รอยในงานช่างไทย

รอยในงานช่างไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รอย เป็นสิ่งที่โดยทั่วไปไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อเกิดรอยย่อมหมายถึงเกิดตำหนิ แต่ในงานศิลปกรรมไทย ช่างจะจงใจทำให้เกิดรอย ตั้งแต่รอยขนาดเล็กเป็นขีดเป็นเส้นจนถึงการทำให้เป็นรอยขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้รอยเหล่านั้นเหมาะสมกับงานแต่ละประเภท การทำให้เกิดรอยทำได้หลายอย่าง เช่น

เจียน คือการตัดวัสดุแผ่นบาง ๆ ด้วยมีดให้มีรูปทรงอย่างที่ต้องการ เช่น เจียนใบตองสำหรับห่อขนมแบบไทย

ฉลุ เป็นกรรมวิธีในการทำลวดลายลงบนวัสดุต่าง ๆ เช่น กระดาษ แผ่นไม้ แผ่นหนัง แผ่นโลหะ เพื่อให้เป็นลายโปร่งทะลุ โดยใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของวัสดุนั้น ๆ อย่างงานฉลุกระดาษจะใช้สิ่วแตุ๊ดตู่ งานฉลุแผ่นไม้จะใช้เลื่อยฉลุ งานแทงหยวกจะใช้มีดบางปลายแหลม

บาก มี ๒ อย่าง อย่างแรกเป็นวิธีการแบ่งเส้นขอบของลายไทยเช่นกระจังหรือกระหนกให้ละเอียดสวยงามมากขึ้น อย่างที่ ๒ เป็นการใช้สิ่งมีคมเช่นมีดหรือขวานทำให้เป็นรอยแสดงเครื่องหมาย หรือตกแต่งให้เป็นรูปร่างเพื่อใช้ในการเข้าไม้

สลัก หรือ ฉลัก เป็นวิธีทำให้วัสดุต่าง ๆ เป็นลวดลายหรือรูปภาพ โดยใช้เครื่องมืออย่างสิ่วหรือสกัด ตัด ตอก ดุน ช่างโบราณนิยมใช้คำว่า ฉลัก แต่ปัจจุบันนิยมใช้ สลัก

นอกจากการทำให้เกิดรอยด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้ว ในงานช่างไทยยังใช้การ ดุน กับแผ่นโลหะ เช่น ทอง เงิน ทองแดง เพื่อให้เกิดลวดลายหรือภาพนูนสูขึ้นจากผิว ใช้วิธี กล่อม โดยการถากแต่งไม้หรือเสาให้เรียบกลม หรือใช้การ โกลน ในการขึ้นรูปงานประติมากรรมประเภทแกะสลัก ซึ่งวัสดุที่ใช้จะเป็นไม้หรือหิน ทำโดยสกัด ถาก สับหรือฟัน ส่วนที่ไม่ต้องการออกให้เหลือแต่รูปร่างหยาบ ๆ เพื่อแกะสลักทำส่วนที่เป็นรายละเอียดต่อไป

สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจในการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร.0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ http:// www.royin.go.th

พัชนะ บุญประดิษฐ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook