เชิญชวนคนไทยเป็นเจ้าภาพที่ดี

เชิญชวนคนไทยเป็นเจ้าภาพที่ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
''ประชุมอาเซียนฯ''

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพครับ สัปดาห์ที่แล้ว ผมไปเยือนเวียดนาม ซึ่งได้มีการพูดคุยเพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือในเรื่องข้าว ความมั่นคงและอื่น ๆ ก็ยังได้เดินทางเพื่อลงพื้นที่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ต้องขอขอบคุณพี่น้องที่ต้อนรับผมและคณะรัฐมนตรีและ ส.ส. อย่างอบอุ่น สำหรับงานต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่นั้น สรุปได้ดังนี้ครับ

อย่าตื่นตระหนกไข้หวัดใหญ่ 2009

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ยังเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ทำให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่พอสมควร ที่เป็นปัญหาก็เพราะเป็นเชื้อโรค ซึ่งคนทั่วโลกไม่มีภูมิคุ้มกัน ทุกคนมีสิทธิติดเชื้อและมีสิทธิเป็นโรคนี้ทั้งสิ้น การเผยแพร่หรือการกระจายของเชื้อนี้ก็ติดระหว่างคนต่อคน และสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงที่คนยังไม่มีอาการ ซึ่งเราต้องไม่ประมาท แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ตื่นตระหนกด้วย ผมขอยืนยันว่าจากการติดตามในเรื่องตัวเลขของผู้เสียชีวิต ซึ่งได้วิเคราะห์ทุกกรณี พบว่าถ้าหากว่าไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อน ถ้ารักษาพยาบาลตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็หายได้

เรื่องการรักษาพยาบาล ขณะนี้มีการจัดช่องพิเศษสำหรับโรงพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยสงสัยว่าอาจจะเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 และใครที่เป็น โรคประจำตัวแล้วก็ติดเชื้อ มีอาการหนัก ก็จะมีทีมเฉพาะกิจเข้าไปช่วยดูแลรักษาเพื่อช่วยชีวิต สำหรับเรื่องยาและวัคซีน ขอยืนยันว่าเราติดตามบริหารจัดการในเรื่องยาให้มีเพียงพอและกำลังเจรจาที่จะให้ลดราคา พร้อมเปิดจองและเริ่มต้นทดลองนำร่องผลิตวัคซีน คาดว่าจะผลิตออกมาได้ และจะจัดสรรไปยังประเทศต่าง ๆ ในช่วงเดือน ต.ค. นี้

เชิญชวนเป็นเจ้าภาพที่ดีประชุมอาเซียน

งานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. คือการประชุมอาเซียนที่ภูเก็ต เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี จะมีรัฐมนตรีของประเทศในเวทีที่เป็นเรื่องของความมั่นคงและเรื่องอื่น ๆ เข้ามาประชุมกันมาก เป็นบุคคลสำคัญ ๆ ผมก็ขอร้องให้พี่น้องประชาชนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ พี่น้องชาวภูเก็ตคงต้องการเห็นความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าจากการข่าวที่ได้ติดตามมา ยังจะมีบุคคลบางกลุ่มพยายามที่จะจัดกิจกรรมก่อให้เกิดผลกระทบหรือขัดขวางการประชุมเหมือนที่พัทยา ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศให้พื้นที่ภูเก็ตและรอบ ๆ เป็นพื้นที่ความมั่นคงและใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคงปี 2551 คงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนอาจจะไม่สะดวกบ้าง

รมว.การต่างประเทศทำงานได้ดีไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด

กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกษิต ภิรมย์) ที่ตกเป็นข่าว ผมเรียนว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ต้องขอบคุณที่ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญที่จะให้ท่านรัฐมนตรีได้ปฏิบัติภารกิจในส่วนของอาเซียน ที่จริงแล้วท่านรัฐมนตรีก็ปฏิบัติหน้าที่และประสานงานที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนได้เป็นอย่างดีมาตลอด ซึ่งจะต้องทำงานนี้อย่างต่อเนื่องในช่วงของการประชุมสำคัญระหว่างที่เราเป็นประธานของอาเซียน ส่วนประเด็นที่ตั้งคำถามมาถึงผมว่า ที่เคยพูดถึงกฎเหล็กเรื่องมาตรฐานทางการเมือง ผมเรียนว่ายังรักษามาตรฐานไว้ทุกประการคือ ผมจะต้องไม่รอให้คดีความต่าง ๆ ไปถึงที่สุดแล้วเป็นประเด็นในทางกฎหมายที่บุคคลในรัฐบาลต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ท่านรัฐมนตรีฯเป็นกรณีที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ตำรวจออกหมายเรียก หากไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ ก็ดูจะเกินเลยมาตรฐานที่ปฏิบัติโดยทั่วไป จึงอยากเรียนว่าในชั้นนี้ท่านรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมในการที่จะไปต่อสู้คดี ผมยืนยันว่าท่านไม่มีสิทธิพิเศษดียวกันผมและรัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม สิ่งเดียวที่เราจะทำก็คือการเร่งรัดและดูแลว่ามีการร้องเรียนเรื่องความไม่ธรรมในขั้นตอนใด ๆ และขอยืนยันว่าบุคคลทุกคนจะต้องได้รับความเป็นธรรม ถ้าหากว่ามีเรื่องที่ไม่ถูกต้องก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้

ถาม:มีมาตรการช่วยเหลือราคายางพาราให้เกษตรกรภาคใต้อย่างไร ? (คุณบำเพ็ญ จ.สุราษฎร์ธานี / 085-954-xxxx)

ตอบ:มาตราการช่วยแก้ไขปัญหาราคายาง พาราตกต่ำคือ ลดปริมาณยางในประเทศที่เกษตรกรจำเป็นต้องกรีดยางเป็นประจำให้ออกจากระบบซื้อขายยาง โดยการเก็บโกดังยางในประเทศตามมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณา โดยเก็บในรูปแบบของยางลูกขุน หรือยางชนิดอื่น แล้วรอจำหน่ายเมื่อราคายางสูงขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น และให้เกษตรกรนำน้ำยางสดหรือยางแผ่นดิบนำมาขายให้สถาบันเกษตรกรดำเนินการแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง น้ำยางข้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของยาง และรอการจำหน่ายเมื่อราคายางเหมาะสม

ปัจจุบันมีสถาบันการเกษตรที่เป็นสหกรณ์กองทุนสวนยางฯ สหกรณ์การเกษตร สมาคมยางพารา วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกรกว่า 800 แห่ง ที่มีกิจกรรมรวบรวมยางของสมาชิกแล้วประมูลขายที่สถาบันเกษตรกรเอง หรือนำไปขายที่ตลาดกลาง บางสถาบันฯมีการแปรรูปยาง โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดูแล

อีกทั้งกระทรวงการคลังโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยแก่สถาบันเกษตรกรในวงเงิน 8,000 ล้านบาท เพื่อลดอุปทานยาง 200,000 ตัน เป็นเวลา 1 ปี โดยการซื้อน้ำยางสดและยางแผ่นดิบ นำมาแปรรูป แล้วเก็บโกดังเพื่อรอจำหน่าย

ถาม:รัฐบาลจะต่ออายุโครงการน้ำ-ไฟฟรีหรือไม่ ? (คุณสุวโรจน์ กรุงเทพฯ / 084-116xxx)

ตอบ:กำลังหารือว่าจะขยายเวลาออกไปอีก 2 เดือนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2552 หรือขยายเวลาออกไปอีก 5 เดือน เพื่อให้ถึงสิ้นปี 2552 ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการลดภาระประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องดูผลกระทบต่องบประมาณด้วย คาดว่ากลางเดือน ก.ค. นี้จะมีข้อสรุป

ทั้งนี้ นโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ค. นี้ ประกอบไปด้วย

1. มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน

2. มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน

3. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง

4. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3

5. ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน

ถาม:กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการชะลอการระบาดของไข้หวัด 2009 อย่างไร ? ทำไมจึงปิดสถาบันกวดวิชา ? (คุณกัลยา กรุงเทพฯ / 081-188xxxx)

ตอบ:กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการรณรงค์ 2 ส่วน เพื่อชะลอการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดยให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ สวมหน้ากากอนามัย รณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาลด้วย เพื่อลดการติดเชื้อมาสู่บุคลากรทางการแพทย์ และป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้มารับบริการด้วยกัน ซึ่งในขณะนี้พบว่าประชาชนตอบรับการใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้โรงเรียนทุกแห่งคัดกรองเด็กที่ป่วยหน้าเสาธง หากพบเด็กป่วยให้กลับบ้าน และให้หลักประกันในเรื่องการเรียนเพื่อลดความกังวลของเด็กและผู้ปกครองกรณีหยุดเรียน โรงเรียนใดที่ไม่มีก็จะจัดแพทย์พยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขจะช่วยคัดกรองเด็กอีกครั้ง

สำหรับมาตรการที่ให้ปิดสถาบันกวด วิชาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ กระทรวงสาธารณสุขได้ระมัดระวังในการใช้มาตรการต่าง ๆ ซึ่งแต่ละขั้นตอนนักระบาดวิทยาได้กำหนดความรุนแรง และต้องดูว่าความรุนแรงที่อยู่ในระดับใดที่จะสามารถประกาศใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายไะนี้ความรุนแรงของการระบาดในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 2 ใช้มาตรการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งนี้จากการหารือกับนายกสมาคมครูและนักเรียน โรงเรียนกวดวิชาและตัวแทน ได้ข้อสรุปว่า จะจัดทำมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคและมาตรการที่ชัดเจนร่วมกันหาวิธี ป้องกันได้สม่ำเสมอ คงไม่ต้องปิดโรงเรียนในระบบหรือโรงเรียนกวดวิชาอีกต่อไป

ถาม:เงินอุดหนุนตาม 3 เดือนของโครงการต้นกล้า อาชีพจะได้รับเมื่อไร ? (คนตกงาน / 08-2346-xxxx)

ตอบ:กรณีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมตามโครง การต้นกล้าอาชีพแล้วมีความประสงค์ที่จะกลับภูมิลำเนาเดิม สามารถขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพจากโครงการต้นกล้าอาชีพได้ดังต่อไปนี้

(1) เงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพ จำนวน 4,800 บาท/คน/เดือน เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารฯ

(2) ค่าพาหนะเดินทางกลับภูมิลำเนา เหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาท/คน ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารฯ และจะได้รับเงินค่าพาหนะเดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมกับเงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพในเดือนแรก โดยการรับรองการกลับไปทำงานในภูมิลำเนาจาก ฝ่ายปกครองในพื้นที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะเป็นหน่วยเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพและค่าเดินทางกลับภูมิลำเนาให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว และหากประสงค์จะกลับไปทำงานในชุมชนภูมิลำเนา โดยมีกระบวนการ ดังนี้

1) ให้ Service Provider แจกแบบฟอร์มให้ผู้ผ่านการอบรมที่ประสงค์จะกลับภูมิลำเนาเพื่อไปประกอบอาชีพลงทะเบียนตามแบบฟอร์มที่กำหนด พร้อมทั้ง ส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เข้ารับการอบรม ตามที่คณะกรรมการบริหารฯกำหนดและให้ Service Provider รวบรวมส่งเอกสารดังกล่าวทั้งหมด ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

2) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรวบรวมรายชื่อผู้ผ่านการอบรมและประสงค์จะกลับภูมิลำเนาเพื่อไปประกอบอาชีพ เสนอคณะกรรมการบริหารฯ พิจารณาอนุมัติ

3) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารฯ ต่อสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ

4) สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

5) ผู้ผ่านการอบรมฯ ต้องไปรายการตัวต่อพนักงานฝ่ายปกครอง เพื่อรับรองการกลับไปประกอบอาชีพหรือทำประโยชน์ให้ชุมชน ภายในวันที่ 7 ของเดือน

6) ให้นายอำเภอ หรือนายกเทศมนตรี หรือนายกเมืองพัทยา หรือผู้อำนวยการเขต ในกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี มีหนังสือแจ้งการรับรองตามข้อ 5) ส่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีภายในวันที่ 15 ของเดือน

7) กรณีผู้ผ่านการอบรม รายงานตัวภายหลังวันที่ 7 ของเดือนให้พนักงานฝ่ายปกครองตาม

8) แจ้งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐ มนตรีทราบในเดือนถัดไป

พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook