เชียงใหม่วัดร้างอื้อขาดพระจำพรรษา

เชียงใหม่วัดร้างอื้อขาดพระจำพรรษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เชียงใหม่วัดร้างอื้อ ชาว พุทธตกใจ ไปทำบุญวัน อาสาฬหบูชาวันเข้าพรรษา บางวัดไม่เห็นพระ-เณรแม้แต่รูปเดียว โดยเฉพาะตามอำเภอรอบนอกเมือง ผอ.สำนักฯพระพุทธศาสนาเชียงใหม่ยอมรับหลายวัดไม่มีพระ-เณรจำพรรษาจริง จากการสำรวจพบว่า 32 วัดไม่มีพระ-เณร 336 วัดมีพระเพียง 1 รูป 226 วัด มีพระ-เณรแค่ 2 รูป บางวัดต้องให้ชาวบ้านดูแล

เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 10 ก.ค. หลังวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2552 ผ่านมาได้เพียงวันเดียว มีข้อสังเกตจากพุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่ที่ไปตระเวนทำบุญถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝนตามวัดอำเภอรอบนอก แจ้งผู้สื่อข่าวว่า จากการพาครอบครัวไปทำบุญตามวัดต่างๆ และสำนักสงฆ์อำเภอรอบนอกของจ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค.ผ่านมา พบว่าบางวัดปิดเงียบไม่มีพระหรือเณรจำพรรษาแม้แต่รูปเดียว จึงเข้าใจว่าจะจำวัดหรือมีกิจนิมนต์ บางวัดสอบถามชาวบ้านทราบว่า ไม่มีพระอยู่หลายเดือนแล้ว กลายเป็นวัดร้างไป และคณะสงฆ์สังฆาธิการก็ไม่ได้จัดส่งพระมาจำพรรษา เป็นที่พึ่งพิงให้ชาวบ้านได้ทำบุญและปฏิบัติธรรมในระหว่างพรรษา

นายจำลอง กิติศรี ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีพุทธศาสนิกชนตั้งข้อสังเกตว่า วัดและสำนักสงฆ์ในพื้นที่อำเภอรอบนอกของจ.เชียงใหม่หลายแห่งไม่มีพระจำพรรษา ว่า เป็นความจริง บางวัดไม่มีพระอยู่จำพรรษาในปีนี้ เพราะจำนวนพระภิกษุสามเณรลดลง ซึ่งมีแนวโน้มลดลงติดต่อกันหลายปีแล้ว เนื่องจากผู้บวชใหม่ลดลงมาก เยาวชนที่จะเข้าบวชลดลงแม้จะมีการรณรงค์อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

จากการสำรวจของสำนักงานพระพุทธศาสนา จ.เชียงใหม่ ไม่มีพระจำวัดอยู่เลยถึง 32 วัด และมีพระดูแลอยู่เพียง 1 รูป จำนวน 336 วัด มีพระและเณรอยู่ 2 รูป และจำนวน 226 วัดมีพระและเณรอยู่แค่ 2 รูป ขณะนี้หลายๆ วัดต้องให้ชาวบ้านดูแลแทน เนื่องจากไม่มีพระ นายจำลอง กล่าว

ด้านพระพุทธสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดล้านนาญาณสังวราราม อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และเจ้าคณะจ.เชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต) กล่าวว่า จำนวนพระภิกษุสามเณรในปกครองทั้ง 3 จังหวัดลดลงจริง บางวัดมีพระอยู่รูปเดียว บางวัดไม่มีพระอยู่เลย ทั้งนี้ในปี 2552 สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.เชียงใหม่ ระบุว่า มีวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 738 วัด มีสำนักสงฆ์ 521 แห่ง รวม 1,259 แห่ง และยังมีที่พักสงฆ์ ตามหมู่บ้านในชนบทห่างไกลอีก 469 แห่ง ทั้งหมดเป็นวัดและสำนักสงฆ์คณะมหานิกาย 1,222 แห่ง ธรรมยุต 37 แห่ง ที่พักสงฆ์ของมหานิกาย 374 แห่ง และธรรมยุต 95 แห่ง ส่วนใหญ่พบว่าที่ร้างมากที่สุดเป็นที่พักสงฆ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook