วรากรณ์ แนะให้ครูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอย่างพอเพียง เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครู

วรากรณ์ แนะให้ครูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอย่างพอเพียง เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุ การเพิ่มเงินกู้ ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครูได้ พร้อมแนะรณรงค์ให้ครูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอย่างพอเพียง นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า งานสำคัญที่คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู หนี้สินขององค์การค้า แต่จากที่ได้ติดตามการทำงานของ สกสค. พบว่าหลายโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อาทิ โครงการจัดสร้างสถาบันฝึกอบรมเพื่อพัฒนาครูในรูปแบบโรงแรมหรู 5 ดาว สถานีโทรทัศน์ 24 ชั่วโมง คุรุชาแนล เป็นต้น ล้วนเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนครูเพียงใด อีกทั้งโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.5 ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาของครู เพราะการแก้หนี้ครูที่มีมากอยู่แล้วไม่สามารถแก้ไขได้ โดยการปล่อยสินเชื่อให้ครูกู้ได้ในวงเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำไปจ่ายหนี้เก่า เพราะจะทำให้ครูติดอยู่ในวงจรหนี้ไม่รู้จบ นอกจากนี้ การปล่อยกู้โดยมีการเสนอผลตอบแทนค่าบริการให้กับ สกสค. ผู้เข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาหนี้ครู จึงทำหน้าที่ผิดวัตถุประสงค์ ยิ่งสนับสนุนให้ครูกู้เงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนมากขึ้น ทั้งที่ หัวใจสำคัญของการแก้ไขหนี้ครู คือ การแก้ไขที่ตัวครู ทำให้ครูยอมรับ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของครูให้ใช้จ่ายอย่างพอเพียง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ปัญหา สกสค. อาจจะต้องเริ่มปรับตั้งแต่โครงสร้างของคณะกรรมการบริหาร สกสค. เพราะหากมาจากผู้แทนครูทั้งหมดอาจทำให้ขาดทักษะด้านการบริหาร ดังนั้น ควรมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหาร มีความเป็นมืออาชีพ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าคงปรับลำบาก เพราะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่น่าจะทำได้ทันทีคือ ผู้บริหารองค์กรหลัก อาทิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นผู้แทนโดยตำแหน่ง ควรเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง เพราะเมื่อส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ก็ทำให้บทบาทรวมทั้งการออกเสียงในที่ประชุมลดความสำคัญลง นอกจากนี้ สกสค. ควรหันมาหาแนวทางที่จะเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรในสังกัดอย่างองค์การค้า เช่น การจัดพิมพ์กระดาษตรากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีตลาดที่ชัดเจนอยู่แล้ว คือ กระทรวง กรม ต่างๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook