ผลวิจัย ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยฯชี้ปชช.เผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายหลายด้านลดลง

ผลวิจัย ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยฯชี้ปชช.เผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายหลายด้านลดลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณดา จันทร์สมผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) คณะกรรมการบริหารนโยบายและคณะทำงานปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทยฯ ได้เปิดเผยผลวิจัยความคิดเห็นสาธารณะในหัวข้อ ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต ประเด็น คนไทยกับปัญหาค่าใช้จ่าย ดีขึ้น หรือเลวลง? ดังนี้

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ปัญญาสมาพันธ์จัดทำขึ้นในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา มีการสำรวจในหัวข้อเรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนไทยต่อการใช้จ่ายและการบริโภค ซึ่งได้ดำเนินการในช่วงเวลา คือ ในช่วงเดือนเมษายน 2551 และเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีระยะเวลาห่างจากกัน 1 ปี เต็ม ในช่วงเวลาที่ทิ้งห่างกันนั้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสภาพวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ประชาชนชาวไทยต้องเผชิญไปด้วยกัน

การสำรวจความคิดเห็นของปัญญาสมาพันธ์มีความน่าสนใจหลายประเด็น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของจำนวนหน่วยตัวอย่างที่ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคของประเทศ และมีจำนวนตัวอย่างที่มากถึง 8,000 ตัวอย่างในการสำรวจแต่ละครั้ง ผลการสำรวจที่ได้มีหลายมุมมองที่น่าจะนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ ในมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องปัญหาค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนไทยต้องเผชิญ พบว่ามีประเด็นที่พบจากการสำรวจที่น่าสนใจ ดังนี้

@คนไทยเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ลดลงในปี 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551

เมื่อเปรียบเทียบระดับปัญหาของค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ต่อครอบครัวของประชาชนชาวไทย ได้แก่ 1) ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ/รักษาโรคของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว 2) ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว 3) ค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง/ไฟฟ้า/ค่าสาธารณูปโภค 4) ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาลงทุน/ใช้จ่ายสำหรับครอบครัว 5) ค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ลงทุนทำกิจการเลี้ยงครอบครัว

6) ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาบริโภคประจำวัน 7) ค่าผ่อนซื้อที่อยู่อาศัย / ค่าเช่าที่อยู่อาศัย และ 8) ค่าผ่อนยานพาหนะ/รถยนต์/ของใช้ภายในบ้าน ระหว่างปี 2551 และ ปี 2552 พบว่า ประชาชนชาวไทยเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ลดลงในปี 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 โดยค่าเฉลี่ยของปัญหาค่าใช้จ่ายทุกด้านในปี 2551 จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปัญหาค่าใช้จ่ายทุกด้านในปี 2552 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนชาวไทยมีความรู้สึกว่ากำลังเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ต่อครอบครัวลดน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบปี 2552 กับปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากความเคยชินและความสามารถในการปรับตัวที่ดีขึ้นต่อปัญหา หรืออาจเป็นเพราะนโยบายรัฐบาลที่มีส่วนช่วยเหลือ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่าง ๆ

@ปัญหาค่าใช้จ่ายหลายด้านลดระดับความสำคัญลง โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย เพื่อการศึกษาของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง / ไฟฟ้า / ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ / รักษาโรคของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเชิงลึก พบว่า ปัญหาหลายด้านได้ลดระดับความสำคัญลง โดยเฉพาะปัญหาค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเคยเป็นปัญหาที่มีค่าเฉลี่ยเป็นอันดับ 1 ในปี 2551 (ค่าเฉลี่ย 7.489) ได้ลดระดับความสำคัญของปัญหามาอยู่อันดับที่ 3 ของปัญหาที่เผชิญในปี 2552 (ค่าเฉลี่ย 6.29) รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง/ไฟฟ้า / ค่าสาธารณูปโภค ซึ่งเคยอยู่ในระดับที่ 2 ในปี 2551 (ค่าเฉลี่ย 7.486) ได้ลดความสำคัญลงในปี 2552 เช่นกัน (ค่าเฉลี่ย 6.25) โดยค่าใช้จ่ายของปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ในปี 2552 คือ ปัญหาค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาบริโภคประจำวัน (ค่าเฉลี่ย 6.98) รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ลงทุนทำกิจการเลี้ยงครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 6.55)

@อะไรน่าจะเป็นเหตุให้คนไทยคลายความกังวัลในอการศึกษาของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว และค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง//ไฟฟ้า/ค่าสาธารณูปโภค

ผลการสำรวจได้สะท้อนในเชิงนัยว่า นโยบายรัฐบาลที่อุดหนุนค่าสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชน กอปรระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการลดแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในด้านนี้ไปได้ นอกจากนั้น นโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้เรียนฟรีที่เริ่มมีผลในช่วงเวลาของการสำรวจในปี 2552 ได้ลดแรงกดดันในเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของตนเองและสมาชิกในครอบครัวลงไปได้บ้าง

@น่าสังเกตว่าความกังวัลในปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ/รักษาโรคของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวลดลงอย่างมากเมื่อเทียบปี 2551 และ 2552

ผลการสำรวจสะท้อนชัดว่า ค่าเฉลี่ยของระดับความสำคัญของปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ/รักษาโรคของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวลดลงในปี 2552 (ค่าเฉลี่ย 5.85) เมื่อเทียบกับปี 2551 (ค่าเฉลี่ย 7.42) อย่างชัดเจน ทั้งนี้ อาจจะเป็นผลมาจากนโยบายการประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประชาชนเริ่มใช้บริการได้สะดวกมากขึ้นหรืออย่างไร

ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่ประเด็นหนึ่งที่อาจจะมีความเกี่ยวโยงกันได้ คือ ปัญหาความกังวลของประชาชนเป็นอันดับหนึ่งในปี 2552 คือ ปัญหาค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาบริโภคประจำวัน (ค่าเฉลี่ย 6.98) รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ลงทุนทำกิจการเลี้ยงครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 6.55) ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนลดความกังวลในปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ/รักษาโรคของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวลงไป เนื่องจากอาจต้องพึ่งพาบริการที่รัฐจัดให้มากขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าวลง เพราะต้องให้น้ำหนักกับปัญหาค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาบริโภคประจำวันมากยิ่งขึ้นในระยะนี้

@ความสำคัญของปัญหาของค่าใช้จ่ายในแต่ละด้านต่อครอบครัวมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่มีฐานะทางครอบครัวที่แตกต่างกัน

เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจในปี 2552 ในเรื่องความสำคัญของปัญหาค่าใช้จ่ายในแต่ละด้านต่อครอบครัวของกลุ่มที่ฐานะทางครอบครัวต่าง ๆ กัน ได้แก่ กลุ่มที่มีฐานะดีมาก กลุ่มที่มีฐานะดี กลุ่มที่มีฐานะปานกลาง กลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน และกลุ่มที่มีฐานะขัดสนมาก พบว่า มีความแตกต่างของปัญหาในแต่ละกลุ่มฐานะ โดยเฉพาะในด้านต่าง ๆ ดังนี้

@กลุ่มที่มีฐานะดีกังวลกับปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ / รักษาโรคของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว มากกว่ากลุ่มที่มีฐานะปานกลาง โดยผลการสำรวจพบว่า กลุ่มที่มีฐานะดีมากจะพบว่าค่าใช้จ่ายในด้านนี้เป็นปัญหามากกว่ากลุ่มที่มีฐานะปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

@อะไรน่าจะเป็นเหตุให้คนที่มีฐานะดีมากมีความกังวลกับค่าใช้จ่ายด้านนี้มากกว่ากลุ่มที่มีฐานะปานกลางถึงขัดสน

การที่ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความกังวลในการที่จะเตรียมความพร้อมให้กับภาวะไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว เนื่องจากคนในกลุ่มที่มีฐานดีไม่ใช่กลุ่มลูกค้าในการใช้บริการนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งรัฐบาลจัดให้ หรือแม้แต่การใช้บริการสวัสดิการจากประกันสังคม ซึ่งมีความเข้าใจกันว่าอาจจะไม่ใช่บริการในมาตรฐานที่คนในกลุ่มนื้ต้องการ

@ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว จะเป็นปัญหาต่อกลุ่มที่มีฐานะกลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน มากกว่า กลุ่มที่มีฐานะปานกลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ประเด็นนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนว่า คนที่มีฐานะขัดสนยังมีความกังวลในค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวมากกว่ากลุ่มที่มีฐานะปานกลางถึงดี แต่อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจในภาพรวมดังที่กล่าวแล้วข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นว่า ความกังวลต่อปัญหาในด้านนี้ลงไปบ้าง

@ปัญหาค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาลงทุน / ใช้จ่ายสำหรับครอบครัวยังเป็นปัญหากับกลุ่มที่มีฐานะปานกลาง กลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน และขัดสนมาก

ผลการสำรวจสะท้อนชัดเจนว่า ปัญหาหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อลงทุน/ใช้จ่ายสำหรับครอบครัวยังเป็นปัญหากับคนที่มีฐานะปานกลางถึงระดับขัดสนอยู่มาก โดยจะเป็นปัญหาต่อกลุ่มที่มีฐานะปานกลาง กลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน และกลุ่มที่ฐานะขัดสนมาก มากกว่า กลุ่มที่มีฐานะดีมาก และกลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

@ค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ลงทุนทำกิจการเลี้ยงครอบครัว จะเป็นปัญหากับกลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างขัดสนมากกว่า กลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างดี และกลุ่มที่มีฐานะปานกลาง

ผลการสำรวจค่อนข้างชัดเจนว่า คนที่มีฐานะขัดสนยังต้องเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ลงทุนทำกิจการเลี้ยงครอบครัวมากกว่ากลุ่มที่มีฐานะปานกลางถึงดี

@ค่าผ่อนยานพาหนะ / รถยนต์ / ของใช้ภายในบ้าน จะเป็นปัญหากับกลุ่มผู้มีฐานะค่อนข้างดีมากกว่า กลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างขัดสนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

บทสรุป

โดยสรุป ประชาชนคนไทยมีความกังวลกับปัญหาค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ลดลง เมื่อเทียบปี 2552 กับปี 2551 โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายหลายด้านคนไทยมีความกังวลลดลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย เพื่อการศึกษาของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง / ไฟฟ้า / ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ / รักษาโรคของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการใช้นโยบายของรัฐ และปัญหาที่ราคาน้ำมันที่ลดลง

คนจนและคนรวยมีความกังวลต่อ ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ แตกต่างกัน ค่าใช้จ่ายบางด้านจะเป็นปัญหาในกลุ่มผู้มีฐานะดีมากถึงปานกลาง มากกว่ากลุ่มที่มีฐานะขัดสน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ / รักษาโรคของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว และค่าใช้จ่ายในด้านค่าผ่อนยานพาหนะ / รถยนต์ / ของใช้ภายในบ้าน ในขณะที่กลุ่มที่มีฐานะขัดสนจะกังวลต่อการเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาลงทุน / ใช้จ่ายสำหรับครอบครัว และ ค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ลงทุนทำกิจการเลี้ยงครอบครัว มากกว่ากลุ่มที่มีฐานะปานกลางถึงดีมาก ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง/ไฟฟ้า/ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาบริโภคประจำวัน และค่าผ่อนซื้อที่อยู่อาศัย/ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มมากนัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook