สธ.ปรับแนวทางรักษาหวัดใหญ่2009 เร่งลดจำนวนคนตาย

สธ.ปรับแนวทางรักษาหวัดใหญ่2009 เร่งลดจำนวนคนตาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือแนวทางลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยมีแพทยย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมประชุม เช่น นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และนพ.ศุภมิตร ชุณสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค เป็นต้น

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้หาแนวทางลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โดย สธ.จะร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เข้าข่าย ได้แก่ ผู้ที่มีไข้ร่วมกับไอ เจ็บคอหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดเมื่อย อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งจะจัดส่งแนวทางให้โรงพยาบาลทั่วประเทศให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางดูแลผู้ป่วย จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1.คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีอาการปอดอักเสบ ซึมผิดปกติ รับประทานอาหารไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติ หรือมีปัญหาร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

กลุ่มที่ 2. ได้แก่กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรงซึ่งมี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคธาลัสซีเมีย ที่ทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายต่ำ รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องกินยาแอสไพรินมาเป็นเวลาน เช่นผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ที่มีอ้วนมาก ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 48 ชั่วโมง และพิจารณาให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงแรกหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้ว

กลุ่มที่ 3. เป็นผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง แนะนำวิธีการดูแลที่บ้าน ให้ยารักษาตามอาการ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เองภายใน 3 -5 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หายใจเร็ว หายใจลำบาก ซึมผิดปกติ กินไม่ได้ หรืออาการไม่ดีขึ้นในวันที่ 3 ของการป่วย แนะนำให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์ทันที ส่วนหลักเกณฑ์ในการให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ในรายที่อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จะให้ตามขนาดน้ำหนักตัว ขนาดตั้งแต่ 25 - 75 มิลลิกรัม กินวันละ 2 ครั้ง หากอายุต่ำกว่า 1 ปีจะให้ตามช่วงอายุ คือ ต่ำกว่า 3 เดือน , 3-5 เดือนและ 6-11 เดือน ให้กินขนาด 12 - 25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะเน้นเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรงที่มีปัญหาปอดบวมหรือรายที่รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีข้อโต้แย้งเรื่องการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นแบบพ่นว่า อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ประเทศรัสเซียมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มากว่า 30 ปี ซึ่งนำไปใช้กับประชาชนจำนวนมาก โดยไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ออกมาชี้แจงเพื่อความมั่นใจ ที่สำคัญการจะผลิตวัคซีนได้มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมยังได้ออกแนวทางการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลรักษาต่อไปโดยได้แบ่งโซนรับผิดชอบร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญจากแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแพทย์ที่รักษา การจัดทีมลงพื้นที่ให้คำแนะนำในกรณีร้องขอ และการฟื้นฟูวิชาการรักษาผู้ป่วยแก่โรงพยาบาลต่างๆใน 75 จังหวัดดังนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูแล 9 จังหวัดภาคเหนือได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดูแล 6 จังหวัดได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดีดูแล 7 จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี กรมการแพทย์ดูแลจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ ศิริราชพยาบาลดูแลนครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูแล ปราจีนบุรี นครนายกและฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดูแล สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด

สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูแล เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่นรวมกับกรมการแพทย์และวิทยาลัยแพทย์มงกุฎเกล้าดูแล ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ส่วนที่เหลือ 15 จังหวัดภาคใต้ตั้งแต่ ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงนราธิวาส อยู่ในความดูแลของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎและกรมการแพทย์ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook