ทิศทางการเมืองใหม่ ไม่เอารัฐเป็นตัวตั้ง

ทิศทางการเมืองใหม่ ไม่เอารัฐเป็นตัวตั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คัดจากส่วนท้ายเรื่อง พัฒนาการของรัฐชาติกับความขัดแย้งภายในของชาวสยาม ปาฐกถานำในการสัมมนาทางวิชาการ 70 ปี สยามเป็นไทยฯ โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 24 มิถุนายน 2552 หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นิยาม ความเป็นไทย ตามที่รัฐกำหนด ส่งผลกดทับอย่างหนักหน่วงต่อชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างและโดดเด่นอย่างพลเมืองไทยเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดภาคใต้

พลเมืองเหล่านี้ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่มานานหลายศตวรรษ สืบทอดเชื้อสายมาจากผู้คนในอาณาจักรเก่าแก่โบราณ พูดภาษามลายู (ยาวี) เป็นภาษาแรกและนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่เพียงแตกต่างจากศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาหลักในประเทศไทย หากยังเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประเพณีทางจิตวิญญาณที่ไม่อาจกลมกลืนกับระบบทุนนิยมได้โดยอัตโนมัติ

แน่นอน กรณีของชาวมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ คงต้องถือเป็นปัญหาคนละระดับกับชาติพันธุ์ชายขอบอื่นๆ เพราะการที่ชาวมลายูมุสลิมจำนวนไม่น้อยผูกโยง อัตลักษณ์ของตนไว้กับสถานะทางการเมืองที่เคยเป็นแบบกึ่งอิสระในสมัยก่อน ทำให้ปัญหาแก้ได้ยากขึ้นสำหรับรัฐไทยยุคหลังที่ยึดถือการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง

ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้จึงผิดแผกแตกต่างจากปัญหาชาติพันธุ์ที่เหลือค่อนข้างมาก และอาจจะต้องอาศัยทางออกที่พิเศษออกไป

สภาวะหลังรัฐชาติอ้างความเป็นชาติไม่สะดวกแล้ว

แต่พูดก็พูดเถอะ ปัญหาที่ตกค้างมาจากกระบวนการสร้างรัฐชาตินั้น มาถึงวันนี้อาจไม่ใช่ เรื่องส่วนตัว ระหว่างรัฐไทยกับชาติไทยเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งตัวรัฐและประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองได้ถูกพลังอำนาจอื่นที่ไร้พรมแดนเข้ามาดัดแปลงจนเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปไม่น้อย กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

ที่นับว่าอันตรายก็คือ ขณะรัฐกำหนดสังคมไม่ได้เหมือนเดิมหรือเท่าเดิม ตัวสังคมเองก็แตกกระจายเป็นหลายส่วนเสี้ยว ขาดการเชื่อมโยงกัน และยังไม่มีพลังพอที่จะพลิกฐานะมาควบคุมกำกับรัฐได้อย่างเป็นระบบเช่นกัน

อันที่จริงก่อนวิกฤต พ.ศ.2540 และการเปิดเสรีทั่วด้านตามแรงกดดันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การพัฒนาประเทศแบบไม่ทั่วถึง (Uneven Development) ก็ผลิตปัญหาโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว

แต่หลังจากรัฐไทยถูกบีบให้ออกกฎหมายเปิดประเทศ 11 ฉบับ เพื่อแลกกับความช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟ ปัญหาเดิมที่เรื้อรังอยู่แล้วไม่เพียงถูกทำให้หนักหน่วงขึ้นเท่านั้น ตัวรัฐชาติเองก็สูญเสียฐานะไปหลายส่วน และอาจจะควบคุมกำกับทิศทางการพัฒนาประเทศไม่ได้อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เป็นแค่ประเด็นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากยังมีนัยสั่นคลอนระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติอย่างลึกซึ้งถึงราก

ประการแรก จินตภาพเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนถูกกัดกร่อนให้อ่อนลง เนื่องจากพลังอำนาจจากนอกประเทศเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายของรัฐไทยได้ในสัดส่วนที่สูงมาก

ประการต่อมา แนวคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเองก็ถูกหักล้างไปมากเนื่องจากการเข้ามาผสมปนเปของผลประโยชน์ต่างชาติจนแยกไม่ออกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแท้จริงแล้วเป็นผลประโยชน์ของใคร อันนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าแนวคิดผลประโยชน์แห่งชาติไม่ค่อยสมจริงมาตั้งแต่แรกแล้ว

ประการสุดท้าย ในเมื่อรัฐชาติไม่ว่าระบอบใดล้วนอาศัยจินตภาพเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจ เมื่อมาถึงจุดนี้ข้ออ้างดังกล่าวจึงขาดความหนักแน่นน่าเชื่อถือลงไปไม่น้อย กระทั่งเริ่มถูกคัดค้านถี่ขึ้นเรื่อยๆ

สภาพดังกล่าวหมายความว่าการสร้างฉันทานุมัติทางการเมือง (Political Consensus) จะกระทำโดยอาศัยข้ออ้างลอยๆ เกี่ยวกับชาติไม่ได้อีกต่อไป (ซึ่งก็มีชนชั้นนำบางกลุ่มฝืนทำอยู่) หากจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของกลุ่มก้อนองค์กรต่างๆ จากภาคประชาชนหรือประชาสังคมมาตกลงกับรัฐหรือตกลงกันเองจึงจะแก้ปัญหาได้

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ สภาพประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเคลื่อนไปสู่สภาวะหลังรัฐชาติ (Post Nation-state) มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้คนจำนวนมากก็ยังไม่ตระหนักว่าเรามีองค์ความรู้ไม่พอที่จะจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป และจะต้องรีบคิดอ่านในเรื่องนี้กันอย่างเร่งด่วน

เรื่องที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งคือ ทุกวันนี้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์อำนาจยังคงพยายามจัดระเบียบการปกครองตามกรอบคิดเก่าๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่สถานการณ์ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทั้งระบอบอำนาจนิยมนอกเครื่องแบบและระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยอำนาจรัฐแบบแนวดิ่ง ต่างก็ล้มเหลวในการดูแลบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม ทางออกยังพอมีอยู่บ้างถ้าเราเปลี่ยนมุมมองความสัมพันธ์ทางอำนาจได้ทันเวลา เราในที่นี้ผมหมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ส่วนบรรดานักวิชาการนั้น จำนวนมากได้มองเห็นปัญหามาพักหนึ่งแล้ว

เปลี่ยนมุมมองความสัมพันธ์ทางอำนาจ

เปลี่ยนมุมมองหมายความว่าอย่างไร? พูดให้ชัดเจนคือ

อันดับแรก ในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจ (หรือที่ชอบเรียกกันว่า การปฏิรูปการเมืองนั้น) จุดเน้นไม่ควรจำกัดอยู่แค่การปรับแบ่งพื้นที่กันระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ (แม้ว่าสิ่งนี้จะจำเป็น) หากจะต้องเปิดพื้นที่ให้การเมืองภาคประชาชน อันประกอบด้วยประชาธิปไตยทางตรงของชุมชนรากหญ้า และบทบาทตรวจสอบของภาคประชาสังคมในเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐที่ถูกผูกมัดไว้กับอิทธิพลไร้พรมแดนอย่างหนึ่ง กับเพื่อป้องกันตัวจากแรงอัดกระแทกของทุนนิยมข้ามชาติอีกอย่างหนึ่ง

อันดับต่อมา ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องลดความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อำนาจลงบ้าง และหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบทางเลือก (Alternative Development) ของชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

พูดอีกแบบหนึ่งคือรัฐจะต้องเลิกวางแผนหากำไรให้คนส่วนน้อยในนามคนทั้งชาติ หรืออย่างน้อยต้องเลิกใช้ข้ออ้างแบบนั้นเสียที รวมทั้งต้องตระหนักว่าการใช้อำนาจของรัฐชาติขับเคลื่อนการเติบโตแบบทุนนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง นับเป็นการใช้อำนาจทำร้ายพลเมืองส่วนใหญ่อย่างรุนแรงที่สุด เพราะมันมีผลให้การจัดสรรทรัพยากรไม่เท่าเทียมและไม่ทั่วถึง

วิบากกรรมดังกล่าวส่งผลให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และนับวันยิ่งกลายเป็นเบี้ยทางการเมืองที่ถูกใช้ประโยชน์โดยชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ

ผมขออนุญาตเรียนตรงๆ ว่าทุกวันนี้ ในขณะที่รัฐไทยมีฐานะเป็นผู้จัดการสาขาของระบบทุนนิยมโลกมากขึ้นและมีลักษณะชาติน้อยลง อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ไว้อย่างเต็มเปี่ยมจะยิ่งแก้ปัญหาภายในประเทศไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ช้าก็เร็วจะต้องมีการจัดระเบียบอำนาจกันใหม่ให้ประชาสังคม (Civil Society) สามารถกำกับรัฐและชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจกำหนดวิถีชีวิตของตน

หากไม่ทำเช่นนั้น ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าคนในชาติที่ทั้งแตกปัจเจกและแยกเป็นกลุ่มย่อยจะสัมพันธ์กับรัฐอย่างไรและสัมพันธ์กันเองอย่างไร

ถึงตรงนี้ หลายท่านคงจะมองเห็นแล้วว่าความเป็นชาติแบบที่รัฐพยายามฟูมฟักมาอย่างน้อย 70 ปีนั้น ไม่อาจกลับไปเหมือนเดิมแล้ว และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาติก็ไม่อาจเหมือนเดิมด้วยเช่นกัน

ในสภาพเช่นนี้ ถ้าใครขืนใช้ชุดความคิดและวาทกรรมเก่าๆ มากดดันผู้คน บ้านเมืองก็คงเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่หาข้อยุติมิได้

เพราะฉะนั้น ผมจึงเห็นว่ามีแต่ต้องแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป เราจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แม้ในอนาคต คนไทยยุคหลังสมัยใหม่อาจจะกลับไปคล้ายชาวสยามในอดีต คือมีอัตลักษณ์ที่ผิดแผกแตกต่างกันทั้งประเทศ แต่ก็คงสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้าพื้นที่ทางการเมืองถูกจัดสรรไว้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

มันคงจะเป็นเรื่องไร้เหตุผลสิ้นดี ถ้านักธุรกิจจากทั่วโลกสามารถเข้ามาหาเงินในเมืองไทยได้อย่างสะดวก แล้วชาติพันธุ์พื้นเมืองกลับถูกรังเกียจเดียดฉันท์

ในเมื่อทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้รัฐไทยเลิกตั้งคำถามต่อนักลงทุนว่า เป็นคนไทยหรือเปล่า? แล้วทำไมยังต้องถามชาวไร่ชาวนาตามป่าเขา ถามปัญญาชนที่คิดต่างจากรัฐ หรือแม้แต่ถามผู้ใช้แรงงานรับจ้างจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยคำถามแบบนี้ด้วยเล่า

จริงอยู่ ระเบียบอำนาจใหม่ในทิศทางดังกล่าวยังคงต้องอาศัยเวลาผลักดันให้ปรากฏเป็นจริง แต่แนวโน้มสถานการณ์หลังรัฐชาติหรือหลังสมัยใหม่ (Post Modernity) ก็นับว่าเปิดโอกาสให้ทิศทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ทิศทางการเมืองใหม่ที่ไม่ได้เอารัฐเป็นตัวตั้ง (State Oriented) หากถือมนุษยชาติ ชุมชน ท้องถิ่น และปัจเจกภาพของปัจเจกบุคคลเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะในประเด็นการเข้าถึงทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม ตัวตนทางวัฒนธรรม หรือคุณค่าความเป็นคน

ความเป็นไทยในโลกจริงๆ ประกอบด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์และทางวัฒนธรรม ล้วนต่างจากสิ่งที่รัฐกำหนดตายตัว ทำให้สังคมไทยล้าหลัง-คลั่งชาติ แล้วขัดแย้งรุนแรงจนเดินหน้าไม่ได้ (ภาพจากหนังสือ คนไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook