กกต.จ่อชี้ขาดฟันส.ส.ถือหุ้นล็อตแรก44คน เพื่อไทยสูงสุด ลุ้นอนุฯสอบชุดใหญ่ ส.ส.ปชป.28รายยังไม่เสร็จ

กกต.จ่อชี้ขาดฟันส.ส.ถือหุ้นล็อตแรก44คน เพื่อไทยสูงสุด ลุ้นอนุฯสอบชุดใหญ่ ส.ส.ปชป.28รายยังไม่เสร็จ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กกต.เผยส.ส.ถือหุ้นเหลือเข้าข่ายต้องชี้ขาดล็อตแรก 44 คน พท.สูงสุด 23 คน พผ. 8 คน ปชป.แค่คนเดียว ขยายเวลาให้อนุฯสอบอีก 15 วัน เหลือประชาธิปัตย์ชุดใหญ่ 28 คน ยังดูไม่เสร็จ ยันไร้วาระซ่อนเร้น ขึ้นบัญชีบริษัทต้องห้ามเพิ่มเป็น 28 บริษัท ลั่นใครถือไว้อาจหลุดเก้าอี้

กกต.จ่อชี้ขาดฟันส.ส.ถือหุ้นล็อตแรก44คน เพื่อไทยสูงสุด ลุ้นอนุฯสอบชุดใหญ่ ส.ส.ปชป.28รายยังไม่เสร็จ

กกต.เผยส.ส.ถือหุ้นเหลือเข้าข่ายต้องชี้ขาดล็อตแรก 44 คน พท.สูงสุด 23 คน พผ. 8 คน ปชป.แค่คนเดียว ขยายเวลาให้อนุฯสอบอีก 15 วัน เหลือประชาธิปัตย์ชุดใหญ่ 28 คน ยังดูไม่เสร็จ ยันไร้วาระซ่อนเร้น ขึ้นบัญชีบริษัทต้องห้ามเพิ่มเป็น 28 บริษัท ลั่นใครถือไว้อาจหลุดเก้าอี้

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ว่า ที่ประชุมพิจารณารายงานการสอบสวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนจากกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบ ส.ส. 61 คนที่อาจกระทำการต้องห้ามตามมาตรา 48 ประกอบมาตรา 265 (2) (4) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเหตุให้ความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ส.จำนวนดังกล่าวสิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (6) เนื่องจากถือครองหุ้นในกิจการสื่อและหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานรัฐ

โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนเสนอความเห็น ให้ ยุติการสอบสวน ในส่วนของอดีต ส.ส.ที่ถูกร้อง 17 คน ซึ่งได้ลาออกและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ดังนี้

1.นายบรรหาร ศิลปอาชา

2.น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา

3.นายเสมอกัน เที่ยงธรรม

4.นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

5.นายกมล จิระพันธุ์วาณิช

6.นายวีรพล อดิเรกสาร

7.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์

8.นายอิทธิ ศิริลัทธยากร

9.นายทรงศักดิ์ ทองศรี

10.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

11.ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง

12.นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ

13.นายสุธา ชันแสง

14.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์

15.พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร

16.นางอุไรวรรณ เทียนทอง และ

17.นายพงศกร อรรณนพพร

ทั้งนี้ หลังจากยุติการสอบสวนผู้ถูกร้องทั้ง 17 คนแล้ว เหลือ ส.ส.ถูกร้อง 44 คน ที่ กกต.จะต้องตรวจสอบ แยกเป็น ส.ส. 38 คน และมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี 6 คน ดังนี้

พรรคเพื่อไทย (พท.) 23 คน

1.นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน

2.นายสมพล เกยุราพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน

3.พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี

4.นายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.แม่ฮ่องสอน

5.นางปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่

6.นายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์

7.นายไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา

8.นายนิทัศน์ ศรีนนท์ ส.ส.นนทบุรี

9.นายปวีณ แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ

10.นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.ลำปาง

11.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่

12.น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่

13.นายอิทธิเดช แก้วหลวง ส.ส.เชียงราย

14.นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย

15.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น

16.นางดวงแข อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น

17.นายภูมิ สาระผล ส.ส.ขอนแก่น

18.พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี

19.นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.

20.น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ส.ส.สัดส่วน

21.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน

22.นายอัสนี เชิดชัย ส.ส.สัดส่วน

23.พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ส.ส.สัดส่วน

พรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) มี 8 คน

1.นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์

2.นายสาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ ส.ส.สุรินทร์

3.นายวัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน

4.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ส.ส.สัดส่วน

5.ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน

6.นายประนอม โพธิ์คำ ส.ส.นครราชสีมา

7.นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน

8.นายอนุวัฒน์ วิเศษจินดาวัฒน์ ส.ส.นครราชสีมา

พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) มี 3 คน

1.พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.พิจิตร และรองนายกรัฐมนตรี

2.นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน และ

3.นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

พรรคประชาราช (ปช.) 3 คน ดังนี้

1.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว

2.นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์

3.นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มี 3 คน

1.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

2.นายมานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

3.นายชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วน และประธานรัฐสภา

พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) 2 คน

1.นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ส.ส.นครราชสีมา

2.นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.นครราชสีมา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

พรรคประชาธิปัตย์ มี 1 คน คือ

นายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.สัดส่วน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ

พรรคกิจสังคม 1 คน คือ

นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ส.ส.พิษณุโลก

นายสุทธิพลกล่าวว่า ส.ส. 44 คนดังกล่าวที่ประชุม กกต.มีมติขยายเวลาให้อนุกรรมการไปตรวจสอบอีก 15 วัน เพื่อให้ไปสอบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติมจากการรายงานบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกร้องที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตรวจสอบวัตถุประสงค์การก่อตั้งของบริษัทที่ผู้ถูกร้องเข้าไปถือหุ้นจากกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งขอข้อมูลจากบริษัทที่ถูกระบุว่า ผู้ถูกร้องเข้าไปถือหุ้นอีก 72 บริษัทที่อนุกรรมการยังไม่ได้รับคำตอบ เพราะอนุกรรมการได้มีหนังสือสอบถามข้อมูลไปยังบริษัทที่ถูกระบุว่าผู้ถูกร้องถือหุ้นอยู่ 306 บริษัท โดยล่าสุดได้รับหนังสือชี้แจงกลับมาเพียง 234 บริษัท

ซึ่งในบริษัทจำนวนนี้ อนุกรรมการเห็นว่า ได้ประกอบธุรกิจที่เข้าลักษณะต้องห้าม ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปถือครองหุ้นอยู่ 28 บริษัท โดยในจำนวนนี้ได้รวมกับ 14 บริษัท ที่เข้าลักษณะต้องห้าม ที่ กกต.ได้พิจารณาในส่วนของ ส.ว.ก่อนหน้านี้ ด้วย

นอกจากนี้ ยังให้เวลาอนุกรรมการฯให้โอกาสกับผู้ถูกร้องที่ยังไม่ได้ชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องจากใน ส.ส.44 คน มาชี้แจงเพียง 12 คน อีกทั้งยังให้ไปตรวจสอบว่าบริษัทที่อนุกรรมการฯมีมติว่าอาจเข้าข่ายต้องห้ามถือครองหุ้นมีความสอดคล้องกับที่ กกต.มีมติห้าม ส.ว.เข้าไปถือครองหุ้นใน 14 บริษัทหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าหากมีการวินิจฉัยออกไปโดยไม่ตรวจสอบว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ก็อาจกลายเป็นว่า กกต.ตัดสินสองมาตรฐานได้

นายสุทธิพลกล่าวว่า สำหรับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 28 คน ที่นายศุภชัย ใจสมุทร ขณะเป็นรองโฆษกพรรคพลังประชาชน (พปช.) ยื่นคำร้องมาในกรณีเดียวกันนั้น ขณะนี้ อนุกรรมการไต่สวนกำลังอยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติมและเสนอรายงานสรุปสำนวนเพื่อเสนอต่อที่ประชุม กกต.ได้ในเร็วๆ นี้

กกต.ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นหรือเจตนาจะกลั่นแกล้งทางการเมือง ยืนยันว่าจุดเริ่มเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ กกต.ไปขุดคุ้ยว่า ส.ส.หรือ ส.ว.ถือหุ้นขัดมาตรา 48 และ 265 แต่เพราะมีผู้ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ เราไม่ได้จงใจต้องการไปดิสเครดิตใคร และจะเห็นว่าผู้ที่ถูกร้องเป็น ส.ส.จากหลายพรรค ส.ว.ก็มีทั้ง ส.ว.สรรหา เลือกตั้ง อีกทั้งเห็นว่ามาตรา 265 เขียนไว้อย่างเคร่งครัดถ้อยคำชัดเจน ซึ่งก็ต้องเป็นไปอย่างที่ กกต.เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าคนที่จะวางบรรทัดฐานได้ดีที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญ นายสุทธิพลกล่าว

ขณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวการนับวันถือครองหุ้นว่าจะนับจากวันที่ กกต.ประกาศรับรองผลหรือไม่นั้น อยู่ที่การตีความ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่า ถ้าผู้ที่ถือครองหุ้นอยู่ก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่ง ส.ส.จะต้องสละการถือหุ้นเมื่อไร ซึ่งต่างจากหุ้นที่รัฐมนตรีถือเกินร้อยละ 5 จะต้องสละการถือครองหุ้นภายใน 30 วัน แต่ในส่วน ส.ส.และ ส.ว.ไม่ได้ระบุไว้ แต่หากตีความโดยยึดวันที่ กกต.รับรองวันประกาศผลนั้น หาก ส.ส.หรือ ส.ว.ยังถือครองหุ้นอยู่ก็จะเข้าตามตัวบทกฎหมายเหมือน กกต.เสียงข้างมาก

น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องนี้ กกต.ต้องไปดูข้อกฎหมายว่าเขียนไว้อย่างไร หากไม่ได้ระบุจำนวนที่ห้ามในการถือหุ้น แม้ถือไว้เพียงหุ้นเดียวก็มีความผิด

ขณะที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พท.1 ใน ส.ส.ที่ถูกร้อง กล่าวว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท.ได้รับแจ้งจากนายไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา พท.ว่า กกต.ได้สรุปและไม่อนุญาตให้ ส.ส.ที่เข้าข่ายการถือครองหุ้นสัมปทานกับภาครัฐเข้าชี้แจงและให้รายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งที่ยังไม่ครบตามกำหนดระยะ 7 วันที่ กกต.ได้ให้ไว้ พรรคเกรงว่าการดำเนินการต่างๆ ของ กกต.จะคลาดเคลื่อน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายจึงทำหนังสือยื่นต่อ กกต.ขอขยายเวลา 15 วัน เพื่อให้ กกต.ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนที่จะเสนอศาลรัฐธรรมนูญ

ส.ส.บางรายเช่น พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ต้องไปค้นข้อมูลการถือครองหุ้นเก่าที่นานกว่า 10 ปี หรือ ส.ส.บางรายที่ไม่ได้ถือครองหุ้นแต่มีภรรยาหรือลูกทำงานในบริษัทรัฐวิสาหกิจ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้แบ่งหุ้นให้พนักงานเป็นปกติ แต่ ส.ส.กลับมีความผิด นอกจากนี้ เรื่องนี้ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีความขัดแย้งกันหลายประเด็นที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริงในมาตรา 43 และมาตรา 265 นายสุนัยกล่าว

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการประชุม ส.ส.พรรค วันที่ 24 มิถุนายน จะนำเรื่องที่ ส.ส.พรรคถูกร้อง เข้าหารือด้วย เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนกระทบต่อสมาชิกภาพของ ส.ส.มากถึง 28 คน และเป็นหน้าที่ของที่ประชุม ส.ส.พรรคต้องร่วมกันหาทางต่อสู้ เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเองไม่ได้รู้สึกกังวล โดยปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย หาก ส.ส.คนใดถูกโทษต้องถอดถอนสมาชิกภาพก็กลับไปเลือกตั้งใหม่ ส่วน ส.ส.ในระบบสัดส่วนที่ถูกถอดถอนก็เลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมาเป็นแทน

ทางด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยให้ ส.ว.16 คนสิ้นสมาชิกภาพจาก กกต. กกต.คงต้องใช้เวลาในการเขียนคำวินิจฉัยพอสมควร เนื่องจากในการลงมติเป็นการวินิจฉัยปากเปล่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook