ติดดาบป.ป.ช. ฟันแบงก์เอกชน

ติดดาบป.ป.ช. ฟันแบงก์เอกชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินที่เป็นของเอกชนทั้งหมด ตามพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

ธปท. ยังมีหน้าที่ตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ที่กระทรวงการคลังกำกับดูแล โดยเมื่อตรวจสอบแล้ว ธปท.ต้องรายงานรมว.คลังทุกครั้ง

สำหรับสถิติอาญาที่ ธปท.ร้องทุกข์กล่าวโทษตั้งแต่อดีตถึง 31 ธ.ค.51 มีจำนวน 82 คดี มูลค่า 58,765.4 ล้านบาท+421.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้มี 28 คดีดำเนินการถึงที่สิ้นสุด อีก 10 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นอัยการ และ 44 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นศาล

แบ่งเป็นคดีทุจริตที่พบในธนาคารพาณิชย์ 30 คดี มูลค่าทุนทรัพย์ 46,876.6 ล้านบาท บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 35 คดี มูลค่า 11,888.8 ล้านบาท และเป็นคดีควบคุมแลกเปลี่ยน 17 คดี มูลค่า 421.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้การตรวจสอบจะมีหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเข้มงวดมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ปรากฏว่ายังมีปัญหาการทุจริตในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น

เห็นได้จากมีการร้องเรียนปัญหาการทุจริตในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)จำนวนมาก

คือ ในปี51 เรื่องที่ร้องเรียนไปยังป.ป.ช.มีทั้งหมด 187 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันการเงิน 56 เรื่อง หรือ 30% เมื่อเทียบกับปี50 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 121 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันการเงิน 24 เรื่อง หรือ 20%

//

ความร่วมมือในการป้องปรามการทุจริตและการบังคับใช้กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน จึงเกิดขึ้นตามมา

นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการ สำนักคดี ฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท. กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เปิดทางให้ป.ป.ช. มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบการทุจริตในสถาบันการเงินภาคเอกชนได้ เป็นมาตรการใหม่ เพราะปัจจุบันป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบและชี้มูลความผิดคดีทุจริตภายในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหากมีผู้ร้องเรียนเท่านั้น

ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎหมายรองรับ โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานติดตามและเรียกคืนทรัพย์แห่งใหม่ภายใต้กำกับของ ป.ป.ช. หากผ่านความเห็นจากครม. และที่ประชุมสภาก็สามารถมีผลบังคับใช้ได้ทันที

ศูนย์ดังกล่าวสามารถติดตามและยึด/เรียกคืนทรัพย์สินจากการเอาผิดในคดีทุจริตที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินนั้นๆ ซึ่ง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่

นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 1.ความร่วมมือทางอาญา ระหว่างประเทศ 2.การติดตามสินทรัพย์กลับคืน และ3.การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งมี 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว ส่วนอีก 1 ฉบับเตรียมเสนอให้ ครม. และสภาพิจารณาต่อไป

หากกฎหมาย 3 ฉบับผ่านสภา ประเทศไทยจะทำสัตยาบันเกี่ยวกับอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต หรือ UNCAC ซึ่งสาระสำคัญของสัญญาจะมีส่วนช่วยให้ ป.ป.ช. มีอำนาจดึงทรัพย์สินคืนจากผู้ร้ายข้ามแดนได้สะดวกขึ้น

รวมทั้งสามารถติดตามทรัพย์สินของสถาบันการเงินเอกชนได้ ซึ่งจะสามารถดึงคดียักยอกทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือบีบีซี และคดีทุจริตการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยเข้ามาดูแลได้

เชื่อว่าหากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้ภายในปีนี้ จะทำให้คดีทุจริตในสถาบันการเงินจะลดลงในปี53

แต่สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาคือ การสร้างจิตสำนัก เพราะหากมีกฎหมาย แต่ไม่มีการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ หรือหากมีการบังคับใช้แต่พนักงานไม่เกรงกลัว ไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ก็เป็นปัญหา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook