"เด็ก vs โรงเรียน" วิวาทะบนโซเชียล เมื่อกฎระเบียบกลายเป็นการละเมิดสิทธิ

"เด็ก vs โรงเรียน" วิวาทะบนโซเชียล เมื่อกฎระเบียบกลายเป็นการละเมิดสิทธิ

"เด็ก vs โรงเรียน" วิวาทะบนโซเชียล เมื่อกฎระเบียบกลายเป็นการละเมิดสิทธิ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปีใหม่ 2563 นี้ ถือว่าเปิดตัวมาด้วยความร้อนแรงจากดราม่าในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นแทบจะวันต่อวัน และกระจายตัวไปแทบทุกวงการ หนึ่งในนั้นคือแวดวงการศึกษา ที่มีการใช้แฮชแท็กบอกใบ้ชื่อโรงเรียน เพื่อ “แฉ” ปัญหาเรื่องกฎระเบียบในโรงเรียน ไล่มาตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วอย่าง #เกียมอุดม #สตีวิด #โรงเรียนปากน้ำข้างเซเว่น และล่าสุดในปีนี้คือ #รรผักชีโรยหน้าไม่มีภูเขา ที่วิพากษ์วิจารณ์การกล้อนผมนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม

แม้จะเป็นเพียงกระแสดราม่าที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปตามธรรมชาติของโลกออนไลน์ แต่สิ่งที่น่าสนใจในประเด็นเหล่านี้ คือปรากฏการณ์ที่ “วัยรุ่น” ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบของโรงเรียน โดยมีเครื่องมือใหม่อย่าง “โซเชียลมีเดีย” ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังบอกอะไรกับสังคม sanook.com จะชวนคุณไปหาคำตอบ

แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยแทบจะไม่เปลี่ยนเลย คือการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ในการควบคุมเด็ก โดยให้เหตุผลว่าเป็น “ความหวังดี” ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจของครูหรือพ่อแม่ และส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นความเคยชินที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดจะตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปและความเหมาะสมของการใช้อำนาจนั้นๆ ขณะเดียวกัน กฎกติกาต่างๆ ที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นก็ไม่มีคำอธิบายเหตุผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เมื่อกฎกติกาถูกใช้กับวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการอิสระและตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงนำไปสู่การปะทะกันทางความคิดระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในที่สุด

“ผมคิดว่าวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยก็มีการตั้งคำถามหรือสงสัยว่ากฎระเบียบแบบนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นคนตั้งขึ้นมา เกิดมาจากใคร และความรู้สึกที่ถูกกฎระเบียบแบบนี้มันกำกับควบคุม มันมีมาตลอดทุกยุค เพียงแต่ว่าในอดีตมันยังไม่มีช่องทางหรือเครื่องมือที่สะดวกมากนักในการตอบโต้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะปะทะมันต้องปะทะตรงเลย เพราะมันไม่มีช่องทางอื่น ทีนี้พอปะทะตรง เราก็มักจะพ่ายแพ้ต่ออำนาจเสมอ นอกจากนี้ กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชนในอดีตมันยังไม่ได้มีความชัดเจน ยังไม่มีกระแสการเคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของปัจเจกบุคคล หรือสิทธิมนุษยชนมากนัก ดังนั้น มันก็มีความเป็นไปได้ที่คนจะสยบยอม” อ.ดร.ภาสกร อินทุมาร อาจารย์ประจำภาควิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงลักษณะของวัยรุ่นในอดีต ที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจำกัด เมื่อเทียบกับวัยรุ่นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ อ.ดร.ภาสกร ยังระบุด้วยว่า กระบวนการทางสังคมในปัจจุบัน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะกระบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนและทัศนคติของวัยรุ่นไทย และนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของวัยรุ่นในที่สุด

“กระบวนการเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนที่มันเกิดขึ้นทั่วโลกมานานแล้ว ในบ้านเรามันก็เริ่มคึกคักมากขึ้น มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของเนติวิทย์หรือเพนกวิน และการปรากฏตัวของพรรคอนาคตใหม่ ที่เหมือนเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ และเด็กก็เห็นต้นแบบว่ามันทำได้ มันตั้งคำถามได้ สามารถลุกขึ้นมาพูดว่าจะไม่ยอมรับกติกาเดิมที่มันไม่โอเคได้ รวมทั้งเรื่องของวัยรุ่นในต่างประเทศที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน มันมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเกรต้า ธุนเบิร์ก เด็กอายุ 16 ที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อน ผมคิดว่ามันมีตัวอย่างของวัยรุ่นที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่ว่าลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นมากขึ้นด้วย” อ.ดร.ภาสกรกล่าว

ด้านคุณลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทรุ่นที่ 8 กล่าวว่าประเด็นเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในโรงเรียน ที่วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ เรื่องทรงผม การแต่งกาย ครู และหลักสูตร

เรื่องทรงผม ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เด็กให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะทรงผมเป็นเรื่องของร่างกายของเรา แล้วมันก็เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดเวลาโดนตัด พอโดนตัดมันก็เหมือนเราถูกละเมิดสิทธิ เหมือนสิทธินั้นมันถูกพรากไปจากเรา ก็เลยดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจมากที่สุด มันเห็นชัดเจนว่ามันเป็นการละเมิด” คุณลภณพัฒน์กล่าว พร้อมเสริมว่า การละเมิดสิทธิเช่นนี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทว่าเด็กไม่สามารถพูดเรื่องนี้ให้ผู้ใหญ่ฟังได้ จนกระทั่งพวกเขาได้ค้นพบช่องทางใหม่ในการเรียกร้องสิทธิของตัวเอง นั่นคือ “โซเชียลมีเดีย”

โซเชียลมีเดียก็คือสังคมหนึ่ง เพียงแค่มันอยู่บนโลกออนไลน์ มันสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่มีการแบ่งกั้นพรมแดน เราสามารถสื่อสารกันได้ทั่วประเทศ โดยที่ไม่ต้องไปเจอหน้ากัน และเราก็สามารถรับข่าวสารได้อย่างรวดเร็วแล้วก็ทันท่วงที มันค่อนข้างจำเป็นสำหรับเวลาที่เราต้องการให้คนหันมาสนใจเราเยอะๆ หรือเวลาเราเรียกร้องอะไรแล้วเราต้องการเสียงสนับสนุน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โซเชียลมีเดียก็เป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจมาก” คุณลภณพัฒน์กล่าว

นอกจากความรวดเร็วในการสื่อสารสู่สังคมในวงกว้างแล้ว คุณลภณพัฒน์ยังมองว่าข้อดีของโซเชียลมีเดียที่มากกว่าการรณรงค์ในชีวิตจริง คือคนอื่นๆ จะเข้าถึงเนื้อหาที่ผู้โพสต์ต้องการสื่อสารได้ทันที โดยไม่มีการตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกของผู้โพสต์

“ถ้าเราไปพูดบนถนน คนจะไม่มองเนื้อหาที่เราพูดก่อน แต่เขาจะมองว่ามาพูดทำไม พูดเพื่ออะไร มันดูแปลก เพราะไม่ค่อยมีคนไปพูด แล้วถ้าเกิดไม่ใช่คนดังหรือคนที่รู้จักกันได้โดยทั่วไป คนก็จะเริ่มสงสัย และไม่มองที่เนื้อความ แต่จะมองที่การกระทำก่อน แต่ถ้าในโลกโซเชียล การพูดเป็นสิ่งพื้นฐาน ทุกคนสามารถพูดได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเราพูดออกไป คนเขาไม่มาสนใจว่าเราเป็นใคร พูดทำไม คนอื่นเขาไม่เห็นพูดเลย แต่เขาจะสนใจสิ่งที่เราพูดมากกว่า” คุณลภณพัฒน์อธิบาย

ด้าน อ.ดร.ภาสกรก็มองว่า โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่เปิดให้วัยรุ่นสามารถแสดงจุดยืน แสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม วิพากษ์ และปะทะกับอำนาจได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ขณะเดียวกัน เมื่อกระแสในโลกโซเชียล “จุดติด” หรือมีมากพอ ก็อาจจะสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะยังไม่สามารถสั่นคลอนทั้งโครงสร้างของอำนาจได้ก็ตาม

“ถ้ามันมีกระแสการที่ไม่ยินดี ไม่ยินยอมกับการใช้อำนาจของครูและโรงเรียนออกมาเรื่อยๆ มันมีแรงกระเพื่อมแน่ๆ แต่มันอาจจะไม่ไปถึงการเปลี่ยนโลกทัศน์ของครูหรอกว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะใช้อำนาจกับเด็ก แต่ว่าครูอาจจะระวังตัวมากขึ้น ครูอาจจะเกิดความตระหนักมากขึ้น ว่าถ้ากระทำแบบนั้น เดี๋ยวจะถูกถ่ายคลิปไปเผยแพร่ ก็ทำให้ครูต้องระวังในการกระทำความรุนแรงมากขึ้น” อ.ดร.ภาสกรให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งการเปิดเผยปัญหาในโรงเรียนหรือการวิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบของโรงเรียนบนช่องทางใหม่อย่างโลกโซเชียลก็นำไปสู่ผลลัพธ์เดิม คือผู้ที่ตีแผ่ปัญหาในโรงเรียนกลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าว ไม่อดทน ไม่สำนึกบุญคุณครูบาอาจารย์ และไม่รักสถาบันของตัวเอง ซึ่ง อ.ดร.ภาสกรอธิบายปฏิกิริยาของผู้ใหญ่ลักษณะนี้ว่า เป็นมุมมองของผู้ใหญ่ที่เคยเป็นวัยรุ่นและสยบยอมต่ออำนาจ

“จริงๆ สมัยที่ผู้ใหญ่ที่พูดแบบนี้ยังเป็นวัยรุ่น เขาก็คงอยากปะทะเหมือนกัน เพียงแต่ว่าในอดีตมันไม่มีพื้นที่หรือมีความกลัวต่อการถูกโต้กลับ หรือถูกใช้อำนาจฟาดกลับ วัยรุ่นไม่อดทนหรือเปล่า คำถามของผมก็คือ ทำไมต้องอดทน ถ้าระเบียบกฎเกณฑ์หรืออำนาจมันลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล หรือลิดรอนความเป็นมนุษย์ของเรา มันก็ไม่จำเป็นต้องทนน่ะ

เช่นเดียวกับคุณลภณพัฒน์ ที่มองว่าไม่ใช่ว่าเด็กสมัยนี้แตะต้องไม่ได้ แต่ไม่ว่ายุคสมัยใด เด็กก็ไม่ควรถูกละเมิดสิทธิ

“เด็กก็คือมนุษย์คนหนึ่ง เหมือนผู้ใหญ่ ต่างกันแค่เราเกิดไม่พร้อมกัน เด็กไม่สามารถเอามีดโกนไปโกนหัวผู้ใหญ่ได้ ผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถทำกับเด็กได้เช่นกัน เราไม่สามารถไปละเมิดสิทธิผู้ใหญ่ได้ ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรมาละเมิดสิทธิของเรา เราต้องเคารพซึ่งกันและกัน ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ว่าเราเพิ่งจะไม่อดทน แตะต้องไม่ได้ตอนนี้ แต่เด็กทุกสมัยจำเป็นต้องอดทนมาตลอด โดยที่มันไม่มีความจำเป็นต้องอดทนเลย มันอดทนเพื่อให้เขาอยู่รอด เพื่อให้หลุดออกจากตรงนี้ไปได้ จริงๆ แล้วมันควรที่จะไม่มีสิ่งนี้ต่อไปให้เขาอดทน มันไม่จำเป็นที่เด็กต้องมารู้สึกแย่ๆ กับอะไรพวกนี้” คุณลภณพัฒน์อธิบาย

 

สำหรับเป้าหมายของการใช้โซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์สถาบันการศึกษา อ.ดร.ภาสกรและคุณลภณพัฒน์เห็นตรงกันว่า นี่ไม่ใช่การเอาชนะ ไม่ใช่การสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิและกระตุ้นให้สังคมตั้งคำถามต่อกฎกติกาเดิม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสถาบันการศึกษาให้ดีขึ้น

“พอเราใช้โลกโซเชียลในการพูด เราก็มักจะโดนครูหรือสถาบันโจมตีว่าเราทำลายชื่อเสียง การที่เด็กพูดก็ไม่ได้แปลว่าเขาเกลียดสถาบัน เพราะสิ่งที่เขาพูดเป็นความจริง ถ้าเขาเกลียดสถาบัน เขาอาจจะต้องใส่สีตีไข่เพิ่ม แต่ส่วนใหญ่ที่พูดก็จะเป็นความจริง เกิดอะไรขึ้น เจออะไรมา แล้วก็คือเด็กพูดเพราะไม่อยากเจอสิ่งเหล่านี้แล้ว เขารู้สึกไม่ชอบ อยากระบาย รู้สึกทุกข์ใจ แปลว่าเขาอยากให้สิ่งนี้มันหายไปจากโรงเรียน เขาไม่ได้เกลียดโรงเรียน เขาแค่อยากให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มันดีขึ้น” คุณลภณพัฒน์กล่าว

“ผมคิดว่ามันไม่ใช่การวิพากษ์แบบฉันเกลียดเธอ ฉันจะด่าเธอ แต่การวิพากษ์มันเป็นเพราะว่า เขามองเห็นความไม่ชอบมาพากล สภาวะที่เป็นอยู่มันไม่โอเค ถึงลุกขึ้นมาพูด คนบางคนรู้สึกว่าการลุกขึ้นมาวิพากษ์ก็เพราะความรักนั่นแหละ อยากให้สถาบันมันดีกว่าเดิม ดีกว่าที่เป็นอยู่ ต้องลุกขึ้นมาวิพากษ์และชี้ให้เห็นว่าคุณมีปัญหานี้นะ” อ.ดร.ภาสกรเสริม

“สิ่งที่เราทำคือเราพยายามสร้างความคิดใหม่ๆ ให้คนในสังคมรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดต่อเนื่องหลายสิบปี มันไม่ถูกต้อง มันเป็นการละเมิดสิทธิของนักเรียน แล้วมันไม่ควรมีต่อไป ซึ่งมันจะนำไปสู่ความคิดใหม่ๆ ของคนในสังคม และจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ เราเชื่อมั่นอย่างนั้น” คุณลภณพัฒน์ระบุ

 

แน่นอนว่าวิวาทะบนโลกออนไลน์ระหว่างครูกับนักเรียนไม่ใช่สงครามที่มุ่งทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สิ้นซาก แต่เป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัย ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติ ดังนั้นจึงน่าจะถึงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปรับตัวและหันมาหาทางออกของปัญหาร่วมกัน แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือการปรับบทบาทของครู และจัดการความสัมพันธ์ชุดใหม่ระหว่างครูและนักเรียน โดย อ.ดร.ภาสกรมองว่า ต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการสร้างครูเลยทีเดียว

“ผมคิดว่าครูรายบุคคลคงทำไม่ได้หรอก มันต้องมีกลไกหรือกระบวนการ อย่างน้อยในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏใดๆ มันต้องเปลี่ยนระบบวิธีคิดในการสร้างครู และมันต้องมีกระบวนการทั้งสังคมที่จะออกแบบการสร้างครูขึ้นมาใหม่ คือครูในฐานะ facilitator ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก ไม่ใช่ผู้ให้ความรู้ เด็กคือผู้รับความรู้ ครูมีพระคุณ เด็กเป็นหนี้บุญคุณ โลกทัศน์แบบนี้ของทั้งสังคมมันต้องเปลี่ยนเลย ซึ่งแน่นอนว่ายาก เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเราถูกสร้างให้เป็นแบบนี้มาเนิ่นนาน แต่คิดว่าจำเป็นต้องทำ” อ.ดร.ภาสกรกล่าว

นอกจากนี้ อ.ดร.ภาสกรยังมองว่า ที่ผ่านมา การปะทะกันด้วยคำพูดที่รุนแรงระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ มักเกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างจริงจัง ดังนั้น ในการจัดการความสัมพันธ์จึงไม่ใช่การปรับตัวของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นการสร้างบทสนทนา รับฟังซึ่งกันและกัน เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำพากันไปสู่การแก้ปัญหา

ด้านคุณลภณพัฒน์ก็เห็นว่า การพูดคุยตกลงกันระหว่างครูและนักเรียน รวมทั้งการออกมาตรการต่างๆ ในโรงเรียน ควรมีภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกลางในการพูดคุย และ จะต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบมาตรการต่างๆ ไม่ใช่มาตรการที่ออกมาจากผู้ใหญ่อย่างเดียว นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎกติกาในโรงเรียน ควรมีการอธิบายเหตุผลที่ชัดเจน

“ถ้ามันมีเหตุผลที่เราควรจะต้องทำ มันไม่มีทางหลีกเลี่ยงไปเป็นวิธีอื่นได้ หรือไม่ได้ขัดต่อความเป็นมนุษย์ของใคร ไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์ของคนอื่นต้องถูกเหยียบย่ำ มันก็ควรที่จะปฏิบัติตามได้ เราก็รับฟัง เราไม่ได้จะทำลายทุกกฎที่มันมีอยู่ เพราะว่ายังไงสังคมก็ต้องมีกฎระเบียบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ากฎนั้นต้องเกิดจากการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเดียว แล้วก็ต้องเป็นกฎที่ไม่ละเมิดซึ่งกันและกันด้วย” คุณลภณพัฒน์แสดงจุดยืน พร้อมทิ้งท้ายว่า

“เราไม่ได้เกลียดผู้ใหญ่ ไม่ได้คิดว่าเราเป็นเด็ก หรือเรามีความคิดที่ดีกว่า แต่เราอยากให้ทุกคนมองว่าเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ผู้ใหญ่ก็เป็นมนุษย์ เราเป็นเด็กก็เป็นมนุษย์ เราควรจะต้องเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อเราเคารพกัน ทุกอย่างมันก็จะดีเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook