ดัน 3 นโยบายคลังสวนทาง ธปท.

ดัน 3 นโยบายคลังสวนทาง ธปท.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระตุ้นเศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่องเบรกรัฐวิสาหกิจกู้เงินต่างประเทศ

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐ มนตรี เปิดเผยว่าได้หารือร่วมกับนายกรณ์ จาติก วณิช รมว.คลัง เพื่อออกมาตรการทางการคลังระยะเร่งด่วน 3 มาตรการในสัปดาห์หน้าเพื่อนำมาสนับสนุนนโยบายการเงินที่ไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มที่หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.25% ไว้ก่อน โดย กนง.มองว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ในแง่ของผู้ดูแลนโยบายเศรษฐกิจแล้วยังเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจยังไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้านโยบายเชิงรุกเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีใครยืนยันว่าฟื้นตัวได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้มาตรการการคลังประกอบด้วย การชะลอการกู้เงินจากต่างประเทศออกไปก่อน โดยหันมาใช้เงินกู้ภายในประเทศแทนด้วยการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินดอลลาร์เพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้เงินสำรองทางการระหว่างประเทศในทางอ้อมและจะทำให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่าจะให้รัฐวิสาหกิจที่เตรียมลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง ด้วยเงินลงทุนกว่า 300,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่เตรียมกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ว่าจะชะลอการกู้เงินจากต่างประเทศไว้ก่อนได้หรือไม่

นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะออกมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมใหภาคเอกชน สามารถนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรในช่วงที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่าได้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งหรือเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันได้ ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะเร่งผลักดันโดยกำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อที่ชัดเจนแก่สถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ และธนาคารอิสลาม ให้ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบให้มากขึ้นเพราะในช่วงที่โครงการลงทุนตามโครง การไทยเข้มแข็งกำลังเดินหน้านั้น เงินลงทุนในระบบจะหายไปหลายแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นจำนวนมากแต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นจำนวนไม่มาก ดังนั้นจึงต้องเร่งผลักดันให้มีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะประกาศรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไปว่าจะเดินหน้าในมาตรการใดได้บ้าง

ปัญหาของการชะลอการกู้เงินจากต่างประเทศแล้วหันมากู้เงินบาทในประเทศแทน อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นเพราะเงินบาทในประเทศจะน้อยลง ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท.เพื่อเสริมสภาพคล่องในส่วนนี้แทน เพราะธปท.ดำเนินการอยู่แล้วด้วยการดูดสภาพคล่องออกจากระบบเพื่อไปทำธุรกรรมฟอร์เวิร์ดหรือการขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพูดมาโดยตลอดว่าทั้งตนเองและรัฐบาลเคารพการตัดสินใจของธปท.และให้ธปท.ดำเนินานโดยอิสระมาโดยตลอด แต่ถ้าประเทศมีปัญหาธปท. ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เพราะในช่วงเวลานี้หากอัตราดอกเบี้ยต่ำจะเป็นแรงกดดันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากไปกว่านี้ ขณะเดียวกันธปท. ได้ใช้เงินจำนวนมากเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อปกป้องค่าเงินบาท การคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมจะยิ่งทำให้ ธปท.ต้องทำงานหนักขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหามาตรการเข้ามาช่วยเสริมให้กับ ธปท.

รายงานข่าวจากทำเนียบฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภาคเอกชนได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่พบว่าเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เอกชนไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้าน และไม่สามารถเพิ่มการส่งออกได้ หลังจากที่ได้เรียกร้องมาตลอดให้รัฐบาลเข้าไปดูแลค่าเงินบาท เพราะแข็งค่ามากเกินไปจนทำให้เกิดปัญหากับผู้ส่งออก ซึ่งพบว่าขณะนี้ค่าเงินบาทได้แข็งค่ากว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเพื่อนบ้านมากถึง 2% ซึ่งทำให้เอกชนไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ขณะเดียวกันเอกชนไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลหรือธปท.กำหนดค่าเงินบาทอ่อนแบบตายตัว แต่ต้องการให้ดูแลค่า เงินให้เอกชนแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้เท่านั้น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook