เลิศรัตน์ยันฟังความเห็นรอบด้านจนเคาะแก้รธน.6ข้อ

เลิศรัตน์ยันฟังความเห็นรอบด้านจนเคาะแก้รธน.6ข้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย รายงานผลการศึกษาคณะอนุกรรมการทั้งสามชุดของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งการบรรยายสรุป แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า แนวคิดคือ คนไทยทุกคนคือส่วนหนึ่งขอทางออกของปัญหาความขัดแย้ง โดยกระบวนการสมานฉันท์เป็นเรื่องเร่งด่วน และต้องทำต่อเนื่อง อาศัยเครือข่ายทุกส่วนของสังคม และต้องปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนทดแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด มีการดำเนินการ ระยะเร่งด่วนมีเป้าหมายลดการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระยะกลางและระยะยาวคือการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย และการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ถาวร เพื่อรองรับการปฏิรูปการเมืองในอนาคตตลอดจน การแก้รัฐธรรมนูญ การยุบสภาและการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ในฐานะกรรมการ ยังได้ยื่นซีดีถึงนายกฯ กรณีรายการหนึ่งที่ออกทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 โดยระบุว่า มีเนื้อหาไม่สร้างความสมานฉันท์ ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และการดำเนินการของรัฐสภา

ด้านนายประเสริฐ ชิตพงษ์ ส.ว.สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง รายงานว่า แนวทางการปฏิรูปการเมืองได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างทางอำนาจการบริหาร การเมืองและเศรษฐกิจ วัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย บทบาททางการเมืองของภาคส่วนต่างๆที่ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และ หลักนิติธรรม

ขณะที่พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รายงานว่า คณะอนุกรรมการ รวบรวมความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านที่สุด โดยเฉพาะการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น คือ ระบบเลือกตั้งส.ส. ที่มาของส.ว. มาตรา 190 มาตรา 237 มาตรา 265 และมาตรา 266 เพื่อความสมานฉันท์ ก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหญ่ในระยะยาว เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม ขอยืนยันว่า เปิดโอกาสทุกภาคส่วนแสดงความเห็น จนมีข้อสรุปดังกล่าว ขั้นตอนต่อไป หากมีการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องนำไปสู่กระบวนการยกร่าง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็จะต้องไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพิ่มเติมว่า จะหาแนวทางใดที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไข นอกจากนี้ ต้องมีการแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องด้วยอาทิ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยกกต.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook