ข่าวอาญชากรรมกับผลกระทบต่อสังคมและสิทธิมนุษยชน

ข่าวอาญชากรรมกับผลกระทบต่อสังคมและสิทธิมนุษยชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศิรัฐประภากรณ์ รัตนพานิช หมายเหตุมติชนออนไลน์ บทความนี้สรุปมาจากวิทยานิพนธ์หัวข้อ "กฎหมายอาญาเกี่ยวกับสื่อมวลชนในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ระดับปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2551 ตีพิมพ์ในรายการประจำปีของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในวาระครบรอบ 12 ปีซึ่งทางมติชนออนไลน์ได้ปรับปรุงชื่อเป็นบทความดังกล่าวข้างต้น

***************************

ปัจจุบันการแข่งขันกันในธุรกิจสื่อมวลชนมีสูง เน้นการแสวงหาข่าวด้วยความรวดเร็วสร้างจุดขายโดยการนำเสนอข่าวแบบเจาะลึก สร้างความตื่นเต้นชวนให้ผู้รับสารติดตาม เป็นผลให้ขั้นตอนการแสวงหาข่าวหรือเนื้อหาของข่าวที่นำเสนออาจกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอข่าวอาชญากรรม

สื่อมวลชนเน้นการนำเสนอรายละเอียดขั้นตอนของการประกอบอาชญากรรมแบบเจาะลึก เน้นการเปิดเผยโฉมหน้าของผู้กระทำผิดให้สาธารณะชนได้รับรู้ให้มากที่สุด ใช้ภาษาคำพูดในการนำเสนอที่น่าตื่นเต้นชวนให้ติดตาม หนังสือพิมพ์มีการพาดหัวข่าวด้วยถ้อยคำที่รุนแรงในบางครั้งเป็นการสร้างอารมณ์สาธารณะขึ้นจนมีการเข้ารุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา ในการนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายเป็นเด็กหรือเยาวชน

แม้จะมีกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในการห้ามเผยแพร่ภาพหรือเรื่องราวใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อเด็ก แต่ในบางครั้งก็ยังมีการกระทำที่ละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกิดขึ้น

จากที่กล่าวมาขอแยกพิจารณาปัญหาที่เกิดจากการนำเสนอข่าวอาชญากรรมของสื่อมวลชนออกเป็น 3 ประการ

ประการแรก ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญา

ผู้ต้องหาในคดีอาญาย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด

หลักการนี้ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก อย่างเช่นในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆในภาคพื้นยุโรปได้ยอมรับหลักการนี้โดยแจ้งชัดปรากฏตามอนุสัญญาของสภายุโรปเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (European Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms) ซึ่งประเทศไทยก็ได้ยอมรับหลักการดังกล่าวโดยบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเช่นเดียวกัน

การตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในบางกรณีผู้บริสุทธิ์อาจถูกกล่าวหาโดยมิชอบ ขณะเดียวกันผู้ที่แม้ได้กระทำความผิดจริงก็ยังอยู่ในฐานะมนุษย์อันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ หรือบุคคลผู้มีสิทธิในสังคม

การเผยแพร่ภาพผู้ต้องหาโดยไม่ได้รับความยินยอมย่อมก่อให้เกิดความเสียหายและในบางครั้งเกิดอันตรายแก่ผู้ต้องหาอย่างเช่น การถูกรุมทำร้ายโดยฝูงชน เนื่องจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงกระตุ้นอารมณ์สาธารณะ

อีกทั้งการเผยแพร่ภาพในลักษณะที่ผู้ต้องหาถูกเครื่องพันธนาการ เช่น กุญแจมือ โซ่ตรวน ผู้ต้องหาย่อมได้รับความอับอายและไม่ประสงค์ให้มีการเผยแพร่ภาพหรือเรื่องราวของตนออกไปเช่นนั้น และอาจมีผลถึงครอบครัวภรรยา และบุตร ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบอาชญากรรมแต่จำต้องได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิตในสังคม

กรณีผลกระทบต่อผู้เสียหาย ในส่วนของผู้เสียหายในคดีอาญา สื่อมวลชนมีการเผยแพร่ภาพผู้เสียหายโดยการสัมภาษณ์ถามย้ำถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมถึงการอธิบายขั้นตอนการประกอบอาชญากรรมโดยละเอียด

ในบางครั้งมีการนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาเผยแพร่นอกจากเป็นการกระทำความรุนแรงซ้ำซากต่อเหยื่อผู้เสียหายและบุคคลใกล้ชิดแล้ว การนำเสนอเรื่องราวข่าวอาชญากรรมบางกรณีมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีของผู้เสียหายในคดีอาญา อันเป็นการซ้ำเติมเพิ่มความเจ็บปวดทางจิตใจแก่ผู้เสียหาย

ตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวในคดีข่มขืน แม้สื่อมวลชนจะรายงานข่าวโดยไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายแต่บรรยายพฤติการณ์แวดล้อมหรือบรรยายชื่อ นามสกุล อาชีพและที่อยู่ของผู้ต้องหาซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้เสียหาย หรือในบางกรณีเป็นบุคคลในครอบครัวผู้เสียหาย ย่อมทำให้สาธารณชนโดยเฉพาะผู้ใกล้ชิดสามารถรู้ถึงตัวผู้เสียหายโดยง่าย

ประการที่สอง ผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

การนำเสนอข่าวอาชญากรรมของสื่อมวลชนอาจมีการนำเสนอทั้งข้อมูลที่เป็นความจริงและข้อมูลที่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นหรือข้อสันนิษฐานเบื้องต้น อาจมีทั้งข้อเท็จจริงบางส่วนอาจนำไปเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้และบางส่วนไม่สามารถรับฟังประกอบการพิจารณาได้

ดังนั้น ปัญหาสิทธิเสรีภาพในการพิมพ์หรือสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนกับความเที่ยงธรรมในการพิจารณาคดีอาญา (freedom of the press and fair trail) จึงเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง

ศาลสูงสหรัฐได้วินิจฉัยปัญหาระหว่างเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวคดีอาญากับความเที่ยงธรรมในการพิจารณาคดีอาญา ไว้ในคดี Irvin v. Dowd 366 U.S.717 (1961) และคดี Rideau V. Louisiana 393 U.S. 723(1963) โดยศาลสูงมีคำสั่งให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่เนื่องจากในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี โดยเหตุที่ว่า มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทำให้คณะลูกขุนไม่มีความเป็นอิสระในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดี

และจากการศึกษาวิจัยของ Padawer-singer and Barton , Alfred Friendly และ Ronald L. Goldfarb นักนิติศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ได้ยืนยันว่า การเสนอข่าวคดีอาญาของสื่อมวลชนก่อนการพิจารณาพิพากษาคดีได้ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดอคติขึ้นในจิตใจของคณะลูกขุน และยังเป็นการชี้นำความคิดเห็นของคณะลูกขุนและผู้พิพากษา กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความในคดีนั้นด้วย

ประการสุดท้าย ผลกระทบต่อสังคมในการลอกเลียนแบบอาชญากรรม

ผลการวิจัยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันได้แสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวอาชญากรรมโดยอธิบายขั้นตอนการประกอบอาชญากรรมโดยละเอียด ทำให้เกิดการทำตามจนกระทั่งเป็นการก่ออาชญากรรมแบบเดียวกันขึ้นซ้ำอีกโดยผู้ต้องหารายใหม่

ทั้งนี้ผู้ต้องหาในคดีหลังจะยอมรับว่า มีการลอกเลียนแบบมาจากข่าวที่นำเสนอผ่านช่องทางสื่อรูปแบบต่างๆ ซึ่งเหตุการณ์ในทำนองนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนซึ่งวุฒิภาวะยังน้อย สามารถซึมซับและเรียนรู้ได้รวดเร็วหากได้พบเจอข่าวในลักษณะที่มีความรุนแรงบ่อยครั้ง การนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่มีความรุนแรงอาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในสังคม

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงผลเสียหายที่ได้รับกับประโยชน์ที่ได้จากการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า สัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ต้องหาและผู้เสียหายรวมถึงสังคมโดยส่วนรวมมีมากกว่าประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้รับจากข่าว

ดังนั้นเพื่อป้องกันการเสื่อมทรามทางจิตใจและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนงผู้ต้องหาและผู้เสียหาย จึงสามารถออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและสิทธิในการรับรู้ของประชาชนในการนำเสนอและรับรู้ข่าวสารได้

อีกทั้งเมื่อพิจารณาข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดขึ้นโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและอาจถือเป็นข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของสื่อทุกประเภทด้วยนั้น ได้กำหนดข้อต้องปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพไว้ว่าการนำเสนอข่าวต้องนำเสนอเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่แต่งเติมเนื้อหาของข่าวจนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่สอดแทรกความคิดเห็นลงในข่าว

ในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส ในการเสนอข่าวต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาสนั้นไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

การพาดหัวข่าวหรือความนำต้องไม่เกินไปจากข้อเท็จจริงในข่าว ไม่เสนอภาพน่าหวาดเสียวโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณะชนอย่างถี่ถ้วน การแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ต้องให้ความเที่ยงธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงเสมอ เป็นการแสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนเองก็ตระหนักถึงความสำคัญในการนำเสนอภาพข่าวที่อาจกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของสังคมเช่นกัน

แต่ในทางความเป็นจริงภาพข่าวลักษณะดังกล่าวยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นภาพผู้ต้องหาที่ถูกใส่กุญแจมือถูกตำรวจจูงเดินไปในสถานที่ต่างๆ การเผยแพร่รายละเอียดของข่าวเป็นเหตุให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีและเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหาย ภาพอาชญากรรมที่น่าหวาดเสียว

รายการโทรทัศน์บางรายการในประเทศ มีการเชิญชวนให้ผู้ชมที่เห็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมหรืออาชญากรรมในขณะเกิดเหตุถ่ายคลิปวีดีโอแล้วส่งมาร่วมรายการเพื่อนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวออกสู่สาธารณะชนโดยอาจมีรางวัลให้แก่ผู้ที่ส่งคลิปวีดีโอมาร่วมรายการดังกล่าวด้วย จนในบางครั้งผู้ที่เห็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมหรืออุบัติเหตุไม่ได้คิดถึงการช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบภัยอยู่ในขณะนั้น แต่กลับให้ความสนใจกับการถ่ายภาพเหตุการณ์เพื่อนำมาร่วมรายการยิ่งกว่า

การนำเสนอดังกล่าวจึงเป็นการสร้างค่านิยมทางสังคมที่ผิดและสะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงแต่การขาดการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพในการนำเสนอภาพข่าวที่มีความรุนแรงตามแนวทางแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพเท่านั้นแต่ยังมีแนวโน้มในการสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ภาพดังกล่าวอีกด้วย

ประเทศฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศหนึ่งในโลกที่ให้ความสำคัญกับสื่อมวลชนสูง การขยายตัวของสื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อมวลชนอันดับหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพลเมืองฝรั่งเศส

แต่ในขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสก็ได้ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ของสื่อมวลชนโดยเคร่งครัดเช่นกัน ฝรั่งเศสมีสภาสูงว่าด้วยสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ทำหน้าที่ในการติดตาม ควบคุมสื่อมวลชนให้ดำเนินการตามจริยธรรมที่กำหนดไว้ กำกับดูแล ตรวจสอบ เป็นตัวแทนเจรจาการปกป้องประโยชน์ของสังคม ได้แก่ การดูแลด้านศีลธรรม สิทธิของผู้เยาว์และประชาชน รวมถึงมีอำนาจในการระงับ ยกเลิกการดำเนินงานของสถานีแต่ละแห่งทั้งเป็นการชั่วคราวและถาวรด้วย

นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายสำคัญที่มีผลต่อการทำงานของสื่อมวลชนหลายฉบับ โดยเฉพาะการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้ถูกนำเสนอ การปกป้องผู้เยาว์ การรายงานข่าวที่ส่งผลกระทบต่อผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญา

พระราชบัญญัติที่สำคัญได้แก่ พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการพิมพ์ได้ Loi du 29 juillet 1881 sur la libertรฉ de la presse ซึ่งมีการแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อ วันที่ 22มกราคม พ.ศ. 2552 มีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญาสองมาตรากล่าวคือมาตรา 35 ตรี บัญญัติห้ามมิให้สื่อมวลชนหรือผู้ใดเผยแพร่ภาพหรือเรื่องราวอื่นใดของผู้ต้องหาที่ถูกใส่กุญแจมือหรือถูกขังอยู่ในระหว่างพิจารณาผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 15,000 ยูโร เว้นแต่จะได้รับความยินยอมของผู้ต้องหา

นอกจากนี้ในมาตราดังกล่าวยังห้ามมิให้สื่อมวลชนเผยแพร่แสดงความเห็นหรือทำผลสำรวจเกี่ยวกับความผิดของผู้ต้องหา เช่น ทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าผู้ต้องหากระทำความผิดหรือไม่ หรือการกระทำของผู้ต้องหาสมควรได้รับโทษแค่ไหน รวมถึงห้ามมิให้ผู้ใดสนับสนุนเปิดเผยวิธีการที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นหรือเข้าไปดูผลโหวตในการทำผลสำรวจด้วย และในมาตรา 35 จัตวา ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองผู้เสียหายในคดีอาญา โดยบทบัญญัติดังกล่าวห้ามการเผยแพร่ด้วยวิธีใดหรือทำซ้ำซึ่งเหตุการณ์อาชญากรรมใดซึ่งการเผยแพร่หรือการทำซ้ำกระทบกระเทือนศักดิ์ศรีของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 15,000 ยูโร

นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติลงโทษเกี่ยวกับการยั่วยุให้เกิดอาชญากรรมในมาตรา 23 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยบัญญัติให้การนำเสนอข่าว ไม่ว่าในรูปสื่อสิ่งพิมพ์หรือนำเสนอทางสื่อมวลชนในรูปแบบอื่น หากการนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวเป็นการยั่วยุให้เกิดอาชญากรรมขึ้น และหากมีการก่ออาชญากรรมขึ้นจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตหรือเป็นอันตรายและทำให้เสื่อมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลใด ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 45,000 ยูโร ซึ่งกฎหมายในส่วนนี้จะมีความคล้ายคลึงกับเรื่องการเป็นผู้ใช้ในประมวลกฎหมายอาญา

แต่ในเรื่องของผู้ใช้นั้นสื่อมวลชนอาจยกเรื่องการนำเสนอข่าวตามหน้าที่ขึ้นอ้างว่าไม่ได้กระทำโดยเจตนาเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญา

ประเทศฝรั่งเศสนับได้ว่าเป็นประเทศต้นแบบในการรับรองสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ( La dรฉclaration des droits de lฒhomme et du citoyen ) ได้ยอมรับการมีอยู่ของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ซึ่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าวหมายความรวมถึง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด และสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน การรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้มีอิทธิพลและถือเป็นหัวใจสำคัญในการเป็นต้นแบบการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในเวลาต่อมา

เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของฝรั่งเศสแล้วพบว่า ในประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่มีโทษทางอาญาในการคุ้มครองการนำเสนอภาพความรุนแรงอันเป็นการยั่วยุให้เกิดอาชญากรรม

ส่วนในเรื่องการคุ้มครองผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญาจากการนำเสนอภาพหรือเรื่องราวของสื่อมวลชนพบว่า ประเทศไทยปัจจุบันมีกฎหมายที่ห้ามเผยแพร่ภาพผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายในคดีอาญาอยู่ 4 ฉบับ ได้แก่

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่ื่อพิจารณาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เห็นได้ว่า คุ้มครองการเผยแพร่ภาพหรือเรื่องราวของผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายครอบคลุมเฉพาะผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กหรือเยาวชนเท่านั้น

ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองเฉพาะผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในการกระทำความผิดอาญาที่เกี่ยวกับข้องกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มุ่งคุ้มครองผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เท่านั้น

ในปัจจุบันจึงยังไม่มีบทกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและผู้เสียหายโดยทั่วไปที่อาจได้รับความเสียหายเช่นกัน

ดังนั้น แม้ประเทศฝรั่งเศสจะเป็นต้นแบบของการยอมรับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ก็ได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและสังคมที่จะ ต้องได้รับการคุ้มครองยิ่งกว่า

เมื่อประเทศไทยได้รับต้นแบบในการรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวจึงควรศึกษาถึงขอบเขตการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วย จากการศึกษากฎหมายทั้งภายในประเทศและกฎต่างประเทศแล้วจึงมีเสนอแนะดังต่อไปนี้

ประการแรก ให้มีการบัญญัติกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญา จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน โดยศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการพิมพ์ของฝรั่งเศส Loi du 29 juillet 1881 sur la libertรฉ de la presse เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายให้มีความเหมาะสมกับการบังคับใช้ในประเทศไทยต่อไป เพื่อให้มาตรการทางอาญาเป็นหนทางที่จะคุ้มครองผู้ที่จะต้องถูกนำเสนอข่าวโดยมิชอบของสื่อมวลชน แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่เคยมีผู้ถูกลงโทษตามกฎหมายที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองบุคคล เช่น เด็ก หรือเยาวชน จากการนำเสนอเรื่องราวของสื่อมวลชน

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อมวลชนได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญและพยายามหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอข่าวที่อาจละเมิดกฎหมายแม้จะยังปรากฏการกระทำความผิดอยู่บ้างตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ก็ตาม

ประการที่สอง ควรประชาสัมพันธ์ให้สื่อมวลชนและประชาชนได้ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่สื่อมวลชนที่กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่เพื่อเป็นตัวอย่างและเมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลก็นำออกเผยแพร่สู่สาธารณะชน

ประการที่สาม จัดให้มีองค์กรทำหน้าที่ดูแลปกป้องสิทธิของผู้เสียหายจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างเช่นในประเทศฝรั่งเศสมีสภาสูงว่าด้วยสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ทำหน้าที่ในการติดตามควบคุมสื่อให้ดำเนินการตามจริยธรรมที่กำหนดไว้ ทั้งในด้านการบริหารจัดการคลื่นโทรทัศน์ กำกับดูแล ตรวจสอบ เป็นตัวแทนเจรจาการปกป้องประโยชน์ของสังคม ได้แก่ การดูแลด้านศีลธรรม สิทธิของผู้เยาว์และประชาชน รวมถึงมีอำนาจในการระงับ ยกเลิกการดำเนินงานของสถานีแต่ละแห่งทั้งเป็นการชั่วคราวและถาวรด้วย

อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนมีหน้าที่นำเสนอข่าวสารข้อมูลต่อสาธารณะชนรวมทั้งภารกิจอื่นอีกหลากหลายด้านซึ่งในบางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น การนำกฎหมายอาญาทั้งในส่วนของกฎหมายสาระบัญญัติและวิธีสบัญญัติมาใช้บังคับจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิประโยชน์ของสาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นกับสิทธิส่วนบุคคลที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย หากเมื่อเทียบกันแล้วประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับรู้ข่าวสารในเรื่องนั้นมีมากกว่า

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงสมควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย มิฉะนั้นแล้วสื่อมวลชนจะไม่กล้าทำหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยเกรงว่าจะต้องได้รับโทษทางอาญา

ดังนั้น แม้การนำกฎหมายอาญามาใช้แก่สื่อมวลชนยังมีความจำเป็นอยู่ในหลายด้าน แต่การบัญญัติข้อยกเว้นความรับผิดเฉพาะแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นสื่อมวลชนรวมถึงกฎหมายวิธีสบัญญัติที่เป็นธรรมแก่ทั้งสื่อมวลชนเองและผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นการเฉพาะย่อมมีความจำเป็นและเป็นหลักประกันการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็ได้รับการรับรองและคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้สิ่งสำคัญของการแก้ไขปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือการส่งเสริมการวิจัยที่เกี่ยวกับทัศนคติและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน ตลอดจนการวิจัยเชิงปฏิบัติการและการวิจัยแบบมีส่วนร่วมควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากสื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อตระหนักถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้สื่อมวลชนคงความมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารสู่สาธารณชนโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมไปพร้อมๆกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook