ปธ.สหภาพร.ฟ.ท.ยื่น8แนวทางปฏิรูปให้บอร์ดรถไฟ เมินแผนฟื้นฟูครม.3มิ.ย. หวั่นฮุบผลประโยชน์3ล้านล้าน

ปธ.สหภาพร.ฟ.ท.ยื่น8แนวทางปฏิรูปให้บอร์ดรถไฟ เมินแผนฟื้นฟูครม.3มิ.ย. หวั่นฮุบผลประโยชน์3ล้านล้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประธานสหภาพฯร.ฟ.ท.ไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูมติ ครม. 3 มิ.ย. ยื่น 8 แนวทางปฏิรูปรถไฟให้บอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณา หวั่นฮุบผลประโยชน์กว่า 3 ล้านล้านบาท ให้เอกชน ทำปกขาวแจก ปชช.ตกเป็นจำเลยสังคม อภิสิทธิ์แจงชะลอปฏิรูป รอสหภาพฯศึกษาแผนให้สบายใจก่อนเดินหน้า ขออย่าใช้วิธีทำ ปชช.เดือดร้อน

ที่ห้องประชุมสหภาพการรถไฟฯ ถนนวิภาวดีรังสิต สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) จัดแถลง ความจริงจากจำเลยสังคม ความจริงที่ถูกบิดเบือน ในแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ใช่การแปรรูป ไม่ใช่การขายแต่เป็นการฮุบ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ สร.ร.ฟ.ท. โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สร.ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับการปฏิรูปการรถไฟฯ แต่ไม่ยอมรับในแผนการฟื้นฟูกิจการรถไฟฯตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 มิถุนายน 2552 และวันนี้ (28 มิถุนายน) นายอภิสิทธิ์ได้ยืนยันผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ โดยเน้นย้ำว่าไม่ใช่แปรรูป ร.ฟ.ท.

แต่ สร.ร.ฟ.ท.มองว่าแม้จะไม่ใช่การแปรรูป ไม่ใช่การขาย แต่เป็นการฮุบกิจการ ร.ฟ.ท. บนผลประโยชน์จากทรัพย์ของ ร.ฟ.ท.อย่างมหาศาล ทั้งในส่วนที่เป็นหัวรถจักรและที่ดินของ ร.ฟท.ทั่วประเทศ 200,000 ไร่ ประเมินราคาไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยการให้ ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท คือบริษัทเดินรถ และบริษัทบริหารทรัพย์สินที่ ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% ภายใน 30 วัน แต่หลังจากนี้ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ สุ่มเสี่ยงให้เกิดการโอนย้าย ร.ฟ.ท.ไปให้บริษัทเอกชนในภายหลัง เช่นเดียวกับกรณี ปตท.ซึ่งท้ายที่สุดรัฐถือหุ้นเพียง 50% นายสาวิทย์กล่าว

นายสาวิทย์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ยังตั้งข้อสังเกตถึงการโอนทรัพย์สิน ในแผนฟื้นฟูได้ระบุให้ยกเว้นภาษีทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์สินถาวรด้านการเดินรถ มูลค่าสินทรัพย์รวม 7,035 ล้านบาท และบริษัทเดินรถได้รับข้อยกเว้นปฏิบัติตามกฏระเบียบ ข้อบังคับ และมติ ครม.ที่ใช้บังคับรัฐวิสาหกิจทั่วไป โดยการรถไฟฯจะเหลือเพียงการดูแลระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ เพียงอย่างเดียว เท่ากับเป็นการฮุบกิจการ ร.ฟ.ท.หรือไม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการออกสมุดปกขาว ความจริงจากจำเลยสังคม ชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

ขอเรียกร้องให้นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ออกจากตำแหน่ง จากกรณี สตง.ชี้มูลความผิดกรณีดำเนินการให้บรษัทธนสารสมบัติพัฒนา จำกัด เช่าเพื่อจัดหาผลประโยชน์ในบริเวณตลาดซันเดย์ ที่มีนายยุทธนาเป็นประธานพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดย สตง.ได้พิจารณาและให้ดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวข้อง นายสาวิทย์ระบุ

นายสาวิทย์กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูแม้จะเข้าใจในสภาพปัญหาของการรถไฟฯแต่นโยบายการเมืองไม่ชัดเจน และยืนยันไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวประกัน แต่ความจริงคือรัฐบาลพูดความจริงไม่หมดต่อประเด็นเรื่องการแปรรูป ไม่เคารพต่อสิทธิของสหภาพฯ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสหภาพการจ้าง ถือว่าขัดต่อ พ.ร.บ.แรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 และละเมิดต่อรัฐธรรมนูญและคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ถือว่าเป็นการดำเนินการไม่ถูกต้อง

เช่นเดียวกับประเด็นการดำเนินโครงแอร์พอร์ตลิงค์ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเปิดการเดินรถล่าช้า จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เรื่องนี้สหภาพฯได้เคยหารือกับ ร.ฟ.ท.มาบ้างแล้ว หากรัฐบาลยืนยันไม่แปรรูป ก็ให้จัดทำรายละเอียดโครงสร้างการบริหารจัดการให้ชัดเจน ให้ สร.ร.ฟ.ท. และประชาชนร่วมพิจารณา นายสาวิทย์กล่าว

นายสาวิทย์กล่าวว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน จะมีการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. สร.ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอแนวทางการปฏิรูป ร.ฟ.ท. 8 แนวทาง คือ

1.ให้มีการแบ่งแยกบัญชี สินทรัพย์ หนี้สิน และการลงทุนของการรถไฟฯให้ชัดเจน เพราะระบบบัญชีในปัจจุบันทำให้เกิดตัวเลขขาดทุนที่สูง

2.ให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนในการให้บริการเพื่อสังคมบริการที่ต่ำกว่าราคาต้นทุน (พีเอสโอ) ตามที่กฎหมายการรถไฟฯ 2494 กำหนดให้จ่ายตรงเวลา โดยที่ผ่านมามีการค้างจ่ายตั้งแต่ปี 2547 เป็นเงินกว่า 2,600 ล้านบาท ทำให้การรถไฟฯต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง รับภาระดอกเบี้ยปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท

3.เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ รวมถึงที่มาของบอร์ด ร.ฟ.ท.ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี และผู้บริหารสูงสุดที่มาจากการสรรหา มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง

4.ปรับปรุงการหารายได้จากที่ดินโดยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันมีรายได้จากกรณีดังกล่าว เพียงปีละ 1,000 ล้านบาท รวมถึงให้นำที่ดินที่เอกชนยึดครองกลับคืน ร.ฟ.ท. เพื่อชดเชยรายได้ของ ร.ฟ.ท.ที่หายไป

5.แก้ปัญหาทางตัดผ่านเสมอระดับทางรถไฟ เพื่อเพิ่มความเร็วขบวนรถ และลดอุบัติเหตุ

6.ให้มีการจัดสรางทางคู่รถไฟ ทั่วประเทศ

7.ให้สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯและหัวเมืองสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-นครสวรรค์, กรุงเทพฯ-ชุมพร, กรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา และ

8.ให้จัดหารถจักร และล้อเลื่อนทดแทนรถเก่าที่ใช้งานมาอย่างยาวนาน

ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหาเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องการปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเจรจาจนเกิดความเข้าใจที่ดี และจะเปิดโอกาสให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) เข้ามาร่วมดูแผนการฟื้นฟู ร.ฟ.ท. ความจริงไม่ใช่เรื่องการแปรรูป หรือให้เอกชนมาทำอะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงการปรับระบบการบริหารจัดการภายใน เพื่อแยกงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลราง ออกจากงานที่บริหารจัดการเรื่องการวิ่งรถและงานบริหารเรื่องทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่มาก รัฐบาลเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้ฐานะของ ร.ฟ.ท.ดีขึ้น และทำให้บริการประชาชนดีขึ้นด้วย

ทั้งนี้ แผนการปฏิรูป ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้มีการดำเนินการ เป็นการปรึกษาหารือให้สบายใจ และให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมั่นใจก่อน ถึงจะเดินหน้าได้ และขอถือโอกาสนี้แจ้งประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด หากมีความไม่เห็นด้วย มีความข้องใจ มีความไม่แน่ใจในนโยบายของรัฐบาล สามารถเรียกร้องและนำเสนอความคิดเห็นมาได้ อย่าใช้วิธีการที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเดือดร้อน นายกฯกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook