ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าแจงไม่มีเจตนาเปลี่ยนชื่อเหี้ย

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าแจงไม่มีเจตนาเปลี่ยนชื่อเหี้ย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายชัชวาล พิศดำขำ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กรณีข่าวการเสนอเปลี่ยนชื่อตัว "เหี้ย เป็น วรนัส ว่า ข่าวที่เกิดขึ้นตนขอยอมรับว่าอาจจะเป็นการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นมา เพราะ กรมอุทยานฯ มีอำนาจที่จะสามารถเปลี่ยนชื่อสัตว์เพื่อให้คนเรียกได้ แต่ที่ชี้แจงดังกล่าวเพื่อให้ทราบว่า ตัวเหี้ย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้น่ารังเกียจ หรือเป็นชื่อที่ถูกนำมาใช้ด่าทอกัน ถ้าใครไม่ถนัดปากจะเรียกสามารถเรียกตัวนี้อีกแบบหนึ่งได้ ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด และต้องขอโทษที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่มีชื่อ วรนุช หรือญาติที่มีชื่อ วรนุช ซึ่งหลังเป็นข่าวตนได้รับโทรศัพท์ต่อว่ามากมาย แต่ก็ยินดีที่จะรับฟัง ทั้งนี้ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับนายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมอุทยานฯ ทราบแล้ว ซึ่งนายเกษมสันต์ มีความเข้าใจดีว่าไม่ได้มีเจตนาอื่นใด และ ยืนยันว่าไม่ได้มีความพยายามี่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนชื่อสัตว์ตัวนี้อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ตัวเหี้ยไม่ได้เป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ ดุร้าย แต่กลับเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศเท่านั้น

ที่ผ่านมาแม้ว่า เจ้าหน้าที่เคยจับกุมผู้ต้องหาที่ล่าสัตว์พวกนี้มาขาย ในร้านอาหาร และตลาดสด บางแห่งในราคาขายที่ค่อนข้างสูงด้วยเนื่องจากยังมีคนบางกลุ่มที่ยังบริโภคเนื้อของมันอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้จับกุมคนเหล่านั้นดำเนินคดีไปแล้ว ทั้งนี้อยากฝากว่า หากพบว่ามีตัวเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง เข้ามาสร้างความรบกวน หรือเมื่อเจอ ก็ขออย่าได้ตกใจ เพราะตัวเหี้ยจะไม่ทำร้ายคนแต่จะหลบหนีมากกว่า ทางที่ดีก็ขอให้แจ้งมายัง กรมอุทยานฯ หมายเลข 1362 เพื่อจะได้ส่งหน่วยงานรับผิดชอบไปจับมาดูแลไว้ที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ของกรมอุทยานฯ ก่อนที่จะนำไปปล่อยในพื้นที่เหมาะสมต่อไป นายชัชวาล

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากต้องจับตัวเหี้ยไปมากๆ กรมอุทยานฯ มีงบประมาณในการเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้เพียงพอหรือไม่ นายชัชวาล กล่าวว่า สำหรับสัตว์คุ้มครองประเภทนี้ บางส่วนที่ปล่อยกลับเข้าป่าไปได้ก็จะปล่อยไป แต่ส่วนที่ปล่อยไม่ได้กรมอุทยานฯ ก็ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิต โดยยอมรับว่างบประมาณในการเลี้ยงดูสัตว์ป่า ทั้งสัตว์ป่าของกลาง และสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้รับแจ้งจากประชาชน เหล่านี้มีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้ว ซึ่งทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ก็จะหาวิธีการแก้ปัญหาโดย ให้เจ้าหน้าที่ปลูกพืชผักที่สัตว์กินได้ไว้เลี้ยงสัตว์เอง หรือรับซื้ออาหารพวกผักชนิดต่างๆ จากชาวบ้าน และที่ผ่านมาก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ต้องการช่วยเหลือติดต่อเข้ามาว่าอยากจะบริจาค ซึ่งทางสำนักอนุรักษ์ฯ ขอความกรุณาว่าช่วยอนุเคราะห์กับสัตว์จำพวกเสือ และหมีก่อน เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยผ่านโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าก่อน ส่วนสัตว์ประเภทอื่นๆ เจ้าหน้าที่ยังพอรับมือได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook