ททท.เพิ่มจุดขาย1,500สินค้าปีหน้า เอกชนเย้ยรัฐไม่จริงใจแก้ท่องเที่ยว

ททท.เพิ่มจุดขาย1,500สินค้าปีหน้า เอกชนเย้ยรัฐไม่จริงใจแก้ท่องเที่ยว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ททท.เพิ่มจุดขายสินค้าการขายท่องเที่ยวปีหน้ากว่า 1,500 โปรดักต์ เน้นอีโคทัวร์ กรีนโปรดักต์ สินค้าด้านดีไซน์ วีระศักดิ์ ชี้ต้องเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าวางแผนระยะยาว ส่วนเป้าเที่ยวไทยในประเทศคาดขยับเป็น 90 ล้านคน/ครั้ง ขณะที่เอกชน ระบุการจัดทำโฟกัสกรุ๊ปแผนปีหน้ามีคนเข้าร่วมน้อย เหตุจากรัฐ-กระทรวงขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหาท่องเที่ยว

นายอักกพล พฤกษะวัน รองผู้ว่าการด้านสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า สินค้าการท่องเที่ยวที่ททท.จะเสนอขายในปีหน้ายังคงให้ความสำคัญที่ อะเมซิ่ง 7 วันเดอร์ แต่จะเพิ่มสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก ซึ่งจะรองรับความต้องการได้จำนวน 1,500 โปรดักต์ จากเดิม 1,000 โปรดักต์

ขณะนี้สินค้าที่มาแรงมาก คือ อีโคทัวริซึม กรีนโปรดักต์ ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลกมาก ล่าสุดสมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้รับงบประมาณมาจากบริษัทนำเที่ยวในยุโรปมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมทั้งมีการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวเชิงสุขภาพรองรับผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายและมีเวลาในการท่องเที่ยว ซึ่งเฉพาะตลาดญี่ปุ่นมีประชากรสูงอายุจำนวนกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

ทั้งนี้จากสถิติปีที่ผ่านมาพบว่ามีคนมารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน 34 แห่ง จำนวนกว่า 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17% ต่อปี โดยจะเน้นขยายไปเจาะตลาดอเมริกา ยุโรป

ตะวันออกกลาง ทั้งยังจะเสนอสินค้าด้านดีไซน์ อาทิ บูติกโฮเต็ล ร้านอาหารเก๋ๆเพื่อเจาะตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม เพราะกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีเงิน ต้องการสินค้าแปลกมากกว่าแค่โรงแรมระดับ 5 ดาว

อย่างไรก็ดีระหว่างการประชุมแผนตลาดการท่องเที่ยวปี 2553 ในระหว่างวันที่ 23-27 มิถุนายนนี้ ทางฝ่ายสินค้าทางการท่องเที่ยว จะจัดทำ ทัวร์ริซึม โปรดักต์ คาเฟ่ สำหรับให้สำนักงานททท.ทั่วประเทศและทั่วโลก มาคัดเลือกสินค้าการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับแต่ละตลาดซึ่งจะมีให้เลือกทั้งแบบเมนคอร์ต หรือเส้นทางหลัก อะลาคราส หรือการเลือกสินค้าตามสั่ง เป็นต้น

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการททท. เปิดเผยว่า แผนการท่องเที่ยวปี 2553 จะเน้นเรื่องปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการวางแผนระยะยาว เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยตัวแปรสำคัญของการท่องเที่ยวในปีหน้าคือเรื่องของราคาน้ำมัน ขณะที่เศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองในประเทศก็ยากที่จะควบคุม

อย่างไรก็ดี ททท.จะปรับกลยุทธ์การทำตลาดโดยให้สำนักงานททท.ต่างประเทศ

เป็นผู้แจ้งเข้ามาว่าตลาดของตนเอง ต้องการสื่อการตลาดรูปแบบใด ลักษณะใดไปใช้จากนั้นส่วนกลางจะผลิตสื่อให้ตรงตามที่ต้องการแต่ละตลาดที่ต่างกัน ต่างจากเดิมที่ส่วนกลางจะผลิตสื่อไปให้ แต่ละตลาดนำไปใช้ ซึ่งอาจดึงดูดความสนใจของบางตลาดได้ไม่ดีนัก และการทำการตลาดก็ต้องแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การสื่อสารระดับสากลและการทำตลาดแบบเจาะลึก

ด้านนายวันเสด็จ ถาวรสุข รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. เปิดเผยว่า เป้าหมายของการท่องเที่ยวภายในประเทศในปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยว 90 ล้านคน/ครั้ง รายได้การท่องเที่ยว 3.7 แสนล้านบาท ส่วนคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจะมี 87 ล้านคนครั้งตามเป้าหมาย แต่ในแง่ของรายได้จะลดลงจากเป้าหมาย 5%เนื่องจากแนวโน้มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลง เพราะค่าใช้จ่ายด้านราคาห้องพักมีการปรับตัวลดลงอย่างหนัก

ส่วนแผนการท่องเที่ยวปีหน้าททท.จะออกแคมเปญ ไอเดีย ไอดู โดยจะเป็นรูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง(เอฟไอที) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดเอฟไอทีเป็นหลัก

นายเจริญ วังอนานนท์ กรรมการสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย(เฟตต้า) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมโฟกัสกรุ๊ปแผนการตลาดท่องเที่ยวปีหน้า ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมน้อยมาก เช่นเดียวกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวหลัก อย่างการบินไทยและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ไม่เข้าร่วมประชุม ทั้งๆที่ควรจะเป็นการประชุมหลักเพราะเป็นผู้กำหนดทิศทางการท่องเที่ยวไทยปีหน้า

สาเหตุที่ภาคเอกชนไม่เข้าร่วมงาน เพราะเมื่อแนะนำอะไรไปก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ไม่มีประโยชน์ ทำให้หลายคนไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมแผนตลาดของททท.ทั้งยังมองว่ารัฐบาลขาดความจริงใจในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1,400 ล้านบาทก็ไม่มีความชัดเจนในการประเมินผล รวมถึงการให้เงินกู้ท่องเที่ยวภาคเอกชนจนขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เช่นเดียวกับการปลดล็อกทราเวลวอร์นนิ่งของ 20 ประเทศก็ไม่มีความคืบหน้า

สำหรับแผนการตลาดในปีหน้าก็มองว่า หลายโครงการททท.ควรจะมีการฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง อาทิ เทศกาลผลไม้ งานจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบใหม่ อาทิ โครงการเลดี้ไนซ์

ซึ่งจะเป็นในลักษณะให้ผู้หญิงเที่ยวฟรี โครงการโฆษณาร่วมกับภาคเอกชนในประเทศและการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์สัดส่วน 70:30 เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook