การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน : กลไกจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน : กลไกจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประเทศไทย มีโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการรับหน้าที่สำคัญในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมเชอราตัน จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 19 23 กรกฎาคม 2552 นี้ โดยในการประชุมครั้งนี้ มีประเด็นมากมายที่น่าสนใจ และมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนชาอาเซียนหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งมีความพยายามทำอย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นเวลานาน การดำเนินการเกี่ยวกับกลไกการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน อาเซียน ได้ประกาศบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีของชาติอาเซียนในการมีธรรมนูญในการอยู่รวมกันเพื่อไปสู่ความเป็นประชาคมในปี 2015 ตามที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ ประเด็นสำคัญที่มีความพยายามผลักดันมาโดยตลอดในบริบทของอาเซียนคือ การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ทั้งนี้ ที่ผ่านมากว่า 4 ทศวรรษ อาเซียนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอกว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 42 นี้ ได้มีการจัดประเด็นของ กลไกจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน เป็นประเด็นสำคัญ โดยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2552 ได้มีการกำหนดให้มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคณะทำงานระดับสูงเพื่อยกรอบขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน (High Level Panel on the ASEAN Human Rights Body) และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียน (High Level Legal Experts Group on the ASEAN Charter) โดยในการนี้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะให้การรับรองร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์อรสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อให้สามารถประกาศจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม 2552 รวมทั้งจะรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นด้านกฎหมายภายใต้กฎบัตรฯ เช่น การให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่เจ้าหน้าที่ของอาเซียนและการพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน เป็นต้น นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทุกฝ่ายสามารถที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการจัดตั้งองค์กรสิทธิมยุษยชนอาเซียนได้ และที่ผ่านมาคณะทำงานในระดับสูงได้หารือร่วมกันมาโดยตลอด ทางภาคประชาสังคมของอาเซียนก็ได้มายื่นหนังสือเสนอข้อคิดเห็นในการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนซึ่งจะนำเสนอให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้รับทราบในการประชุมครั้งนี้ด้วย ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพม่า นานาชาติทั้งภายในและภายนอกอาเซียน ต่าแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าเป็นอย่างมาก อาเซียน ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพม่าเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถือว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับพม่าเป็นเวลานาน จึงถูกตั้งความคาดหวังไว้ว่าจะมีบทบาทในการเข้าไปพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เปิดเผยว่า จะมีการหารือเกี่ยวกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าและเรื่องนักโทษทางการเมืองในช่วงเย็นของวันที่ 19 กรกฎาคม 2552 ซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะหารือในประเด็นละเอียดอ่อนและประเด็นภายในอย่างไม่เป็นทางการ ส่วนกรณีของนักโทษทางการเมืองพม่าได้มีการหารือกันในกรอบการประชุมหลายระดับในอาเซียนและการประชุมในกรอบ ARF และรัฐบาลพม่าเองก็ได้พบกับเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่ามีความคืบหน้าไปมาก และการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนนั้นจะเป็นพันธกรณีที่จะแปลงสภาพจากสมาคมอาเซียนเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งได้ให้ความสำคัญในเรื่องของคนและสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้ง ความคาดหวังและความเป็นไปได้ แน่นอนว่าเมื่อมีความพยายามดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียนก็ย่อมมีความคาดหวังจากนานาประเทศตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับพม่า ทั้งนี้กรณีของนางออง ซาน ซู จี จะเป็นหัวข้อสำคัญที่จะมีการลงนามร่วมกันของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และนำไปสู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนตุลาคมนี้ แต่เท่าที่ผ่านมา อาเซียนประสบปัญหาสำคัญหลายประการในการดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนภายในอาเซียนด้วยกันเอง ทั้งนี้สามารถแจกแจงออกมาได้ดังนี้ 1. หลักการของอาเซียนเกี่ยวกับการไม่แทรกแซงกิจการภายใน สำนักข่าวแห่งชาติได้เคยนำเสนอเกี่ยวกับลักษณะสำคัญของหลักการของอาเซียนเกี่ยวกับการไม่แทรกแซงกิจการภายในมาแล้ว ในบทความเรื่อง "นโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายใน กับกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552) ซึ่งสรุปได้ก็คือ อาเซียนมีธรรมเนียมปฏิบัติในการไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึงวิธีการปฏิบัติในการบริหารประเทศของแต่ละประเทศ หากประเทศนั้น ๆ ไม่ยินยอม โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองซึ่งเป็นกรณีละเอียดอ่อน จึงทำให้อาเซียนไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใด ๆ ทางด้านสิทธิมนุษยธรรมอย่างเต็มที่ ในประเทศที่เกิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันจะเป็นการขัดต่อหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ทางภาคประชาสังคมอาเซียน ได้มีความพยายามในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการนี้ เพื่อให้อาเซียนมีอำนาจและหน้าที่ในการเข้าไปจัดการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่าอย่างเต็มที่มาโดยตลอด 2. หลักการของอาเซียนเกี่ยวกับหลักฉันทามติ หลักฉันทามติ เป็นอีกหนึ่งประเด็นหนึ่งที่ส่งผลทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อการดำเนินงานของอาเซียน เนื่องจากอาเซียนรวมตัวกันด้วยความเต็มใจเป็นสำคัญ และยึดถือความเห็นพ้องต้องกันมาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติและสร้างความพอใจแก่ทุกฝ่าย แต่ในขณะเดียวกัน หลักฉันทามตินี้ ก็สร้างอุปสรรคมากมายในการผลักดันการดำเนินการบางประการของอาเซียน โดยเฉพาะการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนที่มีปัญหาภายในประเทศสมาชิกอาเซียนมาโดยตลอด โดยประเด็นสำคัญคือพม่า ที่มีกฎหมายและหลักการดำเนินการทางการเมืองที่แตกต่างและขัดต่อความเห็นของประเทศสมาชิกอื่น ๆ เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นแม้จะถูกบีบบังคับ หรือมีมติจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ อันขัดต่อหลักการดำเนินงานของพม่า ทางรัฐบาลทหารพม่าก็ย่อมไม่เห็นด้วย และด้วยหลักฉันทามติ การดำเนินการนั้นๆ ก็จะไม่เกิดผลใด ๆ เลย 3. ความเข้มงวดและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎบัตรอาเซียน สิ่งที่นานาประเทศยังคงต้องจับตาดูต่อไปอย่างใกล้ชิดก็คือ ความศักดิ์สิทธิ์และความเข้มงวดของกฎบัตรอาเซียน เนื่องจากที่ผ่านมา อาเซียนถูกมองมาตลอดว่าเป็นเพียง เสือกระดาษ ที่ไม่มีการปฏิบัติอย่างเข้มงวดและจริงจังได้ โดยเฉพาะในกรณีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ดังนั้นเมื่อมีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 จึงมีความคาดหวังว่า กฎบัตรอาเซียน จะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้คณะทำงานของอาเซียนสามารถมีบทบาทเข้าไปดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม แม้ดูว่าการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียนจะยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เชื่อว่า ด้วยความตั้งใจและความมุ่งมั่นของอาเซียน ในการก้าวสู่การเป็น ประชาคมอาเซียน ในปี 2015 จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ในอาเซียน พร้อมใจกันจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ให้เป็นรูปธรรม และมีความร่วมมือในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook