''คุณค่า'' ใช่แค่ทางผ่าน ''จังหวัดลำพูน''

''คุณค่า'' ใช่แค่ทางผ่าน ''จังหวัดลำพูน''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มีลุ้นขึ้นชั้น ''มรดกโลก''

เมืองลำพูน จังหวัดลำพูน หรือในอดีตคือ นครศรีหริภุญชัย ในสายตาของนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่อาจเป็นแค่เพียง ทางผ่าน แต่ในสายตาของนักวิชาการประวัติศาสตร์ แวดวงโบราณคดีศึกษา ลำพูนถือเป็นจุดหมายสำคัญของ อาณาจักรล้านนา ในอดีต ด้วยความเก่าแก่ของเมืองอายุเกือบ 1,400 ปี ที่สำคัญ ณ วันนี้ลำพูนเองก็กำลังเตรียมตัว-เปิดตัวก้าวสู่ความเป็น เมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญ...

ลุ้นที่จะก้าวขึ้นเป็น เมืองมรดกโลก แห่งใหม่ ?!?

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์ ร่วมกับคณะผู้บริหาร สายการบินนกแอร์ ไปเยือนพื้นที่ภาคเหนือ เชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งเป็นคณะสำรวจสภาพธุรกิจท่องเที่ยว ตามแนวคิด ลงเชียงใหม่...ไปนอกเมือง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งนี้ ลำพูน ก็เป็นจุดหมายหนึ่งที่ถูกการันตีว่า มีดี-น่าค้นหา

ดิเรกกช ภณก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน บอกว่า... ถ้าดูตามอายุ ลำพูนมีอายุมากกว่าเชียงใหม่เกินครึ่ง โดยนครศรีหริภุญชัยมีอายุราว 1,352 ปี ขณะที่นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่มีอายุราว 713 ปี จึงเป็นที่มาของการเสนอลำพูนเป็นเมืองมรดกโลกแห่งที่ 6 ของไทย ตามโครงการศึกษาและพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลกที่นำเสนอโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย ซึ่งผ่านมติ ครม.สัญจร เมื่อ 29 มิ.ย. 2547 และต่อมาลำพูนก็ถูกเลือก เป็นเมืองเก่าสำคัญเร่งด่วนที่สุดในไทย 1 ใน 10 แห่ง

ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประกาศให้อนุรักษ์ลำพูนเป็นกลุ่มแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2548 และที่ผ่านมาทางจังหวัดลำพูนก็ได้มีการเร่งทำโครงการชำระประวัติศาสตร์เมืองให้ถูกต้องชัดเจน สำรวจศึกษา ขุดค้น ขุดแต่งด้านโบราณคดี บูรณปฏิสังขรณ์ อนุรักษ์โบราณสถาน จัดทำผังเมือง ฟื้นฟูวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งต้องทำคู่กันไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2552 นี้

ปัจจุบันมรดกโลกในไทยมี 5 แห่ง คือ ราชธานีกรุงเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร, ราชธานีกรุงเก่าศรีอยุธยา, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง, อุทยานแห่งชาตวยขาแข้ง, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ถ้ามององค์ประกอบที่มี อยู่ ลำพูนจึงอดคิดไม่ได้ว่าเราเองก็มีคุณสมบัติพอ ...ผู้ว่าฯ ลำพูนระบุ

ทั้งนี้ ว่ากันถึงปัจจัย 6 ข้อที่จะถูกประเมินว่าเข้าเกณฑ์เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือไม่ ? โดยสรุปก็คือ... 1. เป็นผลงานที่มีความงดงามเป็นเลิศ มีเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมที่มีการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด, 2. เป็นผลงานต้นแบบที่ส่งอิทธิพลให้แก่ผลงานชิ้นอื่น ๆ ผลักดันให้เกิดการพัฒนางานศิลป กรรมที่เกี่ยวข้อง หรือแสดงพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์, 3. เป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง เป็นพยานหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณีหรืออารยธรรมที่คงเหลืออยู่, 4. เป็นผลงานที่สะท้อนถึงความเชื่อของชุมชนตั้ง แต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่ สามารถกลับคืนดังเดิมได้, 5. มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับบุคคลสำคัญ มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญในประวัติ ศาสตร์, 6. เป็นตัวอย่างของงานทางวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม ที่สะท้อนความล้ำยุค

ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย ระบุถึงการผลักดันให้ลำพูนเป็นมรดกโลกว่า... ขับเคลื่อนมาตลอดกว่า 4 ปี ตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมาได้เชิญ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการว่าด้วยอนุสัญญามรดกโลก มาประเมินภาพรวมและชี้ถึงศักยภาพของการพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลกว่าเป็นไปได้หรือไม่ ? ซึ่งก็ได้คำตอบ ยืนยันว่าเข้าเงื่อนไขเกณฑ์มาตรฐาน เพราะมีผลงานด้านสถาปัตยกรรมโดดเด่น อาทิ... วัดพระธาตุหริภุญชัย พระบรมธาตุเจดีย์ทรงระฆังสมัยล้านนา พระเจดีย์เชียงยัน สุวรรณเจดีย์ (ปทุมวดีเจดีย์) หอไตรเครื่องไม้สมัยล้านนา หอระฆังกังสดาล และอื่น ๆ

ปัจจัยที่ทำให้ลำพูนเข้าข่าย จำแนกได้ 3 ด้านคือ 1. เป็นอู่อารย ธรรมแห่งอุษาทวีป เมืองหริภุญชัยเคยเป็นศูนย์กลางที่มีฐานะเป็นราชธานีแห่งแรกของภาคเหนือ เป็นรอยต่อจากอาณาจักรทวารวดีที่แพร่จากภาคกลาง เป็นศูนย์กลางด้านอักขระจารึกมอญโบราณ, 2. เป็นชุมทางวัฒนธรรมของล้านนา ล้านช้าง สิบสองปันนา เคยเป็นจุดเปลี่ยนจุดเริ่มต้นของทุกลัทธิศาสนาในภาคเหนือ ซึ่งรวมศูนย์แห่งชาติพันธุ์ของชนหลากเผ่าหลายพันธุ์มากที่สุดในอุษาทวีป, 3. เป็นแอ่งธรรมชาติด้านภูมิศาสตร์ เป็นชุมทางแม่น้ำหลายสาย หรือที่เรียกว่าขุนน้ำ

จริง ๆ แล้วลำพูนมีเสน่ห์น่าศึกษาค้นหามาก ในสายตาคนทั่วไปอาจคิดว่าลำพูนก็มีแค่นี้แหละ และลำพูนก็ถูกมองข้ามมาตลอด ซึ่งความจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ล้วนเป็นความบังเอิญที่ชาวบ้านพบแล้วนำมามอบให้ แต่เรายังไม่เคยพลิกแผ่นดินดูอารยธรรมที่ยังคงมีอยู่ใต้ แผ่นดินส่วนนี้ ซึ่งสิ่งที่จะเอื้อให้ทำได้ คือการทำลำพูนให้เป็นเมืองมรดกโลก ...ดร.เพ็ญสุภาระบุ

อย่างไรก็ดี อีกประเด็นสำคัญก็คือ การ ฟังเสียงประชาชน ซึ่งประเด็นนี้ทางผู้ว่าฯ ลำพูน บอกว่า... ถ้าลำพูนได้เป็นเมืองมรดกโลก สิ่งแรก ที่จะได้คือการสร้างรากฐานความมั่นคงทางวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลัง สิ่งต่อมาคือหยุดยั้งการเจริญเติบโตที่ไร้ทิศทางและดึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคุมได้มาทดแทน และที่สำคัญคือความภูมิใจในประวัติศาสตร์ของคนลำพูนจะกลับคืนมา ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ดิเรกกช ยังทิ้งท้ายน่าคิดด้วยว่า.....

ลำพูนพร้อมจะเป็นเมืองมรดกโลก เมื่อพิจารณาตามศักยภาพทั้งหลาย แต่การนำลำพูนก้าวไปสู่จุดนั้น จะต้องไม่กระทบกับคนและสังคมปัจจุบัน เพราะถ้าได้เป็นเมืองมรดกโลกจริง แต่ขาดไร้ซึ่งวิถีชีวิตที่เป็นของจริง ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร !!!.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook