เกษตรกรไทยยังต้องลุ้น ''จำนำ+ประกัน''

เกษตรกรไทยยังต้องลุ้น ''จำนำ+ประกัน''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผ่าทางตันราคาพืชผล?

ผลสำรวจศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจระบุไว้ว่า... ชีวิต เกษตรกรไทย ยามนี้น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นสวนทางกับราคาสินค้าเกษตรที่ลดต่ำลง ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพ หนี้สินรุงรัง ซึ่งผลสำรวจนี้ก็ไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริง และแม้การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจะถูกชูเป็นแผนหาเสียงหลักของทุกพรรคการเมือง และเป็นนโยบายหลักมาทุกยุคทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรอย่าง ข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง หรืออื่น ๆ แต่ก็ดูเหมือนปัญหายังคงวนเวียนอยู่ในวังวนเดิม

จนล่าสุดรัฐบาลปัจจุบันปัดฝุ่นนโยบาย ประกันราคา

ปัดฝุ่นนำมาใช้แทนหรือใช้ควบคู่ไปกับการ รับจำนำ

ทั้งนี้ ในขณะที่การปรับเปลี่ยนนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องราคาพืชผลยังอยู่ในช่วงกำลังจะเริ่ม เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลาย ๆ ฝ่ายได้ตั้งวงเสวนาเรื่อง จำนำ-ประกัน ราคา ฤาแก้ปัญหาสินค้าเกษตรไทย ซึ่งผู้เข้าร่วมก็มีทั้งนักวิชาการ, เอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), อรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนา ไทย, สุวรรณา ตุลยวศินพงศ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย (ทีดีอาร์ไอ), ผู้แทนสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจและสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ

ข้าว ถูกชูขึ้นมาเป็นตุ๊กตาหลักในวงเสวนาครั้งนี้

มีการวิพากษ์การช่วยเหลือทั้งระบบเก่า-ระบบใหม่...

สุวรรณา นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ระบุว่า... ระบบรับจำนำ ที่ผ่านมา สำหรับข้าวก็ทำให้เกิดปัญหาหลายจุด อาทิ ภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องแบกรับไว้ ทั้งการอุดหนุนภาคเกษตร ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าแปรสภาพ ค่ากักเก็บ ค่าขนส่ง จึงเกิดปัญหารายจ่ายสะสม และการที่รัฐทำตัวเป็นพ่อค้ารายใหญ่ก็ทำให้ราคาตลาดถูกบิดเบือน ส่งผลให้กลไกตลาดถูกทำลาย โรงสีและผู้ส่งออกไม่สามารถหาซ้อข้าวได้เพียงพอ ไม่สามารถแข่งขันได้เพราะมีต้นทุนที่สูง

ที่สำคัญ ความยั่วยวนใจจากราคารัฐที่สูงกว่าราคาตลาดยังเป็นการทำลายคุณภาพสินค้าเกษตร-คุณภาพข้าวทางอ้อม เพราะทำให้ชาวนาเร่งรอบการผลิตมากขึ้น โดยใช้พันธุ์ข้าวเบาเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น จนข้าวที่ได้ ไร้คุณภาพ เหล่านี้ทำให้เกิดแนวคิดนำ ระบบประกันราคา มาใช้ทดแทน ซึ่งระบบนี้ไม่ใช่การยกหรือพยุงราคา

ระบบประกันราคาที่จะนำมาใช้ เป็นการลดความเสียหายจากความ เสี่ยงราคาตกต่ำ เพื่อช่วยให้เกษตรกรวางแผนตัดสินใจในการเพาะปลูกได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะประสบปัญหาขาดทุน มีหนี้มีสิน นอกจากนี้ รัฐยังสามารถลดแรงกดดันทางการเมือง โดยยังสามารถแสดง เจตจำนงในการช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยการระบุอัตรา ตั้งราคาประกันที่สูงกว่าต้นทุนการผลิต ขณะที่เกษตรกรก็วางแผนการผลิตได้ บริหารความเสี่ยงได้

ชาวนาก็จะรู้ว่าราคาที่ได้คุ้มกับต้นทุนผลิตหรือไม่ ซึ่งระบบประกันนี้รัฐไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการค้าขายข้าว ทำให้กลไกตลาดไม่ถูกทำลาย และลดปัญหาทุจริตลงทุกระดับ...นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ

ด้าน เอ็นนู รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. ก็บอกว่า... ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยกำลังจะมีการนำระบบประกันนี้มาใช้ควบคู่กับระบบ เดิมเพื่อเป็นทางเลือก โดยนำร่องโครงการประกันความเสี่ยงราคาข้าวเปลือกหอมมะลิใน 8 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด อุดรธานี นครราชสีมา

ระบบนี้เหมือนการประกันรายได้ขั้นต่ำให้เกษตรกร ดึงรัฐออกจากระบบ เป็นการแทรกแซงที่ไม่บิดเบือนกลไกเดิมของตลาด ไม่ทำให้ราคาเป็นปัญหาเช่นที่ผ่านมา ...รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. ว่าอย่างนี้

ขณะที่ ชูเกียรติ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ก็แสดงท่าทีเห็นด้วย โดยเชื่อว่า... ระบบประกันนี้จะไม่ทำลายกลไกตลาด เพราะรัฐไม่ได้ยุ่งในระบบ ซึ่งที่ผ่านมากลไกการตั้งราคารับจำนำข้าวเกิดจากการเมืองล้วน ๆ ทำให้กลไกตลาดและระบบการคาถูกทำลาย การส่งออกข้าวไทยลดลงเนื่องจากผู้ค้าข้าวทำยอดไม่ได้เพราะต้นทุนสูงขึ้น ในขณะที่ต้องขายข้าวแข่งกับ คู่แข่งในราคาเท่าเดิม ซึ่งถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ ไทยอาจถูกประเทศคู่แข่งแซงหน้า

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวนาไทย ระบุในวงเสวนาว่า...ส่วนตัวไม่คัดค้านระบบใหม่ แต่เห็นว่ายังไม่ควรเร่งรีบทำ เพราะ รายละเอียดยังไม่ชัดเจนในหลายประเด็น ทั้งเรื่องจำนวนพื้นที่ เกรดของข้าว ราคาอ้างอิง ดังนั้นจึงน่าจะรอจนกว่าจะหาข้อดีข้อด้อยให้พบชัดเจนก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาไม่ต่างจากระบบเก่า

หากเร่งรีบเกินไป ก็มีแต่จะเสียหาย ซึ่งนี่ก็ใกล้ฤดูรับจำนำแล้ว ถามว่าเจ้าหน้าที่พร้อมพอหรือไม่ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเลยว่าจะนำ 2 ระบบเก่า-ใหม่ใช้คู่กัน เพราะแม้แต่ระบบเก่าทุกวันนี้ชาวนาหลายคนก็ยังไม่เข้าใจ ยิ่งมีระบบใหม่อีกยิ่งงงไปกันใหญ่ สุดท้ายความสับสนก็จะเกิดขึ้น และสุดท้ายคนที่เจ็บก็เป็นชาวนาวันยังค่ำ

ต้องไม่ลืมว่าอาชีพของเกษตรกร การทำนา ไม่เหมือนการค้าขาย และที่มีการระบุว่าเงินที่รัฐใช้อุ้มชาวนาที่ผ่านมาทำให้ประเทศไม่พัฒนา นั้น ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวนาทุกคนรู้สึกอึดอัดและเสียใจ เพราะข้อเท็จจริงคือ เงินเหล่านั้นถึงมือชาวนาไม่ถึงครึ่ง !!...นายกสมาคมชาวนาทิ้งท้าย

ถามว่า...แล้วเงินไปตกหล่นใส่กระเป๋าใคร ? ก็รู้ ๆ กันอยู่

แล้วช่วยเกษตรกรระบบใหม่จะอีหรอบเดิมมั้ย ? ก็ยังไม่รู้

ที่แน่ ๆ เกษตรกรไทย-ชาวนาไทย...กำลังตั้งตารอลุ้น ??.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook