แห่เติมน้ำมันเขียว-เกษตรฯวุ่นหาทางออก ปั๊ม-ตังเกเมินน้ำมันม่วงขายไม่ออก

แห่เติมน้ำมันเขียว-เกษตรฯวุ่นหาทางออก ปั๊ม-ตังเกเมินน้ำมันม่วงขายไม่ออก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้านประมง ว่า จากการขยายระยะเวลาโครงการจำหน่ายน้ำมันในทะเลอาณาเขตให้ชาวประมงชายฝั่ง หรือโครงการน้ำมันม่วง ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. - 14 พ.ย.52 มีสถานีจำหน่ายน้ำมันที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 21 สถานี ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี, ตราด, สงขลา, ปัตตานี, ชุมพร, ชลบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, สตูล และระนอง จากเดิมที่เข้าร่วมโครงการสั่งน้ำมันลงจำหน่าย 32 สถานี ใน 13 จังหวัด โดยปัจจุบันยังไม่มีการสั่งซื้อน้ำมันแต่อย่างใด เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหลายประการ โดยเฉพาะด้านความแตกต่างของราคาน้ำมันเขียวและน้ำมันในโครงการ ซึ่งมาจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลบี 2 ปรับสูงขึ้น ช่วงราคาจึงห่างจากน้ำมันเขียว เกือบ 10 บาท เรือประมงบางส่วนจึงออกไปเติมน้ำมันเขียวซึ่งคุ้มค่ากว่า

อีกทั้งราคาน้ำมันดีเซลบี 5 ยังมีราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลบี 2 อยู่ลิตรละ 3 บาท เมื่อโครงสร้างราคาน้ำมันในโครงการเหมือนกับน้ำมันบี 2 จึงทำให้น้ำมันม่วงยังคงสูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลบี 5 อยู่ลิตรละ 1 บาท สถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน รวมถึงชาวประมงมีทางเลือกที่จะบริโภคน้ำมัน ที่ถูกกว่าได้ โดยหันไปใช้น้ำมันดีเซลบี 5 กันในบางส่วน อีกทั้งสถานีจำหน่ายน้ำมันได้ค่าการตลาด จากการจำหน่ายน้ำมันดีเซลบี 5 ประมาณลิตรละ 1.50-2.00 บาท และน้ำมันดีเซลบี 2 ประมาณลิตรละ 1.50 บาท ทำให้มีแรงจูงใจในการนำน้ำมันทั้ง 2 ชนิดมาจำหน่ายมากกว่าน้ำมันม่วง นอกจากนั้น ยังไม่ได้มีการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันประมงเฉพาะทำให้ค่าการตลาดไม่คงที่ รวมถึงโครงการยังมีระยะเวลาดำเนินการที่สั้นเพียง 6 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการสถานี เห็นว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และกลุ่มชาวประมง ในการหาทางออกให้กับเรื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพื่อให้โครงการน้ำมันม่วง ระยะที่ 3 นี้ สามารถดำเนินการช่วยเหลือชาวประมงได้ โดยในเบื้องต้นได้มอบหมายให้กรมประมงซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้านประมง ประสานข้อมูลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานแล้ว และคาดว่าจะมีการประชุมหาข้อสรุป พร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาในเร็วๆ นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook