นั่งร้านถล่ม

นั่งร้านถล่ม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ เลาะรั้ว

นายช่าง

ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ เรื่องนั่งร้านถล่ม คนงานบาดเจ็บก็เกิดขึ้นอีก

นอกจากเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ แล้ว ที่ซ้ำซากต่อมาก็คือ พอนั่งร้านถล่มเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ นายช่าง นายตรวจ ก็ให้ข่าวว่าจะต้องไปตรวจดูว่า ก่อสร้างผิดแบบหรือเปล่า

นั่งร้านถล่มก็เป็นเรื่องของนั่งร้านถล่ม จะเอาผิดกันก็ไปเอาผิดที่ผู้อำนวยการก่อสร้าง ผู้รับจ้างเหมา สถาปนิก วิศวกรผู้ควบคุมงาน เพราะกฎหมายควบคุมอาคารบัญญัติว่าถ้ามีความผิดในเรื่องใดใครจะรับผิดชอบ

ถ้าไปดูประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 จะบัญญัติไว้ชัดเจนว่า

ผู้ใดเป็นผู้มีวิชาชีพควบคุมหรือทำการก่อสร้างซ่อมแซมรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างใด ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เรื่องที่เกิดเหตุนั่งร้านถล่มก็ชัดเจนอยู่แล้ว ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำอย่างไร ก็มีบทบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร แทนที่จะดำเนินการไปตามข้อกำหนดกฎหมายกลับจะต้องไปตรวจดูว่าอาคารสร้างผิดแบบหรือไม่

การจะไปตรวจดูว่าอาคารสร้างผิดแบบหรือไม่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคารก็บัญญัติชัดเจนอยู่แล้วว่า ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น นายช่าง นายตรวจ ของรัฐเข้า ไปตรวจดูแลการก่อสร้างอาคารได้ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นหรือจนพระ อาทิตย์ตกได้ตลอดเวลาที่ก่อสร้าง ถ้าก่อสร้างผิดแบบแต่ยังไม่ผิดข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือกฎกระ ทรวงก็สั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน ถ้าไม่แก้ไขก็สั่งรื้อถอน ระงับการก่อสร้างได้

เรื่องที่จะต้องทำไม่ทำ จะไปตรวจเฉพาะเมื่อมีเหตุแล้วมันก็ไม่ได้เรื่องไม่ได้ความ เพราะถ้าไม่มีเหตุก็ไม่ต้องตรวจ

ข้อสำคัญคือ ไปตรวจไม่ใช่ไปตบ การก่อสร้างอาคารในบ้านในเมืองมันจะได้ไม่มีปัญหา ผิดกันทั่วไปหมดตั้งแต่เชียงรายยันปัตตานี

เพราะไม่ตั้งใจจะทำอะไรให้ถูกต้องตามกระบวนการทั้งทางกฎหมาย ทางปฏิบัติ อาคารบ้านเรือนในประเทศเราจำนวนมากถึงได้เต็มไปด้วยอาคารทัศนะอุจาดอย่างนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook