กทม.ดึงต่อขยายสีเขียว2สายคืน เกทับไม่ต้องกู้เงิน/โยนBTS ลงทุน

กทม.ดึงต่อขยายสีเขียว2สายคืน เกทับไม่ต้องกู้เงิน/โยนBTS ลงทุน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กทม.เกทับรัฐบาล ลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า สายสีเขียว ไม่ต้อง กู้เงิน ให้เอกชนลงทุน 100% ขอคืนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเขียว 2 สาย หมอชิต-สะพานใหม่และแบริ่ง-สมุทรปราการ อ้างประหยัดค่าก่อสร้างและใช้ระบบร่วมได้หลายสถานี มีอู่จอดได้หลายแห่ง

นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า กทม.มีแนวคิด แก้ไขมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี 2543 สมัยที่นายชวนหลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี กรณีลงทุนโครงการรถไฟฟ้าBTS สายสีเขียว และส่วนต่อขยาย จากเดิมที่ให้เอกชน ลงทุน 100% เปลี่ยนเป็นให้ รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน

ทั้งนี้เนื่องจากมองว่า เอกชนมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่อง หากปล่อยให้ลงทุนเอง 100% จะไม่มีเอกชนรายใดสนใจรับสัมปทาน ซึ่งปัจจุบันมี เอกชนรายเดียวคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอส ที่สำคัญ กทม. ต้องการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารที่ต่ำ ขณะที่เอกชนจะไม่คุ้มทุน ทำให้ต้องมีการปรับอัตราค่าโดยสารที่สูงขึ้น แต่หากเปิดช่องให้รัฐเข้ามามีส่วนร่วมจะสามารถดำเนินการ โครงการรถไฟฟ้าจะเกิดง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน กทม. ยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนตายตัว แต่ในทางปฏิบัติ กทม. อาจจะเข้าไปช่วยในแง่ของดอกเบี้ย และเปิดช่องให้เอกชนที่มีขีดความสามารถลงทุน 100% หรืออาจเข้าไปถือหุ้นเพียง 10% หรือแค่ 1 % แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กทม. จะหารูปแบบการบริหารจัดการโดยไม่ต้องกู้ยืมเงินทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมาลงทุนระบบขนส่งมวลชนอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 สาย ช่วง หมอชิต -สะพานใหม่ และ ช่วง แบริ่ง -สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ที่เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้กทม.นำกลับไปดำเนินการเองนั้น มองว่าจะสามารถลงทุนได้ทันที เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลไม่มีงบประมาณ หากลงทุนจะต้องมีภาระเกี่ยวกับเงินกู้

ขณะที่ กทม. สามารถบริหารจัดการ และให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯหรือ บีทีเอส ลงทุน เพราะมีประสบการอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าก่อสร้างลงไปได้กว่า 40,000 ล้านบาท เนื่องจากใช้ระบบร่วม ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม และส่วนต่อขยาย นอกจากจะช่วยให้ค่าโดยสารถูกลงแล้วยังไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเพื่อ เวนคืนและก่อสร้างทำอู่จอดรถใหม่ที่บริเวณดอนเมือง เพราะสามารถใช้อู่จอดรถที่เดียวกันได้ คือที่หมอชิต รวมถึงขบวนรถก็สามารถใช้ร่วมกันได้

นายจุมพลกล่าวต่อไปว่า โครงการส่วนต่อขยาย สายสีเขียว ที่กทม. ต้องดำเนินการต่อเนื่องคือ ส่วนต่อขยายบริเวณสถานีสนามกีฬาศุภชลาศัย ไปถึงพรานนกซึ่งใช้งบประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท และส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงวงเวียนใหญ่ -บางหว้า วงเงิน 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่ง มั่นใจว่ากทม.สามารถบริหารจัดการโดยไม่ต้องเสียงบประมาณหรือกู้เงินแม้แต่บาทเดียว

ขณะที่ ดร.อาณัติ อาภาภิรม ที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทมีความพร้อมในการลงทุนทุกโครงการในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าของกทม.เนื่องจากมีประสบการ อย่างไรก็ดีมองว่าการแก้ไขมติครม. ปี 2543 เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะขยายเรื่องอายุสัมปทาน ได้มากกว่า 30 ปี ขณะนี้ เวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปีแล้ว ขณะที่การดำเนินการแต่ละสายจะเปิดใช้ได้ล่าช้ากว่าแผนมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook