เผือกร้อนดีดีใหม่ ''ปิยสวัสดิ์'' จับตาคลื่นใต้น้ำ''บินไทย''

เผือกร้อนดีดีใหม่ ''ปิยสวัสดิ์'' จับตาคลื่นใต้น้ำ''บินไทย''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือดีดีการบินไทยคนที่ 15 ของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าเป็นตัวเต็งนอนมาตั้งแต่ต้น เพราะได้ 2 แรงผลักดันจากพรรคประชาธิปัตย์และนายเนวิน ชิดชอบ ก็ไฟเขียวในเรื่องนี้

ส่วนบอร์ดการบินไทยนั้น ไม่สนใจข้อครหากรณีที่นายปิยสวัสดิ์ อาจมีคุณสมบัติไม่ตรงตามกำหนด เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบาฟส์ แต่ท้ายสุดก็ไม่ได้เป็นผลต่อการคัดเลือก ด้วยเหตุผลว่าบาฟส์ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และการบินไทยเป็นเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตามแม้คนในการบินไทยลึกๆก็มองว่าเหมาะสม จากตัวเลือกที่มีอยู่ แต่สิ่งที่คนในการบินไทยกำลังรู้สึกกังวล คลื่นใต้น้ำ ที่กำลังจะเริ่มคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ระดับรุ่นเฮฟวีเวต อย่างพิชัย ชุณหวชิร ที่ไม่สนเก้าอี้ดีดี เพราะอยู่ได้แค่ 6 เดือน แต่มุ่งคว้าเก้าอี้ประธานบอร์ด เพราะจะอยู่ในตำแหน่งได้ถึง 65 ปีมากกว่า

แต่ท้ายสุดก็อกหักจากเก้าอี้ประธานบอร์ด เพราะแบ็กการเมืองต่างขั้วประสานกันไม่ลงตัว แถมถูกลดบทบาทประธานคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูธุรกิจอีกต่างหาก

ท้ายสุดมีดาวรุ่งดวงใหม่อดีตผู้บริหารการบินไทย วัลลภ พุกกะณะสุต ที่ขณะนี้เป็นทั้งบอร์ดและประธานกรรมการบริหาร (Executive Board Committee) ที่เจ้าตัวเล่นบทบาทล้วงลูกดีดีมานาน เมื่อได้ดีดีตัวจริงแล้ว ไม่รู้ว่าจะมีรายการทำใจได้หรือเปล่า งานนี้คนในการบินไทยก็กำลังจับจ้องถึงคาแรกเตอร์การทำงานที่แข็งทั้งคู่ ระหว่างดีดีคนใหม่ ก็เป็นประเภทถ้าคิดว่าตัวเองถูกก็ไม่ค่อยจะฟังใคร ขณะที่วัลลภ ก็คร่ำหวอดในการบินไทยมานาน และเป็นคนแข็งพอควร คนในการบินไทยก็เริ่มหวั่นว่าจะมีรายการเกาเหลาคู่ใหม่หรือไม่

รวมถึงคลื่นใต้น้ำจากกลุ่มพนักงานในหน่วยธุรกิจต่างๆของการบินไทย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายช่าง ครัวการบิน คาร์โก บริการภาคพื้น ที่ตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ มีแผนที่จะผลักดันหน่วยธุรกิจเหล่านี้ออกไปตั้งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย งานนี้รับรองพนักงานของหน่วยธุรกิจเหล่านี้ลุกฮือแน่นอน และคนที่ต้องเข้ามารับหน้าเสื่อก็หนีไม่พ้นดีดีคนใหม่นั่นเอง

ขณะเดียวกันดีดีคนใหม่ก็ยังต้องมาเผชิญกับการสางปัญหาในการบินไทยอีกหลายเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การนำทัพการบินไทยฝ่าวิกฤติธุรกิจการบินซบเซาทั่วโลกในขณะนี้ ที่ต้องลุ้นเป็นรายไตรมาส เช่นการเปิดจุดบินใหม่ออสโรล ที่ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะต้องขายในราคาต้นทุน 24,000 บาท แต่การบินไทยขายตั๋วในราคา 12,000 บาท

ขณะที่การสร้างสภาพคล่องทางด้านการเงิน ก็ยังนอนใจไม่ได้ แม้บอร์ดการบินไทย ได้อนุมัติแผนให้การบินไทยกู้เงินรวม 3.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ต่างประเทศ 1.4 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ในประเทศจาก 4 สถาบันการเงิน วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ภายใต้ดอกเบี้ย 5.0-5.5% อายุสัญญา 5 ปี โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารออมสิน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะได้รับเงินภายในเดือนมิถุนายนนี้

อีกทั้งอยู่ระหว่างรอการพิจารณาในรายละเอียดของเงื่อนไขอีก 3 ธนาคารก่อนจะทำสัญญาในราวเดือนกรกฎาคมนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ 8,000 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 5,000 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในวงเงินกู้ 2.3 หมื่นล้านบาทนี้ การบินไทยจะนำมาเพื่อปรับสภาพคล่องของธุรกิจ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ขององค์กร

รวมถึงการจัดหาเงินกู้ต่างประเทศอีก 1.4 หมื่นล้านบาท จะนำมาชำระค่าเครื่องบินแอร์บัสเอ 330-300 ซึ่งอยู่ระหว่างรอส่งมอบอีก 6 ลำจากที่สั่งซื้อรวม 8 ลำ โดยวงเงินดังกล่าวเป็นวงเงินที่มีความต้องการใช้ในระยะแรก และทาง EXPORT CREDIT AGENCY หรือ ECA จะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย

ทั้งไหนจะแผนการจัดซื้อเครื่องบิน โดยเฉพาะกรณีแอร์บัสเอ 380 ที่บอร์ดได้ให้ฝ่ายบริหารทบทวนในเรื่องสัญญาการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสเอ380 โดยให้พิจารณาถึงแนวโน้มทางการลงทุนในธุรกิจการบิน สถานการณ์การเงินของบริษัท ซึ่งจะต้องไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจของการบินไทย ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ดีดีใหม่ก็ต้องรับลูกต่อในการเจรจากับทางแอร์บัส

ทั้งหมดล้วนเป็นวาระร้อนของดีดีบินไทยคนใหม่ ที่ต้องเข้ามารับหน้าเสื่อในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook