อิสสระยันไทยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ จริงจัง เตรียมจับมือยธ.-ตร.ลดขั้นตอนทำคดี

อิสสระยันไทยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ จริงจัง เตรียมจับมือยธ.-ตร.ลดขั้นตอนทำคดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รมว.พม.ยันไทยเอาจริงแก้ปัญหาค้ามนุษย์ สั่งจนท.ทำรายงานแจงมะกันด่วน อ้างขั้นตอนดำเนินคดีต้องใช้เวลา เล็งประสานยธ.-ตร.ลดขั้นตอน รับมีวิ่งเต้นเปลี่ยนรูปคดีเป็นค้าประเวณี-ต่างด้าวเลี่ยงกม. จากรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2552 ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลและราชการไทย โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาส่งมอบให้กับประเทศไทยที่รับเงินทุนสนับสนุนการปราบปรามการค้ามนุษย์จากสหรัฐ และต้องเผยแพร่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเหยื่อของการค้ามนุษย์ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส ที่ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มสอง ซึ่งหมายความว่าความพยายามของรัฐบาลไทยในการปราบปรามการค้ามนุษย์ยังไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำ ในฐานะเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กเพื่อบังคับใช้แรงงานและการแสวงประโยชน์ทางเพศนั้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวชี้แจงว่า รัฐบาลไทยและ พม.ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด ส่วนการประเมินการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ดีเยี่ยม กลุ่ม 2 ปานกลาง และกลุ่ม 3 ต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทยในปี 2552 อยู่ในกลุ่ม 2 ซึ่งเท่ากับปี 2551 และในปี 2552 ประเทศไทยก็ได้รับคำชมจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนว่ามีมาตรฐานในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ดีขึ้น ทั้งเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2551 รวมทั้งการช่วยเหลือดูแลเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มีการฝึกอาชีพก่อนส่งกลับประเทศต้นทาง คงต้องไปดูในรายละเอียดในรายงานดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่าเหตุใดจึงประเมินว่าประเทศไทยปราบปรามการค้ามนุษย์ยังไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำ

จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทำรายงานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ชี้แจงประเทศสหรัฐให้เร็วที่สุด เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และเชื่อว่าปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐ นายอิสระกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.กล่าวอีกว่า ในรายงานที่ระบุว่าขั้นตอนเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินดคีกับผู้ที่ทำความผิดการค้ามนุษย์ยังล่าช้านั้น ยอมรับว่าความผิดการค้ามนุษย์นั้นเป็นคดีอาญา การสืบสวนสอบสวน การสอบปากคำเพื่อหาพยานหลักฐานต่างๆ ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร ก่อนส่งให้ศาลตัดสิน ส่วนนี้ตนจะหารือกับกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อหาวิธีลดขั้นตอนการดำเนินคดีให้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นอุปสรรคคือ มีกระบวนการวิ่งเต้นเปลี่ยนรูปคดีของผู้ต้องหา จากคดีค้ามนุษย์ ไปเป็นความผิดการค้าประเวณีหรือค้าแรงงานต่างด้าว เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษของกฎหมายค้ามนุษย์ซึ่งจะมีโทษหนักกว่า โดยจะหารือกับ ตร.เพื่อกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

เมื่อถามว่า กระทรวงแรงงานจะเปิดให้แรงงานต่างด้าวใต้ดินกว่า 2 ล้านคนมาลงทะเบียนแรงงาน และอาจมีแรงงานบางส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์จะมีมาตรการป้องกันอย่างไร นายอิสสระกล่าวว่า แรงงานต่างด้าวหลายคนถูกหลอกโดยขบวนการค้ามนุษย์ โดยจะอ้างเป็นแรงงานบังหน้า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือภายหลังแรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่พอตรวจสอบภายหลังกลับไม่พบตัวตนของแรงงานดังกล่าว ซึ่งอาจจะถูกหลอกไปค้ามนุษย์ ทำให้การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ยากลำบากขึ้น ตนจะประสานกระทรวงแรงงานเพื่อเพิ่มความเข้มงวดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว และควรเพิ่มมาตรการตรวจสอบว่าแรงงานดังกล่าวมีตัวตนและทำงานจริงในสถานประกอบการที่จดทะเบียน

สำหรับบทลงโทษของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 52 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-10 ปี ปรับตั้งแต่ 80,000-200,000 บาท หากกระทำความผิดแก่บุคคลอายุเกิน 15 ปีแต่ไม่ถึง 18 ปี จะต้องระวางโทษจำคุก 6-12 ปี ปรับตั้งแต่ 1.2-2.4 แสนบาท หากกระทำความผิดแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8-15 ปี ปรับตั้งแต่ 1.6-3 แสนบาท มาตรา 53 ระบุว่า หากเป็นนิติบุคคลกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนถึงหนึ่งล้านบาท จำคุกตั้งแต่ 6-12 ปี

ส่วนบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการ

ค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท ถ้ากิจการหรือสถานการค้าประเวณีตามวรรคหนึ่งมีบุคคลซึ่งมีอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี ปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท

ส่วนบทลงโทษเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 22 ระบุว่า หากนายจ้างรับคนงานต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานหรือรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่มีลักษณะ หรือเงื่อนไขในการทำงานแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook