พบพิรุธงบฯโครงการศก.พอเพียง3จังหวัดมีข้อมูลพิมพ์เดียว รองนายกฯโวรัดกุมกว่าเอสเอ็มแอลยุคทักษิณ

พบพิรุธงบฯโครงการศก.พอเพียง3จังหวัดมีข้อมูลพิมพ์เดียว รองนายกฯโวรัดกุมกว่าเอสเอ็มแอลยุคทักษิณ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เจอพิรุธงบฯเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านจังหวัดนองบัวลำภู-หนองคายและอุดรธานี ตัวหนังสือ กระดาษ เนื้อหา รูปแบบ ข้อความขอโครงการเหมือนกันยังกับแกะ กอร์ปศักดิ์ ย้ำระบบรัดกุมกว่าโครงการเอสเอ็มแอลยุค แม้ว จากกรณีสำนักงานชุมชนพอเพียง (สพช.) ตรวจพบความไม่ชอบมาพากลในขั้นตอนการเสนอโครงการของชุมชน ภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับชุมชน เนื่องจากมีชุมชนหลายอำเภอ ในเขต 11 จังหวัดภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือตอนล่าง จัดทำแบบฟอร์มแผนโครงการที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งบ่งชี้ว่า อาจจะมาจากการดำเนินการของกลุ่มบุคคลเดียวกัน เพื่อหวังเข้ามาหาผลประโยชน์จากงบประมาณภายใต้โครงการนั้น

ผู้สื่อข่าว มติชน รายงานว่า จากการตรวจสอบเอกสารการเสนอโครงการส่งเสริมร้านค้าชุมชน (กองทุนปุ๋ยชุมชน) ของชุมชนในหลายจังหวัดที่แจ้งเข้ามายัง สพช. พบการจัดทำเอกสารหลายชุมชน มีลักษณะเหมือนกันทั้งรูปแบบกระดาษ ขนาดตัวหนังสือที่ใช้พิมพ์ เนื้อหา รูปแบบ ถ้อยคำขอโครงการ เช่น หมู่บ้านแก้วอุดม จ.หนองบัวลำภู คณะกรรมการหมู่บ้านเดื่อใต้ จ.หนองคาย และหมู่บ้านม่วง จ.อุดรธานี

แหล่งข่าวจาก สพช.เปิดเผยว่า ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ สพช.จะส่งทีมงานลงพื้นที่หลายจังหวัดเพื่อตรวจสอบในทางลึกโครงการที่แต่ละหมู่บ้านแจ้งเข้ามาที่ สพช.ว่ามีความผิดปกตินอกเหนือจากนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีจังหวัดที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบ 10 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ มหาสารคาม บุรีรัมย์ นครราชสีมา เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย สกลนคร และกำแพงเพชร

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้ สพช.รายงานผลการตรวจสอบปัญหาความไม่ชอบมาพากล ในการเสนอขออนุมัติโครงการของชุมชนต่างๆ มาให้รับทราบ ว่ามีโครงการอะไรบ้างส่อจะมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลไปกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา แต่ยืนยันว่าจะพยายามไม่ให้กระทบต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเปิดกว้างให้คนในชุมชนเป็นฝ่ายตัดสินใจดำเนินโครงการของตัวเอง รัฐบาลมีหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยงให้เท่านั้น ไม่มีการบังคับว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร

ยืนยันว่าเรามีระบบรัดกุมมากกว่าโครงการเอสเอ็มแอลของรัฐบาลในอดีตที่มุ่งเน้นการจ่ายเงินให้กับชุมชน โดยไม่สนใจว่าจะนำเงินไปใช้ประโยชน์เรื่องอะไร ของที่ได้ จึงมีแค่เก้าอี้ และโต๊ะ เป็นต้น ผมเชื่อว่าชุนชนที่ได้รับอนุมัติงบฯไป คงไม่มีปัญหาทั้งหมด เพราะคนไทยไม่มีนิสัยขี้โกงทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติอาจมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง จากปัจจัย 2 ส่วน คือ 1.สิ่งของที่ชาวบ้านไปซื้อมา อาจมีราคาสูงเกินไป เนื่องจากเอกชนเข้าไปขายของโก่งราคา 2.คนบางกลุ่มนำโครงการไปแอบอ้างหาผลประโยชน์ เช่น โครงการจัดซื้อปุ๋ย หากชุมชนแห่งใดถูกสอบว่ามีปัญหาเรื่องทุจริตเกิดขึ้น ใครเกี่ยวข้อง ก็เอาผิดกันอยู่แล้วนายกอร์ปศักดิ์กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุจะจัดการกับนักการเมืองที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่ชอบมาพากลในโครงการชุมชนพอเพียงว่า อยากทราบว่านายกฯจริงใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะทันทีที่พรรคเพื่อไทยเปิดประเด็นดังกล่าว นายกอร์ปศักดิ์ออกมาแถลงข่าวในทำนองปกป้องคนกระทำผิด ทั้งที่รัฐบาลน่าจะดีใจด้วยซ้ำที่ฝ่ายค้านช่วยตรวจสอบ

ส่วนความคืบหน้ากรณีประธานชุมชนวัดกลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดโปงเจ้าหน้าที่โครงการเศรษฐกิจพอเพียงบีบบังคับให้เลือกโครงการซื้อตู้หยอดน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ถ้าไม่เลือกจะไม่ได้รับเงินนั้น ปรากฏว่า ลักษณะดังกล่าวก็เกิดขึ้นที่ จ.ปราจีนบุรี เช่นกัน โดยนายเฉลิม เกียรติบรรจง อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 572/18 หมู่ 8 ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชามติ กล่าวว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีนาย ป. อ้างว่าเป็นผู้ประสานงานของพรรคการเมืองใหญ่เข้ามาพร้อมกับนักการเมืองท้องถิ่นในเทศบาลตำบลเมืองเก่า แจ้งให้ชุมชน 8 แห่ง ในเขตเทศบาลช่วยลงชื่อจัดซื้อตู้น้ำหยอดเหรียญและแผงโซลาร์เซลล์ตามโครงการชุมชนพอเพียง หากลงชื่อ ชาวบ้านจะได้โครงการที่เคยทำประชาคมไว้แล้ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,850,000 บาท

นายเฉลิมกล่าวว่า ต่อมาพบว่าตู้น้ำหยอดเหรียญและแผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกนำมาติดตั้งในแต่ละหมู่บ้านไม่สามารถใช้งานได้ อีกทั้งโครงการเดิมของชาวบ้านที่ประชาคมไว้แล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะได้ เข้าใจว่าโดนหลอกให้ลงชื่อกัน จึงได้ไปร้องเรียนกับอำเภอกบินทร์บุรี และหน่วยงานราชการขอให้สอบสวนและชี้แจง ต่อมานายสุมิตร แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการชุมชนพอเพียง และนายประโภชน์ สภาวสุ รองผู้อำนวยการโครงการชุมชนพอเพียง แจ้งว่ายินดีคืนเงินให้ และนายประโภชน์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนให้ 8 ชุมชน มีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.กบินทร์บุรี สำหรับตู้น้ำหยอดเหรียญราคาเครื่องละ 42,000 บาท แผงโซลาร์เซลล์ 2 แผง ราคาไม่เกินชุดละ 4,000 บาท พร้อมค่าบริการติดตั้งเครื่องละ 8,000 บาท เรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช.ด้วย

น.ส.อังคณา ชูกิติพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี หนึ่งในชุมชนที่โดนแอบอ้าง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทตู้น้ำหยอดเหรียญได้ถอนตู้ที่ติดตั้งกลับไปทั้งหมดแล้ว

ด้านนายทศพล ธัญอนันต์ผล ประธานชุมชนสามทหาร เทศบาลตำบลเมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี อีกชุมชนที่โดนแอบอ้าง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีการอ้างพรรคการเมืองใหญ่มาดำเนินการ อยากฝากให้รัฐบาลสอบสวนเรื่องนี้ด้วย และว่า ขณะนี้มีการโอนเงิน 1,850,000 บาท ผ่านธนาคารออมสิน สาขากบินทร์บุรี คืนให้ชาวบ้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างทำประชาคมเพื่อนำเงินทำโครงการอื่นๆ ต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook