รุมชี้จุดอ่อนรัฐธรรมนูญปี 50

รุมชี้จุดอ่อนรัฐธรรมนูญปี 50

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศ(ปอมท.) ร่วมกับสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการรัฐธรรมนูญที่ดีควรมีลักษณะเช่นไร โดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะอนุกรรมการศึกษาเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า พิสูจน์ชัดแล้วว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีอิทธิฤทธิ์รุนแรงขนาดไหน สามารถยุบพรรคไปแล้ว 3 พรรค ทำให้เกิดความรู้สึกได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างนักการเมือง ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม โดยจะแก้ใน 10-12 มาตรา ใช้เวลา 8-12 เดือน เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเลือกตั้งใหม่ เชื่อว่ารัฐบาลที่ได้นั้นจะเป็นที่ยอมรับกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนข้อเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลามาก อาจจะ 2 ปียังไม่จบก็เป็นได้

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีกระบวนการร่างที่ไม่หนีจากประชาชน แม้แต่รัฐธรรมนูญปี50 ที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดยังผ่านการออกเสียงประชามติ ตนให้ความเห็นไปยังคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ของสภาว่าก่อนจะแก้มาตราใด ขอให้แก้มาตรา 291 เพื่อเปิดโอกาสให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เข้ามาทำหน้าที่และเมื่อแก้ไขเรียบร้อยต้องขอเสียงประชามติจากประชาชน ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เกิดจากโครงสร้างการกระจายทรัพย์สินที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นรัฐธรรมนูญต้องสร้างกติกาที่เป็นธรรม สร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมา ให้รัฐเป็นฝ่ายทำให้ประชาชน เมื่อรัฐทำหน้าที่แจกเองต้องเขียนด้วยว่าจะหาเงินจากไหน จึงต้องกำหนดเรื่องการปฏิรูปภาษี นำรายได้จากคนรวยกระจายสู่คนทั่วไปอย่างทั่วถึง

นายบวรศักดิ์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นวุฒิสภาว่า หากอยากให้ส.ว.เป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มในสังคม จะมาจากการเลือกตั้งไม่ได้เด็ดขาด เพราะสุดท้ายจะกลายเป็นสภาผัว สภาเมีย เหมือนปี 2540 โดยอาจจะกำหนดให้มาโดยตำแหน่งต่างๆ เช่น ปลัดกระทรวง หรือผู้นำวิชาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้ควรแก้ไขยกเลิกการบังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เพื่อสร้างความอิสระให้กับตัวส.ส.ไม่ให้ตกอยู่ใต้อาณัติของหัวหน้าพรรคหรือกลุ่มทุน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี50 เป็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญที่ไม่ดี กำหนดการแบ่งแยกอำนาจสับสน สร้างให้อำนาจตุลาการก้าวก่ายอำนาจอื่นได้ และลดทอนอำนาจนักกาเรมือง รวมทั้งยังก่อให้เกิดอำนาจที่ 4 คือองค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่มีอำนาจหักล้างมติของประชาชนได้ ดังนั้นควรแก้รัฐธรรมนูญโดยให้ประชาชนเลือกตั้งส.ส.ร.เข้ามาดำเนินการ

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า วันนี้ถ้าจะแก้มาตรา 237 ไม่ให้ยุบพรรคหรือตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคก็ยอมรับได้ แต่ต้องสร้างมาตรการลงโทษอย่างอื่นทดแทน ไม่เช่นนั้นเราไม่สามารถป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงได้ ทั้งนี้ อย่าฝากความหวังว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นยาหม้อใหญ่ที่แก้ปัญหาทุกอย่างในสังคมไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเหลือง-แดง หรือปัญหาภาคใต้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook