เจาะค่าแรงภาคอุตฯ ปิโตรแพง-รองเท้าถูก

เจาะค่าแรงภาคอุตฯ ปิโตรแพง-รองเท้าถูก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ รายงานพิเศษ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) จับมือกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดทำโครงการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ของภาคอุตสาหกรรม โดยเป็นการเก็บตัวอย่างจากสถานประกอบการทั้งหมด 360 แห่ง ก่อนเดือนเม.ย.52

นายทวีศักดิ์ หมัดเนาะ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ส.อ.ท. ในฐานะประธานคณะทำงาน กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ส.อ.ท.ดำเนินการสำรวจในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยบริษัทที่สำรวจส่วนใหญ่ 90% เป็นสมาชิกส.อ.ท. ขณะนี้รายงานผลการสำรวจให้ผู้สนใจทราบทางเว็บไซต์ของ ส.อ.ท.แล้ว ไม่พิมพ์เป็นเล่มแจก

นายประเสริฐ สิทธิจิรพัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะคณะทำงาน ระบุถึงผลการสำรวจหัวข้อนโยบายการจ้างงาน ค่าจ้าง โบนัส ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนม.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงของการเก็บข้อมูล กับช่วงที่เหลือของปี52 คือ พ.ค.-ธ.ค. พบว่าสถานประกอบการทั้ง 360 แห่งมีนโยบายการจ้างงานปกติในช่วง 8 เดือนหลังของปีนี้ลดลงเหลือเพียง 65.3% ของสถานประกอบการทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 4 เดือนแรกที่อยู่ในระดับ 70%

ส่วนการรับพนักงานเพิ่มช่วง 8 เดือนหลังลดลงเช่นกันเหลือเพียง 13.6% ในขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกอยู่ที่ 23.6%

เรื่องการจ่ายโบนัสและเงินเดือนนั้นในช่วง 8 เดือนหลังสถานประกอบการที่จะจ่ายโบนัสเพิ่มมีเพียง 3.9% ในขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกอยู่ที่ 10.8% สอดคล้องกับการปรับจำนวนกะเพิ่มในช่วง 8 เดือนหลังที่มีเพียง 1.4% ในขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกอยู่ที่ 2.5%

สำหรับนโยบายการเลิกจ้างพนักงานบางส่วน พบว่าช่วง 8 เดือนหลังลดลงเหลือเพียง 3.6% ในขณะที่ 4 เดือนแรกสูงถึง 8.1% เป็นไปได้ว่าหลายอุตสาหกรรมปลดพนักงานไปมากในช่วงต้นปี จึงทำให้การปลดพนักงานช่วงหลังของปีลดลง

ด้านสวัสดิการผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการจัดชุดฟอร์มเป็นอันดับหนึ่งถึง 88.9% อันดับสองคือการจ่ายโบนัส 85.3% อันดับสามคือการช่วยเหลือพนักงานเสียชีวิต 82.5% การตรวจสุขภาพประจำปี 80.5% เป็นต้น

ทั้งนี้พบว่าในปี51 สถานประกอบการจ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.78 เดือน โดยมีสถานประกอบการ 253 แห่งที่ยังจ่ายโบนัส ส่วนอีก 28 แห่งไม่จ่าย ซึ่งกลุ่มบริษัทต่างชาติ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์จ่ายโบนัสสูงสูด 7 เดือน ต่ำสุดในกลุ่มรองเท้า จ่ายเพียง 0.25 เดือน

ส่วนในเรื่องการปรับค่าจ้างนั้นในปี51 ยังปรับขึ้นเฉลี่ย 5.6% โดยผู้ที่ปรับค่าจ้างสูงสุดคือธุรกิจที่กำลังขยายกิจการและสร้างรายได้ไว้สูง ที่ปรับขึ้นค่าจ้างให้ถึง 33.1% ส่วนปรับต่ำสุดอยู่ที่ 1.2%

สิ่งที่น่าสนใจคือ การเข้าออกของพนักงานในภาคอุตสาหกรรมพบว่าในปี51 ยังมีกิจการที่รับคนเพิ่มถึง 63% แต่ก็มีกิจการที่ปลดคนออกถึง 49.5%

นายประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีปทุมในฐานะคณะทำงาน กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยตามวุฒิการศึกษาของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเงินเดือน ค่าครองชีพ และค่าตำแหน่ง ในระดับปวช.อยู่ที่ 6,410 บาท ปวส. 7,422 บาท ปริญญาตรี 10,964 บาท ปริญญาโท 16,844 บาท ปริญญาเอก 27,021 บาท

หากเจาะลึกในรายอุตสาหกรรมจากทั้งหมดที่สำรวจ 28 กลุ่มพบว่ากลุ่มปิโตรเคมีจะจ่ายค่าจ้างสำหรับพนักงานปฏิบัติการ ผู้บริหารกลุ่มงานระดับกลาง และผู้บริหารกลุ่มงานระดับสูงแพงสุด ที่ 15,384 บาท 100,322 บาท และ 170,963 บาท ตามลำดับ

ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าจ่ายค่าจ้างในระดับเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารระดับต้นแพงสุดที่ 32,830 บาท และ 63,637 บาทตามลำดับ

กลุ่มที่จ่ายค่าแรงต่ำสุดอยู่ที่กลุ่มรองเท้า พนักงานปฏิบัติการอยู่ที่ 6,697 บาท เจ้าหน้าที่ 10,505 บาท ผู้บริหารระดับสูงที่ 38,378 บาท

ส.อ.ท.ตั้งเป้าหมายสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการในทุกๆ ปีช่วงเดือนเม.ย. เพื่อให้ผู้สนใจนำไปเป็นฐานข้อมูล โดยจะมีการรายงานผลสำรวจในครั้งแรกอย่างละเอียดในวันที่ 28 ก.ค.นี้ ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook