''เศรษฐพร''การันตี ไตรมาสสามเปิดประมูล มือถือ 3G

''เศรษฐพร''การันตี ไตรมาสสามเปิดประมูล มือถือ 3G

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ในย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ภายในต้นเดือนมกราคม 2553

ดูเหมือนว่าคำประกาศดังกล่าวจะสวนทางกับแนวความคิดของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ออกมายืนยันว่าการประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G นั้นจะเริ่มต้นประมูลได้ภายในไตรมาสที่สามของปีนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ สำนักงาน เลขาฯ กทช.กับ คณะกรรมการ กทช. มีความขัดแย้งระหว่างกันหรือไม่นั้น

มาอ่านคำตอบบรรทัดถัดจากนี้จากกรณีที่ ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช. เกี่ยวกับรายละเอียดและแผนการประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G

*** ตกลงมือถือ 3G จะประมูลได้เมื่อไหร่

ไตรมาสที่สามของปีนี้อย่างแน่นอนและจะไม่มีการเลื่อนประมูล

*** แต่เลขาฯ(สุรนันท์ วงศ์วิทยะกำจร) บอกว่าเปิดประมูลภายในเดือนมกราคม 2553

ผมไม่ทราบ...แต่ท่านบอกว่าสิ่งที่ท่านพูดไม่เป็นอย่างนั้นความจริงแล้วเรื่องนี้จะต้องเปิดประมูลภายในไตรมาสที่สามคือประมาณเดือนกันยายนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ท่านเลขาฯพูดออกไปนั้นเป็นการคาดการณ์ของท่านเองเพราะเรื่องนี้เราได้ว่าจ้างบริษัท เนร่า จากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและวิเคราะห์ในเรื่องนี้

***ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกัน

ไม่มี...ท่านประธาน(พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์) ได้บอกว่าการให้ข่าวควรจะระมัดระวังและการให้ข่าวคลาดเคลื่อนเข้าใจผิดก็จะมีการทำข่าวชี้แจงออกไปเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

***แผนงานหลังจากนี้

กทช.ได้ว่าจ้างบริษัท เนร่า จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษากำหนดเกณฑ์การ

สำหรับเงื่อนไขสัญญาว่าจ้างกำหนดระยะเวลา 4 เดือนภายหลังจากเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ ในวงเงิน 27 ล้านบาท เชื่อว่าจะเปิดประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Auction) และกำหนด เงื่อนไขต่างๆในการประกวดราคา ซึ่งในกรอบสัญญาภายใน 1 เดือนจะต้องทำให้แล้วเสร็จ เมื่อทาง เนร่า กำหนดโมเดลออกมาเป็นรูปร่างแล้วจะต้องนำเข้ามาเสนอต่อคณะกรรมการ กทช. ภายใน 1-2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้ทางบริษัท เนร่าฯ ในฐานะที่ปรึกษาจะต้องเริ่มกระบวนการทำงานทั้งหมดทั้งในเรื่องของการเผยแพร่เป็นรูปแบบยังไง กระบวนการต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีคิดในการตัดสินใจในการทำโมเดลครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม การประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ระบบซอฟต์แวร์ก็จะประมูลด้วย ภายใน 1 เดือนคือสิ้นเดือนกรกฎาคมทางบริษัทที่ปรึกษาจะต้องนำมาเสนอต่อคณะกรรมการ กทช.ภายในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม และ ภายในกลางเดือนสิงหาคม ทางสำนักงาน กทช.ก็จะทำการประกาศเชิญชวนให้กับเอกชนที่มีความสนใจที่ต้องการเข้ามาประกวดราคา โดยในประกาศเชิญชวนจะระบุว่าคลื่นความถี่ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ที่เปิดประมูลมีทั้งหมดกี่เมกะเฮิรตซ์ โดยตามกฎระเบียบนั้น กทช.จะต้องประกาศเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์เราคิดว่าหากกรอบรายละเอียดทั้งหมดแล้วเสร็จก็ประกาศเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์ไปล่วงหน้าก่อนก็ได้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์

ดังนั้นเราตั้งใจว่าหากไม่มีอุปสรรคภายในเดือน พฤศจิกายน จะทำการเปิดประมูลให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน หรือ 7 วันเรื่องนี้ยังไม่สรุป หรือ อาจจะมีวิธีว่าเปิดประมูลทีเดียว 4 รายเลยดีไหมหรือทำวันเดียวจบ เราต้องดูความเหมาะสมเพราะคลื่นความถี่ไม่เท่ากัน (หมายเหตุ; การจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 45 เมกะเฮริตซ์ แบ่งให้ผู้ประกอบการจำนวน 3-4 รายจำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ และ 15 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 1 ราย)

*** ทำไมคิดว่าจะมีอุปสรรค

ที่บอกไปว่ามีอุปสรรคใหญ่ก็คือ กทช.ใหม่ (หมายเหตุ; กทช.ใหม่อยู่ระหว่างการสรรหาเนื่องจากตามกฎหมาย กทช.ทำงานครบวาระ 3 ปีต้องจับสลากออก 3 ใน 7 แต่มีผู้ลาออกเพิ่ม 1 คน)เกิดขึ้นมาจังหวะนี้พอดีและมีผู้สมัครใหม่เข้ามาทดแทนกรรมการที่จับสลากลาออกและแสดงความจำนงลาออกจำนวน 4 คน ดังนั้นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อตรงนี้จะทำให้แผนงานล่าช้าออกไปอีกหนึ่งเดือนหรือเปล่า

*** แล้วคิดว่าจะทันตามกรอบเดิมหรือไม่

เราตั้งใจจะเปิดประมูลให้ทันภายในไตรมาสที่สาม แต่ไม่รู้ว่าจะทันหรือไม่เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวกระบวนการสรรหา กทช. ทำให้ระยะเวลาตรงกันพอดี ดังนั้นขึ้นอยู่กับการเมือง

**** การประมูลคลื่นทำไมแบ่งย่านความถี่เท่ากันทั้งหมด

ผมเป็นคนเดียวที่บอกว่าให้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 4 รายให้เท่ากันทั้งหมดส่วนอีก 5 เมกะเฮิรตซ์ค่อยจัดสรรเพิ่มเติมในรายที่จำเป็น หรือ ให้ใบอนุญาต (license) ให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่นสักรายได้รับคลื่นไปบริหารจัดการซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ โดยในหลักการกทช. จะจัดสรรคลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์ให้ผู้ประกอบการจำนวน 3 รายเท่ากันหมดแต่คณะกรรมการ กทช. มีความเห็นตรงกันว่าควรจะเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการรายใหม่จำนวน 1 รายและรายเก่าจำนวน 3 ราย

***การออกใบอนุญาตใหม่ทำให้ ทีโอที และ กสทสูญเสียผลประโยชน์

เมื่อมีการเปิดประมูลจำนวนเงินทั้งหมดส่งให้รัฐบาลไม่ได้อยู่ที่ กทช. เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะคิดชดเชยให้กับ ทีโอที (บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กสท (บริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) อย่างไร เพราะทั้งสองหน่วยงานได้รับค่าสัมปทานจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่

*** ค่าใบอนุญาต 3G เริ่มต้นที่ 5,000 ล้าน

ยังไม่ได้ตัดสินสุดท้าย การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้เราอยากให้เกิดการไหลเวียนเงินทุนในประเทศ ในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย กทช.ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม

**** การจัดตั้งคณะกรรมการบรอดแบนด์

เนื่องจาก คณะกรรมการ กทช.ได้ร่วมมือกับศ. เครก วอเรน สมิธ ผู้เชี่ยวชาญบรอดแบนด์ของสหรัฐอเมริกา หนึ่งในคณะทำงานบรอดแบนด์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน(Meaningful working group) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้ประกอบการจำนวน 5 ราย คือ เอไอเอส , ดีแทค,ทรู,ทีโอที และ กสท เพื่อทำวิจัยและกำหนดแผนบรอดแบนด์ในประเทศไทย เพื่อวางแนวทางจัดทำเอกสารเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 3 เดือนนับจากนี้ (2 กรกฎาคม 2552) เพื่อยื่นเอกสารเรื่องการนำบรอดแบนด์มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในประเทศ โดยเบื้องต้นจะเน้นการพัฒนาแอพพลิเคชันด้านการศึกษาและสาธารณสุข นโยบายสำคัญในการพัฒนาบรอดแบนด์ในประเทศไทยนั้นต้องประกอบด้วยราคาการบริการที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ของประชากรจำนวน 28 ล้านคนมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook