เปิด 4 ทิศทางแก้ปัญหาภาคใต้สู่ความยั่งยืน ชี้ชัด รัฐต้องไม่ปิดกั้นการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ

เปิด 4 ทิศทางแก้ปัญหาภาคใต้สู่ความยั่งยืน ชี้ชัด รัฐต้องไม่ปิดกั้นการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสัมมนา การเมืองต้องนำการทหาร: ทิศทางการแก้ปัญหาภาคใต้สู่ความยั่งยืน โดยสำนักสันติวิธีและ ธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิเอเชีย ในช่วงปลายเดือนที่แล้ว ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่าการสัมมนาครั้งนี้ ได้ข้อสรุป 4 ประการ ดังนี้

1. สังคมไทยส่วนใหญ่จะต้องเข้าใจในปัญหาภาคใต้และอัตลักษณ์ที่แตกต่าง เกิดทัศนคติที่เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและคุณค่าความเป็นคนของทุกเชื้อชาติด้วยจินตนาการใหม่แห่งความเป็นไทย สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม

2.การปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องทำให้คนพื้นที่อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี สามารถรักษาอัตลักษณ์ (Identity) ของตนได้ มีการกระจายอำนาจสู่ชุมชนให้มีอิสระในการดูแลวิถีชีวิตของตัวเอง (Autonomy) ผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (Integration) ซึ่งเป็นรูปธรรมหนึ่งของการใช้การเมืองนำการทหาร

3.ภาคส่วนต่างๆควรมาร่วมสร้างภาคีเครือข่ายสันติภาพ (PeaceNet) เพื่อเป็นกลไกสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การใช้สันติวิธีและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน แม้การเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม แต่ภาคีนี้จะสามารถคงอยู่ต่อเนื่องไป

4. รัฐไม่ปิดกั้นการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ (Peace Talks) แต่จะต้องไม่ใช่การเจรจาและไม่ยกระดับปัญหาไปสู่นานาชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาภายในประเทศ ทั้งนี้ หากเป้าหมายของผู้ก่อความไม่สงบคือการแก้ไขคุณภาพชีวิตและการอยู่ในสังคมไทยโดยไม่ถูกบีบคั้นหรือสูญเสียอัตลักษณ์ของตน ก็น่าจะพูดคุยกันได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook