เตรียมการประชุมอาเซียนรับ 26 รมต.ตปท.-สหภาพยุโรป 1.2 พันคน ฮิลลารียันมาร่วมแน่

เตรียมการประชุมอาเซียนรับ 26 รมต.ตปท.-สหภาพยุโรป 1.2 พันคน ฮิลลารียันมาร่วมแน่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อธิบดีบัวแก้วสรุปเตรียมการประชุมอาเซียน รมต.26ประเทศ1องค์กรร่วม1.2พันคน ฮิลลารียันมาด้วย ระบุไฮไลต์ตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน เผยสหรัฐฯร้องให้จัดถก 5ชาติร่วมลาว-กัมพูชา-เวียดนามพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง นายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ แถลงเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม สรุปการเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (เอเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 42 การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจ (พีเอ็มซี) และการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ครั้งที่ 16 ที่โรงแรมเชอราตันแกรนด์ลากูน่าภูเก็ต ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคมนี้ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมที่ใหญ่ที่สุดประจำปีสำหรับอาเซียน คาดว่าจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนประเทศต่างๆ เข้าร่วม 1,200 คน จาก 26 ประเทศ และ 1 องค์กรระหว่างประเทศ คือ สหภาพยุโรป โดยขณะนี้รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งหมดได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมแล้ว รวมถึงนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ นายหยาง เจียฉือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน นายฮิโรฟูมิ นากาโซเน่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น และนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย โดยมีเกาหลีเหนือเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ที่ส่งผู้แทนในระดับเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงมาเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนที่เข้าร่วมประชุม และยังมีสื่อมวลชนทั้งจากไทยและต่างประเทศมาร่วมติดตามเสนอข่าวกว่า 1,000 คน

นายวิทวัสกล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการประชุมรวม 32 รายการ แต่การประชุมระดับรัฐมนตรีจะมีรวม 19 รายการ แบ่งเป็น 3 เวทีสำคัญ คือ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศด้วยกัน 6 การประชุม การประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกับประเทศคู่เจรจา 12 การประชุม และการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) นอกจากนี้ไทยยังได้รับการขอร้องจากสหรัฐให้จัดการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เกี่ยวกับการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งอาจมีการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ และปัญหาข้ามชาติต่างๆ

สำหรับประเด็นที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของการประชุมคือ การเสนอร่างสุดท้ายของทีโออาร์ของการตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อให้ข้อเสนอแนะว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นใด หลังจากที่คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนได้หารือกันมาแล้วกว่า 14 ครั้ง เพื่อที่จะได้มีการประกาศจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ในปลายปีนี้ที่ไทยตามเป้าหมายที่เคยประกาศไว้ นายวิทวัสกล่าว

อธิบดีกรมอาเซียนกล่าวว่า มีผู้แทนบางประเทศได้สอบถามถึงมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาทิ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ซึ่งไทยได้ยืนยันว่าได้เตรียมการอย่างเต็มที่โดยมีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหามาตรการในการดูแล นอกจากนี้กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะตรวจสอบรายบุคคลกับคณะผู้แทน รวมถึงดูแลความสะอาดของเครื่องบินอย่างไร คาดว่าบางส่วนจะทำที่สนามบินสุวรรณภูมิ และบางส่วนทำที่สนามบิน จ.ภูเก็ต โดยขึ้นกับว่าผู้แทนแต่ละประเทศเดินทางมาลงที่พื้นที่ใดก่อน ทั้งนี้ คาดว่าระหว่างการหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคงมีการหยิบยกประเด็นความร่วมมือด้านการป้องกันโรคระบาด รวมถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขึ้นมาพูดคุยกันด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมครั้งนี้จะมีรัฐมนตรีต่างประเทศ 3 ประเทศที่เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ จะเยือนไทยระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม ก่อนจะบินไปร่วมประชุมเออาร์เอฟในวันที่ 23 กรกฎาคม โดยระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ นางฮิลลารีจะได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย ขณะที่หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่ จ.ภูเก็ต ก็จะมีการเยือนของอีก 2 รัฐมนตรีต่างประเทศ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมองโกเลียด้วย

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ การร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 โดยแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เป็นเอกสารสรุปสาระสำคัญของการหารือในการประชุม เพื่อประโยชน์ของอาเซียนและประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน อาทิ การผลักดันให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนและการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2558 เช่น การจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียน การลดช่องว่าง การพัฒนาในภูมิภาค การเสริมสร้างสันติภาพ ความร่วมมือด้านการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเงินโลก ความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร การป้องกันและควบคุมโรคระบาด

ขณะที่พ.อ.เฉลิมพล จินารัตน์ รองหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ ศูนย์ปฏิบัติการมวลชน สนับสนุนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง อาจมีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ 6 ตำบล คือไม้ขาว สาคู เทพกระษัตรี ศรีสุนทร เชิงทะเล อ.ถลาง และ ต.กมลา อ.กะทู้ ส่วนพื้นที่แทบไม่มีผลกระทบเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook