น้ำมัน-ดอกเบี้ยพันธบัตร ความท้าทายของศก.ไทย

น้ำมัน-ดอกเบี้ยพันธบัตร ความท้าทายของศก.ไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เศรษฐกิจติดดิน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างรวดเร็วในตลาดโลก ได้ส่งผลกระทบที่สำคัญหลายด้านต่อเศรษฐกิจสหรัฐและไทย ในด้านหนึ่งนั้น การทะยานขึ้นของราคาน้ำมันเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้กระตุ้นให้เกิดความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งได้ส่งผลต่อเนื่องไปหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ระยะ 10 ปี พุ่งขึ้นใกล้ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 4% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็ปรับตัวเข้าใกล้ระดับ 4.20% เช่นกัน

การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของแรงกดดันเงินเฟ้อ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐ และไทยในรูปแบบที่มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ประเด็น

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของพัฒนาการเศรษฐกิจ ที่กำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพก่อนที่จะเข้าสู่จังหวะเวลาของการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี

แรงกดดันเงินเฟ้อ ที่อาจกลับเข้ามาเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของทั้ง 2 ประเทศ หากเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งมากพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

และปัญหาการคลัง ที่เริ่มจะพบกับข้อจำกัดของการก่อหนี้สาธารณะมากขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ และการปรับตัวขึ้นของต้นทุนของการก่อหนี้สาธารณะของทั้งรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของทั้ง 2 ประเทศ คงจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งก็เป็นนัยว่าอาจจะทยอยลดระดับของการกระตุ้นเศรษฐกิจลงในช่วงปลายปีนี้และต่อเนื่องไปในปีหน้า

สำหรับกรณีของทางการไทยนั้น คาดว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปี53 อาจมีระดับที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับแรงกระตุ้นอย่างมากในปี52

ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจยังไม่ให้น้ำหนักกับผลกระทบจากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันมากนักในขณะนี้ อาจต้องเตรียมตัวรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งจะกลับมาในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับที่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัว

ดังนั้น บทบาทของตัวแปรหลักที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในปี53 คงจะตกอยู่ที่การส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก โดยแม้ว่าการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอาจช่วยหนุนให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยฟื้นกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปีหน้า แต่ขณะเดียวกัน อาจต้องประเมินความสามารถในการแข่งขันของเงินบาทประกอบไปด้วยพร้อมๆ กัน

ส่วนแรงหนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ที่อาจจะบดบังกำลังซื้อของประชาชนในประเทศในยามที่เศรษฐกิจต้องการแรงผลักดันจากภาคเอกชนในประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook