมาเปิดโชว์ในห้องประชุม

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่เข้ามาแชร์ประสบการณ์ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน นั่นหมายความว่า ค่ายคุณธรรมดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้เป็นกิจกรรมหนึ่งของโรงเรียนเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีเลยทีเดียว!

นอกจากการแชร์ประสบการณ์แล้ว ชาวเน็ตส่วนใหญ่ยังเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งตั้งคำถามต่อบทบาทของพระสงฆ์และครูอาจารย์ที่อยู่ในกิจกรรม และยังมองว่ากิจกรรมดังกล่าวนั้นนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเด็กแล้ว ยังสร้างเยาวชนที่สยบยอมต่อการกระทำที่ไร้เหตุผลและไม่เหมาะสมของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า

หลังม่านคุณธรรม

ภายใต้กิจกรรมสุดโหดที่มีผลต่อร่างกายและจิตใจของเด็กที่เข้าร่วม ยังมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่อีกมากมาย สิ่งหนึ่งก็คือสถานะในเชิงอำนาจของพระที่เป็นวิทยากร ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่สามารถตรวจสอบหรือตั้งคำถามกับพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ในกรณีนี้ พระชาย วรธัมโม ครูพระสอนศีลธรรม โรงเรียนวัดเขียนเขต จ.ปทุมธานี กล่าวว่า การที่โรงเรียนเลือกจัดค่ายที่มีพระเป็นวิทยากร อาจจะเป็นเพราะพระเป็นบุคลากรทางศาสนา ที่สามารถสั่งสอนหรือโน้มน้าวให้เด็กๆ ปฏิบัติตามได้ง่าย

“ถ้ามองในเชิงอำนาจ พระมีสถานะที่เหนือกว่าในเชิงสังคม พอมาอยู่ในบทบาทของผู้นำค่ายก็น่าจะทำให้ดูมีความขลัง หรือมีอำนาจ มันทำให้คนไม่กล้าตั้งคำถาม

และสิ่งที่ตามมาจากอำนาจที่เหนือกว่า คือวิธีการสอนที่พระชายเรียกว่า “การสอนแบบให้สำนึกผิด” ที่ส่งผลด้านลบต่อจิตใจของเด็ก ดังจะเห็นได้จากกรณีของเด็กเพศทางเลือก ที่พร่ำกราบขอโทษพ่อแม่ เพราะคิดว่าตัวเองทำให้พ่อแม่ผิดหวัง หรือความเห็นจากผู้ปกครองของนักเรียนในเหตุการณ์คาบรองเท้า ที่ระบุว่าลูกของตนกลายเป็นคนเซื่องซึมหลังจากกลับจากค่าย ยิ่งกว่านั้น พระชายยังมองว่า วิธีการสอนแบบนี้อาจส่งผลต่อชีวิตของเด็กได้ในระยะยาว

“ในระยะยาวมันอาจจะทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวที่จะตั้งคำถาม หรือไม่กล้าก้าวข้ามอะไรบางอย่าง เพราะว่าชีวิตของคน เวลาผ่านไปแต่ละปี มันมีเรื่องที่ท้าทายเราตลอด ก็อาจจะเป็นคนที่หงอ หรือไม่กล้า” พระชายกล่าว พร้อมระบุว่าที่จริงแล้ว ค่ายคุณธรรมเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่สะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่าในระบบการศึกษาไทย

สถานการณ์ค่ายที่ให้คาบรองเท้ามันเหมือนปลายเหตุของกระบวนการศึกษาบ้านเรา ที่ไม่ปล่อยให้เด็กคิดเอง ทำเอง พื้นฐานของระบบการศึกษาไทยไม่สนับสนุนให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง พอไม่เปิดโอกาสก็ทำให้เด็กไม่กล้า เวลาเราไปสอนเด็ก ม.4 เราจะมอง ว่าเขาโตแล้ว แต่พอเขามารวมกันอยู่ในห้องเรียน ในชุดนักเรียน ผมเกรียน ผมติ่งหู เรารู้สึกว่าระบบโรงเรียนมันกดเขา มันทำให้เขาไม่โตไปมากกว่านี้ มันเหมือนบอนไซ เพราะฉะนั้น ค่ายคุณธรรมที่เกิดขึ้นมันเป็นแค่ปลายเหตุเท่านั้นเอง ควรไหมที่เราจะกลับไปดูระบบการศึกษาของเราจริงๆ ว่า เราทำเด็กให้เป็นบอนไซอย่างไร” พระชายกล่าว

นอกเหนือจากการสร้าง “เด็กดีมีวินัยแบบบอนไซ” แล้ว ค่ายคุณธรรมยังอาจส่งผลเสียที่ใหญ่กว่าที่คิด นั่นคือพลเมืองที่สยบยอมต่ออำนาจ

เราจะสร้างพลเมืองที่ไม่กล้า ประเทศเราถึงได้เป็นแบบนี้ อะไรที่อยู่ในห้องเรียนมันก็เหมือนจำลองประเทศนี้ไว้ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์คาบรองเท้าในค่ายก็ไม่ต่างจากสถานการณ์บ้านเมืองของเรา พอเด็กพูดเรื่องการเมือง อย่างเรื่องพานหรือขบวนพาเหรด ก็จะถูกตั้งคำถามว่ามีครูอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า การถามแบบนี้มันมาจากพื้นฐานว่าคุณคิดว่าเด็กไม่รู้เรื่องเหรอ เด็กต้องคิดแบบเด็กใช่ไหม” พระชายอธิบาย

ปลูกฝังอย่างไรให้เด็กมีคุณธรรม

เมื่อถามถึงวิธีการปลูกฝังคุณธรรมโดยไม่ยัดเยียดหรือสร้างความกดดันให้แก่เด็กๆ พระชาย ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์การสอนในห้องเรียนกล่าวว่า ศิลปะการสอนคนไม่ควรทำให้คนรู้สึกผิด รู้สึกแย่กับสถานการณ์หรือกับตัวเอง

“โดยความเป็นวิทยากร เราควรจะมีจริยธรรมมากกว่าคนทั่วไป เพราะการเป็นวิทยากรต้องเอาความรู้มาให้คนอื่นได้เรียนรู้ ศิลปะการสอนที่ดีก็คือ สอนอย่างไรให้คนเห็นคุณค่าในตัวเอง สอนอย่างไรให้คนมีสติระลึกรู้ สอนอย่างไรให้คนรู้สึกมีความสุขกับการเรียน ไม่ใช่ว่าสอนแล้วทำให้รู้สึกกดดัน กระบวนการสอนทุกอย่าง ควรเป็นการสอนที่สามารถเชื้อเชิญให้คนมีความรู้สึกอยากเรียนรู้ และเรียนแล้วก็สนุก ไม่ใช่เรียนไปแล้วก็กดดัน และรู้สึกว่าที่ผ่านมาฉันทำผิดใช่ไหม ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นตราบาปที่ติดตัวเขาไปตลอด” พระชายกล่าว

นอกจากนี้ พระชายยังเสนอแนวทาง “การสอนโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม” ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้โต้แย้งหรือตั้งคำถาม เพื่อลดการใช้อำนาจของผู้สอน และสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในการเรียนรู้

“ในหลักการทางพุทธ เรามีกาลามสูตร เป็นพระสูตรที่บอกว่าคุณอย่าเพิ่งเชื่อ แต่ให้คุณไปตรองดูก่อน หรือไปค้นคว้าให้แน่ใจก่อน ค่อยเชื่อ เพราะฉะนั้น ในระบบการสอนทุกอย่าง ผู้เรียนต้องสามารถตั้งคำถามหรือโต้แย้งได้ ดึงความรู้ที่ผู้เรียนมีอยู่ออกมา แล้วก็มากระจายความรู้นั้นในห้องเรียน พอถามได้ก็ทำให้บรรยากาศตรงนั้นคลี่คลาย” พระชายอธิบาย

อาวุธที่เรียกว่า “โซเชียลมีเดีย”

แม้กรณีค่ายคุณธรรมจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามานาน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบและดำเนินคดีอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจเป็นเพราะในอดีตยังไม่มีการเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในค่าย อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานเอาผิดที่ชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้ เรามีอาวุธที่เรียกว่า “โซเชียลมีเดีย” ที่นักเรียนจากกรณีการคาบรองเท้าในค่ายคุณธรรม ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องสิทธิ และเปิดเผยความไม่เหมาะสมของกิจกรรม ให้สังคมได้ร่วมกันตรวจสอบ ซึ่งพระชายมองว่าเป็นเรื่องที่ดี

“คนที่เห็นอะไรผิดปกติในค่ายก็ควรจะเอามาโพสต์ ควรจะทำให้เรื่องมันถูกเปิดเผยออกมา เพราะตราบใดที่คุณถูกกระทำและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ก็เท่ากับว่าคุณทำให้รุ่นน้องได้รับผลกระทบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถูกกระทำต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งมันไม่เป็นผลดีกับทั้งรุ่นน้องเอง รวมทั้งสถาบัน และตัวผู้จัดกิจกรรมเอง เพราะเขาจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำอะไรผิดไป นอกจากนี้ การคอมเมนต์กันในสังคมออนไลน์ก็เหมือนการตรวจสอบไปในตัว เป็นเสียงตอบรับจากสังคมว่าวิธีการนี้มันไม่ได้ผล มันไม่ประสบความสำเร็จ คนที่สนับสนุนกิจกรรมแบบนี้ ก็น่าจะได้ย้อนกลับมาดูตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้น มันกำลังพาเด็กไปไหน” พระชายสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook