ธปท. หารือ 4 ภาคธุรกิจ เคลียร์ปัญหาค่าเงินบาท สภาพคล่อง

ธปท. หารือ 4 ภาคธุรกิจ เคลียร์ปัญหาค่าเงินบาท สภาพคล่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย( เปิดเผยภายหลังหารือกับสมาคมผู้ส่งออกและนำเข้าระดับบัตรทองหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ว่า ประเด็นหลักๆ ที่สำคัญในการหารือกันคือเรื่องค่าเงิน สภาคล่อง โดยภาคธุรกิจและ ธปท.มีความเห็นตรงกันที่ต้องการเห็นค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ และไม่ได้มีเป้าหมายในใจ

ภาคธุรกิจเข้าใจมากขึ้นถึงการติดตามค่าเงินบาทว่าจำเป็นต้องดูจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง(REER)ไม่ใช่ดูค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐผู้ว่าการธปท.กล่าว

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังกังวลเรื่องเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งธปท.คิดว่าไม่ใช่ข้อกังวล เพราะการซื้อขายในตลาดเงินตราต่างประเทศ่ส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจส่งออก-นำเข้า อย่างไรก็ตามแนวโน้มค่าเงินน่าจะมีความผันผวนมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะค่าเงินบาทแต่ทุกสกุลในภูมิภาค เนื่องจากขึ้นอยู่กับเงินดอลลาร์ ดังนั้นผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงไว้ ซึ่งปัจจุบันยังมีสัดส่วนน้อยเพียง 30% ของมูลค่าการส่งออก จากที่เคยสูงสุดถึง 50%

ส่วนกรณีที่รัฐบาลกู้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจแผน 2 ทำให้เอกชนเป็นห่วงเรื่องสภาพคล่องนั้น นางธาริษายืนยัน สภาพคล่องมีเหลือเฟือ และการกู้ยืมเงินของรัฐบาลทยอยตามโครงการที่เกิดขึ้น จึงไม่น่ามีปัญหา

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้า กล่าวว่า ประเด็นที่เน้นหารือกับ ธปท.มี 2 เรื่อง คือ อัตราแลกเปลี่ยน และสภาพคล่อง โดยเรื่องค่าเงินบาทได้ทำความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว คือ ภาคเอกชนไม่ได้ต้องการให้อยู่ที่ระดับเท่าไร แต่ต้องการให้มีเสถียรภาพไม่ผันผวนขึ้นลงเร็ว และเมื่อดูดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER)ขอให้มีขีดความสามารถแข่งขันได้ คือ ไม่ควรแข็งเร็วหรือแข็งกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง

ค่าเงินบาทล่าสุดเทียบกับต้นปีแข็งค่าขึ้น 1.8% แต่ถ้าเทียบกับพ.ค.ที่ผ่านมาแข็งขึ้น 3% ซึ่งถือว่าแข็งค่าเร็วเกินไปและแข็งกว่าสกุลอื่น ซึ่งในประเด็นนี้ ธปท.รับที่จะดูแลให้พร้อมกับชี้แจงว่าช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วเป็นเพราะมีเงินทุนไหลเข้าและมีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดนายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ส่วนปัญหาสภาพคล่องเน้นไปที่กลุ่มผู้ส่งออก เนื่องจากขณะนี้การส่งสินค้าออกลูกค้าในต่างประเทศไม่ใช้วิธีเปิดแอล/ซี แต่ใช้ใบคำสั่งซื้อแทน พร้อมกับต้องให้เครดิตกับลูกค้าอีก 60 วัน หรือ 90 วัน ทำให้ไม่มีสภาพคล่องไปซื้อวัตถุดิบและจ่ายค่าแรงงาน และเมื่อไปยื่นกับธนาคาร จึงไม่ได้รับวงเงินสินเชื่อ เพราะมีความเสี่ยงว่าลูกค้าจะไม่ชำระค่าสินค้า

จึงขอให้ ธปท.ช่วยประสานงานกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าฯหรือ ธสน.มาค้ำประกันผู้ส่งออก ซึ่งปัจจุบันทำอยู่แล้ว แต่ขอให้พิจารณาเร็วขึ้น และเมื่อผู้ส่งออกนำใบคำสั่งพร้อมหนังสือค้ำประกันการส่งออกที่ ธสน.ออกให้ไปยื่นกับธนาคาร ก็ขอให้ ธปท.ช่วยคุยกับธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยวงเงินสินเชื่อให้ก่อนแล้วธนาคารพาณิชย์ค่อยไปเรียกเก็บจากลูกค้าภายหลัง ซึ่ง ธปท.รับปากว่าจะไปดำเนินการให้นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบตั้งเป้าสินเชื่อไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่าทั้งปีนี้จะมีสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ3.5 แสนล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 6%อย่างไรก็ตามอาจมีการทบทวนอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ซึ่งคาดว่าสินเชื่อน่าจะปรับตัวดีขึ้น

จากข้อมูลในอดีตพบว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีประมาณ 40%เป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี ดังนั้นทั้งปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีน่าจะอยู่ประมาณ1.4 แสนล้านบาท จากสินเชื่อทั้งระบบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5แสนล้านบาทนายสรสิทธิ์ระบุ

สำหรับความคืบหน้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)วงเงิน30,000 ล้านบาทนั้น นายสรสิทธิ์ระบุว่าล่าสุดธนาคารพาณิชย์ส่งลูกค้าเพื่อเข้าโครงการเป็นวงเงิน 28,700 ล้านบาท ที่เหลืออีกกว่า 1,000 ล้านบาท ทางธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย และไทยพาณิชย์ แสดงความจำนงกลับไปทบทวนลูกค้าเพื่อส่งเข้าโครงการเพิ่มเติมดังนั้นวงเงินที่กำหนดไว้คงใช้หมด

วงเงินที่ธนาคารพาณิชย์ยื่นเข้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อฯ 28,700ล้านบาท มีการได้สินเชื่อจริงไปแล้ว 500 ล้านบาท ที่เหลือจะทยอยดำเนินการไปจนถึง มิ.ย. 2553และคาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะดำเนินการได้เร็วขึ้นกว่าช่วงที่ผ่าน เพราะระบบต่างดำเนินการเรียบร้อย ขณะที่ธนาคารพาณิชย์สาขาทั่วประเทศและภาคธุรกิจมีความเข้าใจมากขึ้นนายสรสิทธิ์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook