เปิดโลกกว้างบนทางมืด ''พจนานุกรมเสียง''

เปิดโลกกว้างบนทางมืด ''พจนานุกรมเสียง''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สิ่งดี ''เพื่อคนตาบอด''

หนังสือเสียงเพื่อคนตาบอดนั้นมีมาก แต่ที่เป็นพจนานุกรมไม่มีเลย ...นี่เป็นการระบุของ นิรมล เปี่ยมอุดมสุข ประธานชมรมอาสาสมัครเพื่อนคนตาบอด และจุดนี้ก็นำไปสู่การเกิดอีกหนึ่งโครงการที่ดี...

นั่นก็คือ...โครงการ พจนานุกรมเสียง

อีกหนึ่งโครงการดี ๆ เพื่อคนตาบอด

ทั้งนี้ หนังสือเสียงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือชื่อชัด ๆ ของโครงการนี้ซึ่งประธานชมรมอาสาสมัครเพื่อนคนตาบอด บอกว่า... โครงการนี้เกิดขึ้นมา 2 ปีแล้ว โดยเป็นแนวความคิดของกลุ่มอาสาที่ทำเพื่อคนตาบอด เพราะที่ผ่านมาคนตาบอดต้องอาศัยคนตาดีเปิดพจนานุกรมให้ ซึ่งก็ได้มีการประชุมกับนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2550 ตกลงกันว่าจะเป็นโครงการร่วมของมูลนิธิคนตาบอดไทย กับชมรมอาสาสมัครเพื่อนคนตาบอด และต่อมาก็มีการอบรม มีการจัดแบ่งหน้าพจนานุกรม โดยแบ่งเป็น 70 หน่วย หน่วยละประมาณ 20 หน้า เพื่อแจกให้ช่วยกันอ่าน

สำหรับลำดับความคืบหน้าการผลิตหนังสือเสียงพจนานุกรมนี้ ก็เช่น มีการปรับปรุงหลักการอ่านพจนานุกรม ซึ่งเพิ่มวิธีอ่านศัพท์วิทยาศาสตร์ (อ่านออกเสียงคำภาษาละติน) เพิ่มตารางชื่อย่อศัพท์พฤกษศาสตร์ รายชื่อผู้ค้นพบที่ให้ไว้เป็นตัวย่อในชื่อพืชควรอ่านชื่อเต็มเวลาออกเสียง มีการทำตัวอย่างการอ่าน โดยช่วงแรก ๆ จะเป็นการหาวิธีอ่านที่เหมาะสม มีการประชุมกับคณะผู้บริหารราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง และมีการแก้หลักการอ่านเล็กน้อย จนล่าสุดได้หลักการอ่านสคริปต์สำหรับการอ่านพจนานุกรมที่พร้อมใช้

ทางราชบัณทิตยสถานได้อนุมัติลิขสิทธิ์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มาให้ พร้อมไฟล์คอมพิวเตอร์ ซึ่งตอนแรกจะมอบเงินมาผลิตให้จำนวนหนึ่งด้วย แต่ปรากฏว่าติดขัดทางราชการเลยไม่ได้ ประกอบกับ 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งโครงการก็เกือบจะพับไป แต่ด้วยควกเราจึงพยายามผลักดันโครงการนี้ต่อไป ...นิรมลกล่าว

และแจกแจงต่อไปว่า... พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นั้น มีกว่า 1,400 หน้า ซึ่งมีการอ่านเป็นเสียงไปแล้วกว่า 50% และมีอาสาสมัครเข้าคิวคอยอ่านอยู่ โดยที่สคริปต์สำหรับอ่านพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 สคริปต์ที่ทำไว้เป็นสคริปต์ที่ใช้โปรแกรมอ่านพจนานุกรมแล้วขยายความขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งสคริปต์ถูกแบ่งเป็น 70 แฟ้ม เท่ากับหน่วยการอ่าน

นิรมลอธิบายว่า... 1. สคริปต์ แบ่งเป็น 3 คอลัมน์ คอลัมน์แรกคือคำต้น คอลัมน์ที่สองคือคำอธิบายความหมาย คอลัมน์ที่สามคือต้นฉบับจากพจนานุกรม ให้อ่านคอลัมน์ที่ 1 และ 2 ส่วนคอลัมน์สุดท้ายมีไว้อ้างอิง

2.ตัวภาษาอังกฤษทั้งหมด ไม่ต้องอ่านออกเสียง ให้สะกดตัว เฉย ๆ จะมีคนมาอ่านออกเสียงให้ทีหลัง ดังนั้นถ้าพบศัพท์วิทยาศาสตร์ ให้บอกว่า เขียนว่า แล้วสะกดตัวไปเลย เช่น ชื่อไม้ล้มลุกในวงศ์ Cyperaceae ให้อ่านว่า ชื่อไม้ล้มลุกในวงศ์ เขียนว่า ซี-วาย-พี-อี- อาร์-เอ-ซี-อี-เอ-อี ถ้าเป็นภาษาที่มาจากภาษาอังกฤษหรือภาษาละติน เช่น (อ. glucose) ก็ให้อ่านว่า ในวงเล็บ มาจากภาษาอังกฤษ เขียนว่า จี-แอล-ยู-ซี-โอ-เอส-อี

3.ถ้าสคริปต์มีดอกจัน 4 ตัว **** แปลว่า โปรแกรมสับสนอ่านต้นฉบับไม่ได้ ผู้อ่านต้องทำสคริปต์ใหม่เอง 4.บางทีโปรแกรมก็พลาด อ่านต้นฉบับไม่ถูกต้อง หากผิดสังเกตให้ตรวจสอบกับต้นฉบับ และแก้ไข 5.ให้อ่านตามมาตรฐานการอ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด คือถ้าเจอวงเล็บ ก็อย่าลืมบอกว่า ในวงเล็บ เป็นต้น

แน่นอน...กับคนทั่วไปยังไงก็คงงง-ไม่คุ้นกับที่ยกตัวอย่าง

แต่สรุปก็คือ...นี่ถือเป็นนิมิตหมายใหม่สำหรับคนตาบอด

ประธานชมรมอาสาสมัครเพื่อนคนตาบอด ระบุว่า... หนังสือเสียงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นี้จะเป็นนิมิตหมาย ที่ดีสำหรับวงการการศึกษาเพื่อผู้พิการทางสายตาแน่นอน เพราะจะเป็น ประโยชน์มากจริง ๆ ด้วยระบบการผลิตที่ทันสมัย สะดวกสบายต่อผู้ต้องใช้ทุกกลุ่ม

เท่าที่ทราบ ขณะนี้ในเอเชียมีเพียงญี่ปุ่นที่ผลิตหนังสือเสียงพจนานุกรมได้ ส่วนประเทศในแถบตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าหนังสือเสียงพจนานุกรมนี้สำเร็จ ไทยก็จะเป็นประเทศแรกที่ทำได้

พร้อมกันนี้ ประธานชมรมอาสาสมัครเพื่อนคนตาบอดยังฝากถึงประชาชนคนไทยทั่วไปว่า... การผลิตพจนานุกรมเสียงฉบับราชบัณฑิตย สถาน พ.ศ. 2542 นี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงที่เทคนิคการผลิตด้วยระบบเดซี่ ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้ทางมูลนิธิคนตาบอดไทย ชมรมอาสาสมัครเพื่อนคนตาบอด ก็ยังขาดแคลนอยู่

หากท่านใดต้องการมีส่วนร่วมบริจาคทุนทรัพย์ผลิตหนังสือเสียงพจนานุกรม รวมถึงสนใจสมัครเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียง ติดต่อได้ที่ห้องสมุดคนตาบอด หมายเลขโทรศัพท์ 0-2248-0555 ...นิรมลระบุ

ทั้งนี้ ในขณะที่พจนานุกรมธรรมดาช่วยเปิดโลกกว้างทางปัญญาให้กับผู้คนปกติทั่วไป พจนานุกรมเสียง ก็ช่วยเปิดโลกกว้างทางปัญญาให้กับผู้ที่สายตามิอาจจะมองเห็นโลก นี่จึงถือเป็นสิ่งที่ มีคุณค่า ...

เป็นสิ่งที่น่าจะช่วยกันสนับสนุนให้ทำได้สำเร็จลุล่วง

มิใช่แค่เพื่อที่ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มี

ที่สำคัญคือ เพื่อคนตาบอด ที่ก็เป็นชีวิตที่มีค่า !!.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook