ผลประกอบการ Q2 ดีเกินคาด

ผลประกอบการ Q2 ดีเกินคาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2552 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จุดสนใจของตลาดอยู่ที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ของสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐ นำโดยโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป ในวันอังคาร (14/7) ที่เผยว่า ผลกำไรรายไตรมาสพุ่งขึ้น 33% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากธุรกิจค้าหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ตัวเลขนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่อินเทล คอร์ป และเจพี มอร์แกน เผยผลกำไรดีขึ้นเกินคาดเช่นกัน อีกทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากเกินคาดของจีน โดยตัวเลขจีดีพีขยายตัวถึง 7.9% ในไตรมาส 2 ช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นภูมิภาคให้พุ่งขึ้น หลังจากที่ได้แรงหนุนจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีทที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ แสดงให้เห็นว่า นอกเหนือจากความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของผลประกอบการในภาคธุรกิจสหรัฐ นักลงทุนทั่วไปยังขานรับสัญญาณที่เพิ่มขึ้นของการฟื้นตัวในข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐด้วย

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็บ่งชี้แนวโน้มในเชิงบวก โดยระบุว่า เศรษฐกิจอาจจะไม่หดตัวลงอย่างรุนแรงในปีนี้เท่ากับที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งในการคาดการณ์เศรษฐกิจที่เปิดเผยพร้อมรายงานการประชุม เฟดในเดือน มิ.ย.นั้น เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปี 2009 สู่ช่วง -1.5 ถึง -1% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์แนวโน้มเมื่อเดือน เม.ย. ในช่วง -2.0 ถึง -1.3% อย่างไรก็ดี ตลาดจับตาผลประกอบการไตรมาส 2 ของซิตี้กรุ๊ป และแบงก์ ออฟ อเมริกาในคืนวันนี้ (17/7) รวมถึงการแถลงของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันที่ 21 ก.ค.นี้ โดยเขาจะเปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีเกี่ยวกับนโยบายการเงิน และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อทางคณะกรรมาธิการด้วย

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนตามการปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (13/7) ที่ระดับ 34.08/08 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/7) ที่ 34.09/44 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในวันจันทร์ (13/7) ตามทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ก่อนทรงตัวในวันอังคาร (14/7) หลังจากที่ตลาดรอการเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการของสหรัฐในช่วงคืนวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากการประกาศผลประกอบไตรมาส 2 ของโกลด์แมน แซคส์ และอินเทล ที่ดีเกินคาด อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่แข็งแกร่ง อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI), ดัชนีภาวะธุรกิจ Empire State และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CPI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ จะไม่ฉุดสหรัฐเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและภาวะชะงักงันแบบญี่ปุ่น ได้หนุนความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงและหุ้น ทำให้นักลงทุนมีความหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

ส่งผลกดดันให้ในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก อาทิ ค่าเงินยูโร, ค่าเงินปอนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นก่อนจะทรงตัวในช่วงปิดตลาดท้ายสัปดาห์ หลังข้อมูลการผลิตที่อ่อนแอ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มวิตกต่อผลประกอบการของธนาคารอื่นๆ ในสหรัฐและระมัดระวังในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 34.05-34.15 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดท้ายสัปดาห์ (17/7) ที่ระดับ 34.05/06 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (13/7) ที่ระดับ 1.3970/73 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/7) ที่ 1.3917/20 ดอลลาร์/ยูโร ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลง โดยยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ของนักลงทุน ก่อนปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ หลังผลประกอบการไตรมาส 2 ของสหรัฐที่สดใสบดบังตัวเลขเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนที่อ่อนแอ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Index), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปิดตลาดท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1.3895-1.4144 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดท้ายสัปดาห์ (17/7) ที่ระดับ 1.4108/13 ดอลลาร์/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (13/7) ที่ระดับ 32/84/86 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (10/7) ที่ระดับ 92.50/52 เยน/ดอลลาร์ ช่วงต้นสัปดาห์ หลังเปิดตลาดค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่า ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่ายจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากการร่วงลงของตลาดหุ้นเอเชียซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับความคาดหวังในแง่บวกที่ลดลงเกี่ยวกับโอกาสในการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหลังการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของสหรัฐที่ดีเกินคาดในคืนวันอังคาร (14/7) เพิ่มความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยนักลงทุนลดการถือครองเงินเยนลง และเข้าซื้อสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง อาทิ เงินยูโร ส่งผลให้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยเผื่อเรียกข้ามคืนที่ 0.10% ตามความคาดหมาย และมีมติขยายเวลาการใช้มาตรการสนับสนุนการให้เงินทุนแก่ภาคเอกชนออกไปหลังเดือน ก.ย. ก็ตาม แต่ข่าวดังกล่าวแทบไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินเยนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนในช่วงท้ายสัปดาห์ฟื้นตัวขึ้น โดยนักลงทุนเทขายเงินสกุลที่ให้ผลตอบแทนสูง อาทิ ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินปอนด์ เพื่อทำกำไรในระยะสั้น ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 91.72-94.44 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดท้ายสัปดาห์ (17/7) ที่ระดับ 93.75/77 เยน/ดอลลาร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook