ต่อ

ต่อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คำว่า ต่อ นอกจากจะเป็นชื่อแมลงชนิดหนึ่งที่มีปีก ๒ คู่ ลักษณะเป็นแผ่นบางใส ปีกคู่หลังเล็กกว่าปีกคู่หน้า ปากเป็นชนิดกัดกิน เอวคอดกิ่ว ตัวเมียมีเหล็กในสําหรับต่อยปล่อยนํ้าพิษทําให้เจ็บปวดได้ บางชนิดอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่บางชนิดรวมกลุ่มเป็นฝูง ทํารัง ที่สําคัญ ได้แก่ วงศ์ Vespidae เช่น ต่อหลวง (Vespa cincta) แล้ว ต่อ ยังเป็นคำกริยา หมายถึง เพิ่มให้ยืดออกไป เช่น ต่อเวลาออกไป ต่อหนังสือสัญญา, เพิ่มให้ยาวออกไป เช่น ต่อเชือก หรือหมายถึง ทําให้ติดกันเป็นอันเดียว เช่น ต่อสะพาน, เชื่อมให้ติดต่อกัน เช่น ต่อคำ ต่อความ หรือหมายถึง เอาวัตถุเช่นไม้มาประกอบเข้าเป็นรูป เช่น ต่อกรง ต่อเรือ หมายถึง ทําให้ติดอย่างไฟ เช่น ต่อไฟ ต่อเทียน หมายถึง ขอลดราคาให้น้อยลง เช่น ต่อราคา ต่อของ หมายถึง ท้าพนันโดยยอมลดเปรียบให้ เช่น ต่ให้, ฝ่ายเห็นว่าได้เปรียบเป็นฝ่ายต่อ ฝ่ายเห็นว่าสู้ได้เป็นฝ่ายรอง หรือหมายถึง นําสัตว์เลี้ยงไปล่อสัตว์ป่า ในคำว่า ต่อนก ต่อไก่

ถ้าใช้คำว่า ต่อ เป็นคำนาม หมายถึง เท่าตัว, เท่าทุน เช่น กิน ๒ ต่อ ใช้ ๒ ต่อ หรือหมายถึง ทอด เช่น ขึ้นรถ ๒ ต่อ แต่ถ้าใช้เป็นคำคุณศัพท์จะหมายถึง ออกจะ, น่าจะ, ท่าจะ เช่น มันต่อจะชอบกลเจ้ามณฑา (จากเรื่องสังข์ทอง) หมายถึง ถัดไป, สืบไป, ติดต่อกันไป เช่น ต่อนี้ไป ต่อไป อ่านต่อ วิ่งต่อ หรือหมายถึง เพิ่มขึ้น เช่น เรียนต่อ หรืออาจนำคำว่า ต่อ ไปใช้เรียกสัตว์เลี้ยงที่นําไปล่อสัตว์ป่า เช่น ไก่ต่อ นกต่อ ช้างต่อ หรือใช้เรียกสิ่งที่เชื่อมเข้าด้วยกัน เช่น ข้อต่อ, คําต่อ (คือคําบุรพบทและคําสันธาน) ถ้าเราจะใช้คำว่า ต่อ ในฐานะที่เป็นคำบุรพบท ก็จะหมายถึง เฉพาะ, ประจันหน้า เช่น ต่อหนา ยื่นต่ออําเภอ หรือหมายถึง เมื่อถึง เช่น มาต่อปีหน้า หมายถึง แต่ละ, ราย เช่น ต่อคน ต่อปี หมายถึง เทียบส่วนกัน เช่น ๓ ต่อ ๑ หมายถึง ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์เป็นการเฉพาะ เช่น ครูต่อหนังสือให้นักเรียน ครูเพลงต่อเพลงให้ศิษย์, เรียนวิชาบางอย่างจากครูเป็นการเฉพาะ เช่น นักเรียนไปต่อหนังสือกับครู ศิษย์ไปต่อเพลงกับครูเพลง

น่าทึ่งหรือไม่คะ คำว่า ต่อ คำเดียวแต่ นำไปใช้ได้หลายความหมายเหลือเกิน เวลาใช้ก็เลือกให้ดีนะคะว่าจะใช้ความหมายอะไร จะได้ไม่เสียเวลาหลายต่อ.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook