วัฒนธรรม และ การศึกษา

วัฒนธรรม และ การศึกษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ทันทีที่ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ไอโอซี มีมติเอกฉันท์โหวตให้ สิงคโปร์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนโอลิมปิกครั้งแรก ยูธ โอลิมปิกเกมส์ ขึ้นในปี ค.ศ. 2010 นั้น สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย โอซีเอ ก็ไม่รอช้าที่จะเดินตามลูกพี่ใหญ่ด้วยการมอบให้ เกาะลอดช่อง เป็นเจ้าภาพจัด เอเชี่ยน ยูธเกมส์ ครั้งที่ 1 ตามทันที

ซึ่งการสวมวิญญาณเป็น เสือปืนไว ของ โอซีเอ ครั้งนี้ ดูเหมือนจะได้รับเสียงขานรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี เพราะเท่ากับว่า โอซีเอ ได้เริ่มนับ 1 ไปพร้อม ๆ กับ ไอโอซี นั่นเอง

เป้าหมายหลักของ ไอโอซี ในการริเริ่มให้มี ยูธ โอลิมปิกเกมส์ ก็เพราะเล็งเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชน ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เนื่องจากในปัจจุบัน เยาวชนจากทั่วโลก ต่างถูกอบายมุขและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษเล่นงานอย่างหนัก ขณะที่การแข่งขันกีฬาในปัจจุบันก็มุ่งแต่เอาชนะ จนลืมวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกีฬาไปแล้ว ซึ่งใน ยูธ โอลิมปิกเกมส์ นอกจากจะมีการแข่งขันกีฬาในลักษณะเดียวกับโอลิมปิกเกมส์ของผู้ใหญ่แล้ว สิ่งที่เน้นมากกว่านั้นก็คือการจัดโปรแกรมทางวัฒนธรรมและการศึกษา

เช่นเดียวกับ เอเชี่ยน ยูธเกมส์ ทางเจ้าภาพได้มีการประสานไปยังชาติสมาชิกทั่วเอเชียกว่า 45 ประเทศ โดยมอบหมายให้โรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของตนเอง ติดต่อประสานงานระหว่างกันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของแต่ละชาติ ล่วงหน้าเป็นเวลากว่า 6 เดือน จากนั้นจึงนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาเปิดบูธจัดแสดงเป็นนิทรรศการในระหว่างการแข่งขันครั้งนี้ นั่นเอง

การออกบูธที่แต่ละชาติจะมีเวลาในการนำเสนอขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของตนเองประมาณ 2-3 วัน นั้น บรรยากาศถือว่ายอดเยี่ยมมาก แม้ว่าแต่ละชาติจะนำเสนอได้ในเวลาจำกัดและไม่ครบถ้วนนัก แต่ก็ได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ และเยาวชนทั้งจากสิงคโปร์และนักกีฬาเยาวชนต่างชาติที่มาร่วมแข่งขันในครั้งนี้

รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต รองหัวหน้าคณะนักกีฬาไทย บอกว่า ไทย กับ สิงคโปร์ ได้เริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว โดย โรงเรียนแฝด ที่ร่วมนำร่องของไทย ได้แก่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กับ โรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี ที่แลกเปลี่ยนกับ 2 โรงเรียนของสิงคโปร์ได้แก่ ริเวอร์ วัลเลย์ ไฮสคูล กับ จูล่ง ดิสมารี่ สคูล

ภาพรวมจากการประเมินของตนเองมองได้ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เป็นมุมมองที่มีต่อนักกีฬาต่างชาติทั้ง 90 โรงเรียน จาก 45 ชาติ ถือว่าโครงการนี้สอบผ่านเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะสามารถกระตุ้นเด็กที่มาร่วมให้เข้าใจในหลักการของโอลิมปิกสากลได้เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดเจนว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นในบูธต่าง ๆ นั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และการที่สิงคโปร์เอาจริงเอาจังกับโครงการนี้ จึงทำให้เด็ก ๆ ของพวกเขาได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ

ส่วนที่ 2 คือ มุมมองที่มีต่อนักกีฬาไทย ต้องยอมรับว่า เด็กของเราเข้าถึงโครงการนี้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัจจัยหลักน่าจะมาจากการที่มุ่งมั่นกับการแข่งขันจนเกินไป บวกกับเวลาไม่เอื้ออำนวยแข่งเสร็จก็ต้องเข้านอนพักผ่อนเอาแรงไว้สู้กันต่อ นอกจากนี้เด็กไทยยังเสียเปรียบเรื่องของการสื่อสารภาษาอังกฤษ และยังขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก เมื่อพูดไม่ได้ก็เลยไม่อยากจะไปเข้าร่วม ซึ่งจุดนี้ก็อยากจะฝากไปเป็นการบ้านให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปทบทวนเพื่อเตรียมความพร้อมในโอกาสต่อไปด้วย

อ.สุพิตร บอกด้วยว่า หลังจากนี้จะเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการแข่งขันเอเชี่ยน ยูธ เกมส์ ครั้งนี้ นำเสนอต่อคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เพื่อขออนุมัติจัดโครงการ โอลิมปิก ยูธแคมป์ เตรียมความพร้อมให้กับนักกีฬาเยาวชนของไทย ที่ได้โควตามาร่วมแข่งขัน ยูธ โอลิมปิกเกมส์ ในปีหน้า โดยคาดว่าจะคัดเลือกเยาวชนประมาณ 40 คน เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 1 คืน 2 วัน ส่วนสถานที่นั้นมองไว้ที่ จ.กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี หรือ กำแพงแสน จ.นครปฐม

โครงการ โอลิมปิก ยูธแคมป์ ที่เรากำลังจะเสนอนั้นถือว่าเป็นประโยชน์ต่อนักกีฬาของเราอย่างมาก เพราะการที่เรานำเด็ก ๆ มาทำกิจ กรรมร่วมกัน สอนหลักการที่แท้จริงของโอลิมปิก มูฟเม้นท์ จะทำให้พวกเขาเข้าใจหลักการของโอลิมปิกอย่างแท้จริง รวมทั้งจะเข้าใจและสามารถใช้ชีวิตในต่างประเทศช่วงระยะเวลาที่ต้องไปแข่งขันได้อย่างไม่มีปัญหา เราจะเน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษแบบง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากเพื่อให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจได้ง่าย รศ.ดร.สุพิตร กล่าวในที่สุด

กีฬาเมื่อแข่งเสร็จ ทุกอย่างก็จบตามไปด้วย แต่กับโครงการทางด้านวัฒนธรรมและภาษา ที่ ไอโอซี ได้คิดค้นมานี้ ไม่ได้จบตามเกมที่ยุติลงไป คุณค่าและความประทับใจจะถูกเก็บไว้ในความทรงจำของเด็ก ๆ ทุกคน ตลอดไป นั่นต่างหากที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของ บารอน ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตงค์ บิดาแห่งโอลิมปิกสมัยใหม่ ที่อยากเห็นมันเกิดขึ้น หาใช่ชัยชนะจอมปลอม ที่มาจากการมุ่งแต่จะแย่งชิงกันและเกิดขึ้นอยู่กับสังคมกีฬาในทุกวันนี้.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook