สัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยในซิดนีย์

สัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยในซิดนีย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ระยะนี้ท่านผู้อ่านจะเป็นเหมือน ไท ดูโต รึเปล่าก็ไม่ทราบ ที่สุขภาพจิตกำลังย่ำแย่ ทั้งเซ็งทั้งเบื่อมนุษย์บางจำพวกเต็มทน สัปดาห์นี้จึงจะขออนุญาตไม่คุยเรื่องคน เปลี่ยนไปพูดถึงเรื่องของสัตว์ชนิดหนึ่งดีกว่า ถึงแม้ธรรมชาติจะกำหนดมาให้สัตว์ชนิดนี้มีหนังหนาอยู่สักหน่อย แต่ก็นิสัยดีน่ารักเป็นส่วนมาก ซ้ำยังเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยเราอีกด้วย คือช้างนั่นเอง

เมื่อเช้าตรู่วันที่ 4 กรกฎาคม ผู้อำนวยการสวนสัตว์ทารองก้าในนครซิดนีย์ได้แจ้งให้ท่านกงสุลใหญ่เกียรติคุณ ชาติประเสริฐ กงสุลใหญ่ไทย ณ นครซิดนีย์ ทราบข่าวดีว่า ช้างไทยที่ประเทศไทยให้ออสเตรเลียเป็นของขวัญ ชื่อพังทองดี ที่กำลังตั้งท้องอยู่นั้น ได้คลอดลูกช้างแล้วเมื่อตีสามครึ่งวันนั้นนั่นเอง ลูกช้างเป็นตัวผู้ สุขภาพแข็งแรงดี

กระทรวงสิ่งแวดล้อมและมรดกด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมออสเตรเลียและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ได้จัดทำความตกลงเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนในการอนุรักษ์สัตว์ป่า การดูแลความเป็นอยู่ของช้างและการแลกเปลี่ยนสัตว์ระหว่างสวนสัตว์ไทยกับสวนสัตว์ออสเตรเลีย รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ บุคลากร การส่งเสริมความรู้และการให้การศึกษาเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าและวัฒนธรรม วิทยาการในการเลี้ยงดูและการดูแลความเป็นอยู่ของสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ภายใต้ข้อตกลงที่ว่านี้ ไทยได้จัดส่งช้างให้ออสเตรเลีย 8 เชือก อยู่ที่สวนสัตว์ทารองก้าในซิดนีย์ 5 เชือก และเริ่มเปิดให้ประชาชนชมช้างไทยมาตั้งแต่ต้นปี 2549 ส่วนอีก 3 เชือกอยู่ที่สวนสัตว์นครเมลเบิร์น

สถานกงสุลใหญ่ไทยมีความร่วมมือประสาน งานกับสวนสัตว์ทารองก้าใกล้ชิด และได้ไปตรวจเยี่ยมสภาพความเป็นอยู่ของช้างไทยอยู่บ่อย ๆ (ท่านผู้อ่านอาจจะจำได้ว่า ไท ดูโต เคยเล่าถึงข่าวภารกิจดูแลช้างไทยของทั้งสถูตไทยที่กรุงแคนเบอร์ราและสถานกงสุลไทยที่ซิดนีย์มาแล้ว) ช้างไทย 5 เชือกนี้ มีชื่อพลายกุ้ง ช้างไทยตัวผู้หนึ่งเดียวในสวนสัตว์ทารองก้า พังทองดี (ที่เพิ่งจะเป็นแม่ช้าง) พังผักบุ้ง พังพรทิพย์ และน้องนุชสุดท้องคือพังแตงโม ทั้งหมดสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยเฉพาะพ่อพลายกุ้งนั้น นับว่าเป็นขวัญใจคนออสเตรเลียที่ไปเที่ยวสวนสัตว์ทีเดียว เพราะซุกซน น่ารัก พอเข้าวัยหนุ่มก็สำแดงอิทธิฤทธิ์ทำให้สาวทองดีท้องเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน นอกจากนั้นก็ยังเสกเลือดเนื้อเชื้อไขช้างไทยเข้าท้องพังผักบุ้งอีกเชือกหนึ่งด้วย ข่าวว่าเป็นการผสมด้วยวิธีธรรมชาติ ส่วนพังพรทิพย์นั้นก็ตั้งท้องแล้วเหมือนกัน ด้วยการผสมเทียมกับพลายบังสุ ช้างมาเลเซียจากสวนสัตว์เมลเบิร์น เหลือน้องแตงโมยังเป็นช้างเด็กอยู่ ยังไม่มีการจัดให้ผสมพันธุ์

สวนสัตว์ได้จัดเตรียมสถานที่อย่างครบถ้วน เพื่อให้ช้างไทยมีสภาพความเป็นอยู่เป็นธรรมชาติ ใกล้เคียงกับในเมืองไทยมากที่สุด เช่น สร้างโรงช้างที่มีหลังคาและเครื่องทำความร้อน สร้างน้ำตกและสระน้ำอุ่นให้ช้างเล่นน้ำได้ ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด อาบน้ำให้ช้างทุกวัน รวมทั้งได้สรรหาสั่งซื้อพืชและผลไม้ที่เป็นอาหารตามธรรมชาติของช้างด้วย แต่ละปี สวนสัตว์ต้องใช้งบประมาณในการดูแลเลี้ยงดูช้างคิดเป็นเงินไทยถึงประมาณ 2.8 ล้านบาทต่อเชือกต่อปี

การขยายพันธุ์ช้างถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าซึ่งสวนสัตว์ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ช้างไทยจนคลอดลูกช้างสำเร็จเป็นครั้งแรกของสวนสัตว์ทารองก้า และที่จริงนับว่าเป็นลูกช้างเอเชียเชือกแรกที่เกิดบนผืนแผ่นดินทวีปออสเตรเลียด้วย ทางออสเตรเลียจึงตื่นเต้นดีใจมาก ผู้เชี่ยวชาญของสวนสัตว์ได้ตรวจอาการของพังทองดีอย่างใกล้ชิดมาตลอดเวลาตั้งครรภ์ โดยสถานกงสุลใหญ่ไทยก็ร่วมติดตามอย่างใกล้ชิดเหมือนกัน ตอนนี้เมื่อคลอดแล้ว ทางสวนสัตว์ก็ยังไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมลูกช้าง เพราะต้องการให้แม่ช้างและช้างเชือกอื่นปรับตัวเข้ากับลูกช้าง ตามกระบวนการตามธรรมชาติก่อน (ข่าวหนังสือพิมพ์ออสซี่รายงานว่า ลูกช้างแม่ช้างและป้าช้างน้าช้างปรับตัวเข้าหากันได้ดี) จากนั้นจึงจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมต่อไป

เมื่อลูกช้างคลอดแล้ว ท่านกงสุลใหญ่เกียรติคุณก็ได้พบกับผู้อำนวยการสวนสัตว์ เพื่อแสดงความยินดีและหารือความเป็นไปได้ในการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับทั้งไทยและออสเตรเลีย ในชั้นนี้เตรียมไว้ 2 กิจกรรม คือ การให้คนออสเตรเลียแข่งขันประกวดตั้งชื่อลูกช้าง มีรางวัลสำหรับผู้ชนะเป็นตั๋วเครื่องบินไป-กลับซิดนีย์ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ รวมทั้งแพ็กเกจเที่ยวกรุงเทพฯ และภาคเหนือพร้อมที่พัก ที่พิเศษสุดคือแพ็กเกจค้างคืนแบบ home stay ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่ลำปาง พร้อมเข้าหลักสูตรสองวันฝึกเป็นควาญช้างด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากการบินไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกกิจกรรมหนึ่งที่กงสุลใหญ่เกียรติคุณ กะไว้คือ สถานกงสุลใหญ่กับสวนสัตว์จะจัดพิธีทำบุญรับขวัญลูกช้าง โดยนิมนต์พระสงฆ์ไทยในซิดนีย์มาสวดมนต์เพื่อให้ เป็นสิริมงคล ใช้พื้นที่บริเวณศาลาไทยซึ่งรัฐบาลไทยไปสร้างให้สวนสัตว์ทารองก้าไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2548 ถึงเวลานั้นถ้ามีข่าวอะไรที่น่ารักน่าสนใจอย่างนี้อีก ไท ดูโต ก็จะนำมาเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบต่อไป.

ไท ดูโต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook