กลุ่มประชาชน เร่งผลักดันให้รัฐบาลยกเลิก กม.ผู้ประสบภัยจากรถ-ผลาญเงินค่าบริหาร

กลุ่มประชาชน เร่งผลักดันให้รัฐบาลยกเลิก กม.ผู้ประสบภัยจากรถ-ผลาญเงินค่าบริหาร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กลุ่มประชาชน ผู้บริโภค เอ็นจีโอ ไม่เห็นด้วยกับเลขาธิการคปภ.ที่ต้องการเสนอเพิ่มความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหลายกรณี แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด เพราะประชาชนยังสามารถล้มละลายได้จากอุบัติเหตุเมื่อถูกนำส่งโรงพยาบาลเอกชน ตามที่ นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ได้เตรียมเพิ่มความคุ้มครองหลักในส่วนของค่าสินไหมกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร จากเดิม 15,000 บาท เป็น 35,000 บาท และหากในกรณีที่เสียชีวิตก็เพิ่มค่าสินไหมจาก 100,000 บาทเป็น 200,000 บาท รวมถึงการเพิ่มค่าชดเชยรายวันให้วันละ 200 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 20 วัน และเตรียมนำเข้าพิจารณาของคณะรัฐมนตรีนั้น ทางกลุ่มประชาชน ผู้บริโภค และองค์กรพัฒนาเอกชนเห็นว่า มาตรการดังกล่าวดูเสมือนต้องการเอาใจผู้ประสบภัยรถยนต์ แต่กลับหลีกเลี่ยงที่จะแก้ไขปัญหาพื้นฐานของระบบที่ขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนยังไม่สามารถใช้สิทธิได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิเมาไม่ขับ ยังสะท้อนว่า ปัญหาที่ผ่านมา เหยื่อจากอุบัติเหตุรถยนต์ ไม่ได้รับการชดเชยสินไหมที่เป็นธรรม ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุพิการ ทั้งนี้ งานวิจัยของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังพบว่า การสำรวจประชาชนผู้ประสบภัยรถยนต์ ใน 48 จังหวัด จำนวน 666 คน ผู้ที่ประสบภัยรถยนต์ มากกว่า 55. 3% ไม่ใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ มีเพียง 42% ที่ใช้สิทธิ พ.ร.บ. หรือ จำนวน 280 คนและเมื่อใช้เกิดปัญหาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ (99.6% หรือ 279 คน) และต้องใช้สิทธิบัตรทองและประกันสังคม ควบคู่ไปสูงถึง 43.10% และ 16.10% ตามลำดับ

ที่สำคัญ คปภ. ได้ร่วมกับบริษัทประกันภัยเอกชน ปกปิดข้อเท็จจริง หมกเม็ดการบริหารกองทุนประกันภัยภาคบังคับ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของบริษัทประกันภัยเอกชน โดยพบว่า ในปี 2551 ที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยเอกชนใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมากถึง 4,785 ล้านบาท (เกือบร้อยละ 47) ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่า ประมาณ 4,534 ล้านบาท (ประมาณร้อยละ 45) ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันมีจำนวนกรมธรรม์ประมาณ 19.8 ล้านกรรมธรรม์เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า มีการใช้งบประมาณในการบริหารจัดการที่สูงมากจนไม่อาจรับได้ทั้งที่เอกชนมักอ้างว่า มีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการใช้งบประมาณในการจ่ายค่าตอบแทนผู้ขายประกัน (Commission) หรือการส่งเสริมการขายที่มีมากมายสูงถึง 45-50 % ของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทั้งที่เป็นการประกันแบบบังคับหรือหาก เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้งบประมาณในการบริหารงานกองทุนหลักประกันเพียงประมาณ 800 ล้านาทจากองทุนมากกว่า 100,000 ล้านบาท กับประชากร 47 ล้านคน

กลุ่มประชาชนผู้คัดค้านข้างต้น จึงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถฉบับ พ.ศ. 2535 โดยให้ประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุ รับการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพของตนเอง เพราะประชาชนทุกคนได้รับการคุ้มครองด้วยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว และให้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อจัดตั้ง กองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ ที่คุ้มครองกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต โดยมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และงบประมาณในการบริหารกองทุนนี้ไม่เกินร้อยละ 5 โดย หากคำนวณสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ในแต่ละปีประมาณ 13,000 ราย และให้ได้รับการชดเชยสินไหมสูงสุด จำนวน 100,000 บาท เป็นเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท และรวมกับจำนวนผู้ทุพพลภาพร้อยละ 10 ของผู้เสียชีวิต จำนวนเงินประมาณ 130 ล้านบาท รวมค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดประมาณ 1,430 ล้านบาท

หากมีการใช้เงินค่าบริหารจัดการไม่เกินร้อยละ 5 ประชาชนจะต้องจ่ายเบี้ยประกันตามกฎหมายจัดตั้งกองทุนฉบับใหม่ประมาณ 200 บาท สำหรับรถยนต์ และจำนวน 100 บาทสำหรับรถจักรยานยนต์เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระของประชาชน และทำให้ระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากลดความซ้ำซ้อนของกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ และกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook