2กลุ่มส.ว.โต้คารคม ค้าน-หนุนข้อเสนอกก.สมานฉันท์

2กลุ่มส.ว.โต้คารคม ค้าน-หนุนข้อเสนอกก.สมานฉันท์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 13.30 น.ก่อนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมพิธีรับมอบรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรากฎว่า มีส.ว.ทั้งกลุ่มที่ต่อต้านและกลุ่มที่สนับสนุนข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ต่างมายืนออกันที่หน้าห้องรับรองพิเศษ บริเวณชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2 โดยฝ่ายต่อต้าน นำโดยน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ซึ่งได้สวมหน้ากากอนามัยที่เขียนข้อความว่า "สมานฉันท์ หยุดแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง โดยเจ้าตัวกล่าวด้วยเสียงดังว่า "เป็นหน้ากากป้องกันเชื้อโรคของนักการเมืองที่เห็นแก่ตัว รวมทั้งน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ส่วนส.ว.ฝ่ายสนับสนุน นำโดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.ทั้ง 2 กลุ่มได้ปะทะคารมกันอยู่ตลอดเวลา โดยนายเกชา ยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นหนทางในการสร้างความเป็นธรรมในบ้านเมือง ขณะที่นายประสาร ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้เป็นหลุมพรางของความสมานฉันท์ และน.ส.สุมล แย้งว่า แก้ไขได้แต่ต้องไม่ใช่แก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ น.ส.รสนา ให้สัมภาษณ์ก่อนการยื่นหนังสือคัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ต่อนายกฯ ว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นนั้นเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้นำไปสู่ความสมานฉันท์แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งครั้งใหม่ โดยในประเด็นต่างๆไม่ว่าจะเป็น ม.237 เป็นการนิรโทษกรรมซ่อนรูป หรือการแบ่งเขตเลือกตั้ง ล้วนไม่ได้ตอบโจทย์ความขัดแย้งในสังคมไทยได้เลย ยิ่งทำให้เขตเล็กยิ่งบีบให้ประชาชนในพื้นที่แคบๆที่มีทั้งสีเหลืองสีแดงทะเลาะกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังสอดใส้ที่จะออกกฎหมายปรองดองที่มีเนื้อหาให้ยกเลิกความผิดของนักการเมืองทั้งหมดนั้นเป็นการทำลายหลักนิติรัฐอย่างชัดเจน เปรียบว่า เชื้อหวัด 2009 ยังไม่น่ากลัวเท่าเชื้อชั่วของนักการเมืองที่เห็นแก่ตัว

ขณะที่ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี แกนนำกลุ่มส.ว.เลือกตั้ง กล่าวว่า ส.ว.กว่า 50 คน เห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพราะเชื่อว่า จะสร้างความสมานฉันท์ให้ประเทศได้ ส่วนที่กลุ่ม 40 ส.ว. ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็ไม่เป็นไร เป็นความเห็นที่ต่างกันได้ อย่างไรก็ดี ที่กลุ่ม 40 ส.ว. มองว่า ได้ประโยชน์เฉพาะนักการเมือง คงไม่ใช่ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชน และ ฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์

นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร แกนนำกลุ่มส.ว.เลือกตั้ง กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบสุขและเชื่อว่า จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะแนวทางที่คณะกรรมการเสนอ อยู่บนทางสายกลาง ขณะนี้ต้องยอมรับว่า บ้านเมืองมีคนสองกลุ่มที่แตกแยกทางความคิด แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ จะสร้างความเป็นธรรมให้ทุกกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ส.ว.หลายคนเห็นด้วย แต่อย่าไปเทียบจำนวนกับกลุ่ม 40 ส.ว. เพราะแต่ละคนมีความเห็นต่างกันได้ ทั้งนี้กลุ่มส.ว.เลือกตั้ง จะยื่นหนังสือเหตุผลสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ถึงนายกฯ ต่อไป

ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม 40 สว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ก็เป็นเหตุผลของคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ตนยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ทำเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่าคิดอะไรมาก ส่วนกรณีที่ส.ว.มีความคิดเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่ายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้น ยอมรับว่า เรื่องนี้ย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ที่สุดแล้วก็ต้องอยู่ผ่านกระบวนการรัฐสภาโหวตเพื่อลงมติ ส่วนการที่กลุ่ม 40 สว.มองว่าตนเป็นฝ่ายการเมืองนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่แน่นอน เรื่องนี้เป็นการเอาใจทุกฝ่ายไม่มีฝ่ายใดได้รับประโยชน์ สิ่งที่ตนพูดก็ล้วนแต่เป็นความจริง

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การได้มาซึ่งส.ส.และส.ว.ที่ดี สุดท้ายแล้วจะได้รัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นคนเลือดใหม่ และเป็นน้ำดี ย่อมจะมีวิจารณญาณที่ดีพอในเรื่องดังกล่าว และการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้มีวาระซ่อนเร้อน เป็นการกระทำที่เปิดเผยไม่มีใครได้รับประโยชน์

เมื่อถามว่าการแก้มาตรา 237 จะทำให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองกลับมาอีกครั้งนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่าเรื่องบทลงโทษไม่ได้มีผลย้อนหลัง เมื่อได้รับการลงโทษแล้วก็ต้องรับไป ทั้งนี้ ตนยังไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใดในโลกที่มีคนทำผิดเพียงคนเดียวแล้วต้องมีการยุบทั้งพรรค และสิ่งที่ตนพูดก็ไม่ได้เปิดช่องให้กับผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ แต่ตนพูดในข้อเท็จจริง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน ต่และางก็แสดงความไม่เห็นด้วยที่มีคนกระทำผิดแต่ลงโทษด้วยการยุบพรรค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook