Lecturing Birds on Flying โดย Pablo Triana

Lecturing Birds on Flying โดย Pablo Triana

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในเมื่อวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2009 ได้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปี ก็ไม่น่าแปลกใจที่หนังสือจำนวนมากที่มุ่งอธิบายต้นตอของวิกฤตกำลังทยอยลงแผงอย่างไม่ขาดสาย ผู้เชี่ยวชาญบางคนมุ่งฉายภาพ มุมสูง ให้เราเห็นเหตุปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนก่อวิกฤต ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่งก็มุ่งส่องไฟ ลงลึก ในรายละเอียดของประเด็นใดประเด็นหนึ่ง

ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญประเภทหลัง มีไม่กี่คนที่หนังสือของพวกเขาทรงพลังถึงขั้นสั่นคลอนกระบวนทัศน์เลยทีเดียว ผู้เขียนเคยแนะนำผลงานของ Nassim Taleb, George Soros, และ Robert Shiller ไปแล้ว วันนี้ก็ได้เวลาแนะนำหนังสือของ Pablo Triana ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งที่กำลัง ขบถ ต่อธรรมเนียมปฏิบัติในโลกการเงินและวิชาการเงินอย่างน่าลุ้นระทึกอย่างยิ่ง

Pablo Triana นำประสบการณ์มหาศาลในวงการตราสารอนุพันธ์ ทั้งในฐานะนักค้ามืออาชีพ อาจารย์ผู้แต่งตำราขายดีชื่อ Corporate Derivatives ที่ปรึกษาองค์กร และนักเขียนรับเชิญประจำสื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่ อาทิ หนังสือพิมพ์ Financial Times เว็บไซต์ Forbes.com และนิตยสาร Risk มาถ่ายทอดเป็นหนังสือเรื่อง Lecturing Birds on Flying ที่โปรยปกด้วยคำถามน่าสนใจว่า ทฤษฎีคณิตศาสตร์สามารถทำลายล้างตลาดการเงินได้หรือไม่ ?

Triana ใช้เนื้อหาทั้งเล่มใน Lecturing Birds on Flying เพื่อหว่านล้อมให้เราเชื่อว่า คำตอบของคำถามโปรยปกนั้นคือ แน่นอน และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์รอบล่าสุดก็เป็นเพียงหายนะครั้งล่าสุดที่ตอกย้ำอันตรายของทฤษฎีการเงินที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานผิดๆ ที่ว่า พฤติกรรมของมนุษย์ในโลกการเงินนั้นอยู่ใต้ กฎธรรมชาติ ที่เป็นเหตุเป็นผลและคาดการณ์ได้ (หรืออย่างน้อยก็คาดการณ์ได้ว่าคาดการณ์ไม่ได้) ทุกเมื่อ และดังนั้นเราจึงสามารถสร้างแบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์เพื่อสะท้อนและพยากรณ์ความเป็นไปของตลาดการเงินในโลกจริงได้

Triana มองว่าเป็นเรื่องเศร้าที่นักคณิตศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์การเงินทวีอิทธิพลจน ครอบงำ ตลาดการเงินได้ ทั้งๆ ที่เราควรระลึกอยู่เสมอว่าเศรษฐศาสตร์และการเงินนั้นไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกับฟิสิกส์ เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองตามพฤติกรรมของคนอื่น เช่น เมื่อเราเห็นคนแห่กันไปซื้อหุ้นเก็งกำไร เราก็อาจอยากไปซื้อหุ้นตัวนั้นด้วย ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่าราคาของมันกำลังพุ่งอย่างไร้เหตุผล เพราะเราเชื่อว่าเราจะขายทำกำไรทันก่อนที่คนอื่นจะแห่กันขาย

Triana บอกว่า แบบจำลองและทฤษฎีการเงินที่คิดค้นโดยพ่อมดคณิตศาสตร์ทั้งหลายนั้นไม่เพียงแต่ ใช้ไม่ได้ ในแง่ที่ผลลัพธ์ของมันไม่สอดคล้องกับตลาดการเงินในโลกจริงเท่านั้น แต่มันยัง อันตราย ในแง่ที่ทำให้นายธนาคาร เฮดจ์ฟันด์ วาณิชธนกร และแม้แต่บริษัทจัดอันดับเครดิตประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไปและเชื่อมั่นมากเกินไป ทำให้พวกเขาทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่าที่ควรจะเป็นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ตลาดระเบิด ความเสี่ยงกลายเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

Lecturing Birds on Flying ย้อนประวัติศาสตร์ทฤษฎีการเงินให้เห็นว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบบจำลองการเงินก่อความเสียหาย แต่วิกฤตการเงินทุกครั้งในช่วง 30 ปีก่อนหน้านั้นก็ล้วนแต่เป็น ฝีมือ ของทฤษฎีการเงินที่ยืนยันว่า ตลาดผิด ทฤษฎีถูก ในวาทะอันเหลือเชื่อของ Myron Scholes นักเศรษฐศาสตร์การเงินเจ้าของรางวัลโนเบลปี 1997 ผู้ร่วมคิดค้นสมการอันโด่งดังชื่อ Black-Scholes ซึ่งนักการเงินส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้คำนวณ ราคาที่เหมาะสม ของ

ออปชั่น (option ตราสารอนุพันธ์ชนิดหนึ่ง) ถึงแม้ว่าก่อนหน้าที่จะมีสมการนี้ คนก็ซื้อขาย

ออปชั่นกันในตลาดเป็นปกติอยู่แล้วโดยไม่เคยใช้สมการใดๆ

Triana ยกข้อมูลหลักฐานมากมายเพื่อพิสูจน์ว่า ภาวะตลาดหุ้นดิ่งเหวปี 1987, วิกฤต LTCM ปี 1998 และ ระเบิด อีกมากมายหลายขนาดในตลาดการเงินล้วนเป็นผลลัพธ์โดยตรงจากความ ตาบอด ของนักการเงินที่ยอมตกเป็นทาสของทฤษฎีการเงินที่แข็งกระด้างและไม่มีวันจะจำลองโลกจริงได้ ตอนหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากในหนังสือ คือ ตอนที่ Triana เปรียบเทียบผลลัพธ์ของแบบจำลองการเงินตัวหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมมาก คือ ตัววัด มูลค่าสินทรัพย์เสี่ยง ที่เรียกว่า value-at-risk หรือ VaR กับถุงลมนิรภัยในรถยนต์ที่ใช้การได้ร้อยละ 95 ของเวลา โชคร้ายคือเวลาที่เหลืออีกร้อยละ 5 ที่มันไม่ทำงานนั้นรวมถึงเวลาที่คนขับเจออุบัติเหตุด้วย Triana มองว่าธนาคารและนักลงทุนควรจะเชื่อมั่นในความ เชี่ยว ของนักค้าที่คร่ำหวอดในตลาดมานาน แทนที่จะพึ่งพาอาศัยแบบจำลองที่ไม่มีวันสะท้อนความซับซ้อนของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้

อีกตอนหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมาก คือ ช่วงแรกของหนังสือที่ Triana วิเคราะห์สาเหตุที่เขาคิดว่าทำให้ทฤษฎีการเงินได้รับความนิยมอย่างมากในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะหลักสูตร บริหารธุรกิจ ทั้งๆ ที่พ่อมดเลขผู้คิดค้นทฤษฎีและสอนนักศึกษาในหลักสูตรเหล่านี้ไม่เคยทำงานในแวดวงการเงินจริงๆ เลย เขาตั้งประเด็นว่า เรื่องนี้น่าตกใจพอๆ กับถ้าจะให้หมอที่อ่านแต่ตำรา ไม่เคยเจอคนไข้ตัวเป็นๆ มาสอนนักเรียนแพทย์ Triana คิดว่าสาเหตุหลักๆ ของปัญหานี้อยู่ที่การกำหนดให้ผลงานวิจัยทางทฤษฎีเป็นเงื่อนไขในการเลื่อนขั้นอาจารย์มหาวิทยาลัย และการที่มูลนิธิชั้นนำหลายแห่ง อาทิ มูลนิธิฟอร์ด ทุ่มเงินอุดหนุนการศึกษาและจ้างอาจารย์ด้านทฤษฎีการเงินในทศวรรษ 1950

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกและเข้าใจง่ายสำหรับคนที่ไม่มีพื้นความรู้ทางการเงิน แต่ก็มีข้อเสียที่

ผู้เขียนคิดว่าอาจทำให้บางคนรำคาญ เช่น Triana ใช้ภาษาแบบพรรณนาโวหารที่หลายครั้งกลายเป็นการใช้คำแบบฟุ่มเฟือยหรือรุงรังโดยไม่จำเป็น และการใช้ถ้อยคำเย้ยหยันและเหมารวมก็สะท้อนอคติของเขาออกมา ทำให้นักทฤษฎีการเงินดูเป็นผู้ก่อการร้ายตัวฉกาจเกินไป และมุ่งโจมตีและตีแผ่มากกว่าจะนำเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนั้นการที่เขาเน้นว่าแบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์นั้นเป็นอันตรายและนำไปสู่วิกฤตในโลกจริง ก็อาจทำให้คนอ่านเข้าใจผิด ไพล่ไปเชื่อว่าแบบจำลองเป็น ตัวการ หลักที่ก่อให้เกิดวิกฤตการเงิน ทั้งๆ ที่มีอีกหลายปัจจัยที่สำคัญกว่า เช่น การปล่อยกู้อย่างมือเติบของธนาคารและนโยบายดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดินของธนาคารกลาง ที่ช่วยโหมกระพือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ให้ใหญ่โตจนแตกดังสนั่น

ถึงแม้ว่าจะมีข้อเสียที่น่ารำคาญอยู่บ้าง ผู้เขียนก็คิดว่า Lecturing Birds on Flying เป็นหนังสือดีที่นักการเงินทุกคนต้องอ่านและคนทั่วไปที่สนใจการเงินควรอ่าน เพราะนอกจากจะชี้ให้เห็นความหลงผิดและมืดบอดของทฤษฎีการเงินแล้ว ยังตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แวดวงวิชาการอันทรงอิทธิพลนี้น่าจะเข้าสู่ จุดเปลี่ยน ระดับกระบวนทัศน์ในอนาคตอันใกล้ เพื่อยกระดับตลาดการเงินให้มีความรับผิดชอบ และยอมรับความซับซ้อนของพฤติกรรมมนุษย์ที่สมการไม่มีวันอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ :D

หมายเหตุ : หนังสือแนวเดียวกันที่ผู้เขียนอยากแนะนำให้อ่านคู่กัน คือ The Myth of the Rational Market : A History of Risk, Reward, and Delusion on Wall Street โดย Justin Fox คอลัมนิสต์ด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ประจำวารสาร TIME หนังสือเล่มนี้อธิบายภาวะรุ่งโรจน์และเสื่อมถอยของทฤษฎี ตลาดมีประสิทธิภาพ (efficient market hypothesis) ในโลกการเงิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook