พาณิชย์ตรวจพบตุกติกโครงการรับจำนำ แฉเวียนเทียนข้าวฟันกำไรตันละ3-5พัน สั่ง6โรงสีหยุดรับจำนำ

พาณิชย์ตรวจพบตุกติกโครงการรับจำนำ แฉเวียนเทียนข้าวฟันกำไรตันละ3-5พัน สั่ง6โรงสีหยุดรับจำนำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พาณิชย์ตรวจพบตุกติกนำข้าวเก่าขายยุคไชยา สะสมทรัพย์ เวียนเทียนรับจำนำ ฟันกำไรตันละ 3-5 พันบาท ต้นเหตุโควต้า 2 ล้านตัน เต็มเร็วผิดปกติ สั่ง 6 โรงสีหยุดรับจำนำ กก.สรุปผลสอบโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตร 3 ชนิด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปาล์มดิบ มันสำปะหลัง ชี้ผิดปกติอื้อใช้สวมสิทธิเกษตรกร ที่กาฬสินธุ์ให้ ธ.ก.ส.แจ้งดำเนินคดี เสนอนายกฯป้องกัน

พณ.พบตุกติกรับจำนำข้าวเก่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคม กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทีมออกตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2552 ที่รัฐบาลได้อนุมัติให้เพิ่มปริมาณรับจำนำอีก 2 ล้านตัน เนื่องจากได้รับเบาะแสว่าจะมีการนำข้าวสารเก่าเข้ามาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำ โดยเฉพาะนำข้าวที่ขายไปในสมัย นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีต้นทุนเพียงตันละ 12,000 บาท มาขายให้กับโรงสีในราคาตันละ 15,000-17,000 บาท ได้กำไรตันละ 3,000-5,000 บาท ขณะที่โรงสีก็นำข้าวที่ซื้อมาส่งเข้าโครงการรับจำนำ ซึ่งต้นทุนข้าวสารที่รับจำนำจะอยู่ที่ตันละ 22,000 บาท ได้กำไรประมาณตันละ 5,000 บาทเช่นเดียวกัน ซึ่งข้าวส่วนใหญ่อยู่ในโรงสีอยู่แล้วเพียงเปลี่ยนกระสอบใหม่ จึงเป็นเหตุให้โครงการรับจำนำเต็มโควต้าเร็วจนผิดปกติในบางพื้นที่ และพื้นที่ตามโรงสีไม่เพียงพอกับการเปิดรับจำนำเพิ่ม ทำให้กระทรวงพาณิชย์สั่งการผ่านองค์การคลังสินค้า (อคส.) และคณะกรรมการนโยบายข้าวจังหวัดให้เข้มงวดต่อเงื่อนไขการรับจำนำ ทำให้บางโรงสีต้องรีบซื้อข้าวเข้ามา เพื่อป้องกันการถูกตรวจสอบ โดยล่าสุดได้มีการตรวจสอบพบและสั่งการให้โรงสี 6 โรงหยุดการรับจำนำข้าวแล้ว ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้มีเป้าหมายใน 20 พื้นที่

ชี้บางโรงสีสวมสิทธิเกษตรกร

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ว่า ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาล หลังจากตรวจสอบพบความผิดปกติในโครงการรับจำนำ โดยเฉพาะการนำข้าวเก่ามาเวียนเทียนในโครงการ ทั้งข้าวขาวและข้าวเหนียว ส่งผลกระทบทำให้โครงการรับจำนำเต็มโควต้าเร็ว และกระทบกับเกษตรกรที่จะนำข้าวเข้ามาจำนำ นอกจากนี้ ได้รับแจ้งว่ามีบางโรงสีทำการสวมสิทธิเกษตรกร โดยนำข้าวของตัวเองเข้าสู่โครงการรับจำนำ เนื่องจากเกษตรกรบางรายนำข้าวมาจำนำไม่เต็มโควต้ารายละ 350,000 บาท โรงสีก็จะนำข้าวของตัวเองไปใส่ให้เต็มโควต้า แล้วแอบอ้างใช้ชื่อของเกษตรกร

การตรวจสอบพบว่า มีบางโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือ หากไม่วางเงินค้ำประกัน 70% ของข้าวที่รับจำนำ ก็ต้องซื้อข้าวจากเกษตรกรครึ่งหนึ่งของปริมาณที่รับจำนำ ซึ่งหากพิจารณาจากผลการรับจำนำข้าวจนถึงขณะนี้มีข้าวอยู่ในสต๊อครัฐบาลแล้วประมาณ 4 ล้านกว่าตัน และตามเงื่อนไขโรงสีต้องซื้อครึ่งหนึ่ง 2 ล้านตัน ข้าวก็น่าจะหมดจากท้องตลาดแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่ายังมีข้าวเหลืออยู่ในมือเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก กรมได้ข่าวว่าจะมีการตุกติกในโครงการรับจำนำข้าว จึงต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ และหาทางป้องกัน นายยรรยงกล่าว

สอบแทรกแซงผิดปกติ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย มติชน ว่า ผลจากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 โครงการแทรกแซงตลาดน้ำมันปาล์มดิบ ปี 2551/2552 และโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/2552 มีนายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานตามโครงการ และให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะการบริหารจัดการและมาตรการดำเนินงานต่อรัฐบาล นั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ล่าสุด ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ สรุปผลการตรวจสอบโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิด เพื่อนำเสนอให้นายกฯพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยผลการจัดทีมลงตรวจสอบในพื้นที่หลายจังหวัด พบความผิดปกติ ดังนี้

1.ปัญหาเกี่ยวกับการสวมสิทธิเกษตรกรและข้อบกพร่องในการปฏิบัติของผู้ประกอบการ อาทิ เกษตรกรแจ้งพื้นที่เพาะปลูกในการจดทะเบียนรับรองความเป็นเกษตรกรผู้ปลูกทั้งข้าวโพดและมันฯ เพื่อใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการ ไม่ตรงกับสถานภาพที่แท้จริง โดยในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ จ.กำแพงเพชร มีการประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ส่วน จ.กาฬสินธุ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีแล้ว

2.เกษตรกรในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ร้องเรียนว่า ลานมัน รับจำนำราคาต่ำกว่าราคาที่กำหนดและน้ำหนักในใบประทวนไม่ตรงกับใบชั่งน้ำหนัก

3.ใบชั่งน้ำหนักของโรงแป้งมันในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ มีการแก้ไขวันที่ เดือนที่รับจำนำเป็นเดือนถัดไปทำให้รัฐต้องเสียเงินเพิ่มตันละ 50 บาท ตามราคาที่กำหนดให้เพิ่มขึ้นแต่ละเดือน เบื้องต้นได้สั่งการให้แก้ไขและให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีการรายอื่นที่ดำเนินการลักษณะนี้หรือไม่

4.บางลานมันมีการหักน้ำหนักหัวมันสดจากปริมาณที่เกษตรกรนำไปจำนำ 20% ทุกราย หรือบางลานมันมีการหักเชื้อแป้ง 30% ทุกราย

พบช่องทางส่อให้ทุจริตเพียบ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการ จากการตรวจสอบพบปัญหาและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่เปิดทางให้มีการทุจริตหรือสวมสิทธิเกษตรกร คือ การรับรองความเป็นเกษตรกรที่ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้อง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทน 3 ฝ่าย ณ จุดรับจำนำ ขาดประสิทธิภาพ และปัญหาการจัดคิวให้เกษตรกร ที่ไม่เป็นธรรม และทั่วถึง เบื้องต้นสามารถสรุปได้ดังนี้ 1.การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับทราบไม่ทั่วถึง ทำให้ขาดความรู้ ความเข้าใจในหลักเกณฑ์วิธีการในการรับจำนำ 2.ลูกจ้าง อคส.ประจำหน่วยรับจำนำบางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจหลักเกณฑ์ขั้นตอนและวิธีการรับจำนำ และ 3.การกำหนดจุดรับจำนำน้อย ไม่สอดคล้องกับปริมาณการผลิตของพื้นที่และกำหนดช่วงระยะเวลาไม่เหมาะสมกับฤดูการเก็บเกี่ยว ผลผลิตแต่ละภาค

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนปัญหาการรับแจ้งข้อมูลการปลูกพืชและการรับรองความเป็นเกษตรกรไม่ถูกต้อง พบว่า เกษตรกรที่แจ้งพื้นที่เพิ่มมากกว่าที่แจ้งข้อมูลไว้ในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แจ้งว่าเช่าพื้นที่เพาะปลูก และอ้างว่า ไม่มีสัญญาเช่า โดยเจ้าหน้าที่ที่รับแจ้งและเจ้าหน้าที่ที่รับรองไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทุกพื้นที่ เนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินการโครงการจำกัด รวมถึงการรับแจ้งข้อมูลการปลูกพืชของเกษตรกรบางแห่งไม่ถูกต้อง เช่น ใช้เจ้าหน้าที่ธุรการเป็นผู้รับแจ้ง บางแห่งไม่ระบุตำแหน่งของผู้รับแจ้ง

ส่วนการปฏิบัติงานของผู้แทนเกษตรกร และข้าราชการ ที่จังหวัดแต่งตั้งประจำจุดรับจำนำ พบว่าไม่ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย เอกสารประกอบการรับจำนำไม่สมบูรณ์ เช่น ใบรับฝากหัวมันไม่ลงลายมือชื่อในเอกสาร ไม่ปรากฏชื่อเกษตรกรเจ้าของสินค้า เกษตรกรบางรายชั่งน้ำหนัก 7 ครั้ง โดยใช้รถบรรทุกหมายเลขเดียวกัน แต่ปรากฏว่าเวลาในการนำสินค้ามาชั่งแต่ละครั้ง ใช้เวลาในการขนสินค้าห่างกันเพียง 3-9 นาที ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ และการออกใบรับฝากก่อนการออกใบชั่งน้ำหนัก ซึ่งในทางปฏิบัติต้องชั่งน้ำหนักสินค้าก่อนออกใบรับฝาก แหล่งข่าวระบุ

เตรียมสรุปเสนอนายกฯป้องกัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดการวางแผนในการบริหารจัดการคิว ส่วนใหญ่ปล่อยให้ผู้ประกอบการหน่วยรับจำนำจัดคิวเอง ซึ่งการจัดคิวดังกล่าว จะจัดคิวให้กับผู้ใกล้ชิดหรือลูกค้าลูกหนี้ของผู้ประกอบการ หรือผู้มีฐานะดีก่อนเกษตรกรทั่วไป ทำให้เกษตรกรรายย่อยได้รับประโยชน์ไม่ทั่วถึงและเป็นธรรม ผู้นำมันฯมาจำนำบางราย มีฐานะดี ไม่ได้มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร เช่น เป็นบิดาผู้ประกอบการลานมัน หรือผู้ประกอบการรถบรรทุก เป็นต้น และบางลานมันกำหนดวิธีการให้เกษตรกรที่ไม่เป็นธรรมด้วย เช่นแม้เกษตรกรมาจำนำตามคิวถ้าปริมาณมันฯน้อยจะไม่รับฝาก แต่จะขอให้เกษตรกรกลับไปรวบรวมหัวมันสดให้ได้ขนาด 1 รถบรรทุก 6 ล้อ จึงจะรับจำนำ หรือกำหนดระยะเวลาจัดส่ง หากไม่จัดส่งได้ตามเวลาจะถูกตัดสิทธิ

ในการนำเสนอเรื่องต่อนายกฯครั้งนี้ นอกเหนือจากข้อมูลความไม่ชอบมาพากล ในการรับจำนำสินค้าเกษตร ทั้ง 3 ชนิด ที่ตรวจพบครั้งนี้ คณะกรรมการยังจะนำเสนอมาตรการและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ และการสวมสิทธิเกษตรกร อาทิ การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดโครงการ การแจ้งข้อมูลการปลูกพืชและการรับรองความเป็นเกษตรกร การบริหารจัดการโครงการ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานโครงการรับจำนำในอนาคตด้วย แหล่งข่าวระบุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook