เปิดไส้ใน โครงการกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ฉบับ กรณ์ จาติกวณิช แบบหมดเปลือก

เปิดไส้ใน โครงการกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ฉบับ กรณ์ จาติกวณิช แบบหมดเปลือก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประชาชาติธุรกิจ เปิดรายละเอียด โครงการกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ฉบับ กรณ์ จาติกวณิช ฉบับชงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แก้ปัญหาเงินออมในวันที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดึงแรงงานนอกระบบ 26 ล้านคนเข้าสู่ระบบเงินออมอย่างยั่งยืน เผยสมาชิกได้รับรายได้หลังเกษียณไปตลอดอายุขัย อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน หากออมตั้งแต่อายุ 20 ปี และออมจนครบอายุ 60 ปี จะได้รับบำนาญเดือนละ 1,710 บาท รวมเบี้ยยังชีพ เป็น 2,210 บาท รัฐจะมีภาระสมทบปีแรก จำนวน 22,955 ล้านบาท

1. ความเป็นมา

กระทรวงการคลังได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์การสร้างระบบการออมระยะยาวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือระดมเงินออมระยะยาวในประเทศ และเป็นเครื่องมือการออมเพื่อการชราภาพของแรงงานอีกด้วย โดยได้นำเสนอผลการศึกษาต่อสาธารณชนหลายครั้งในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมระยะยาว และรณรงค์ให้เกิดความตระหนักในความสำคัญของการออม โดยได้เคยนำเสนอโครงการกองทุนการออมเพื่อการชราภาพสำหรับแรงงานในระบบ ซึ่งขณะนี้ ได้ยกร่างกฎหมายในส่วนนี้เรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับการออมของแรงงานนอกระบบ กระทรวงการคลังได้ศึกษาวางแนวทางระบบการออมเพื่อการชราภาพให้กับแรงงานนอกระบบมาเป็นระยะ ๆ โดยได้ศึกษาโครงการระบบการออมเพื่อการชราภาพ (บำเหน็จบำนาญ) สำหรับแรงงานนอกระบบ โดยการพัฒนาการออมชุมชนให้สามารถดำเนินการเรื่องกองทุนบำเหน็จบำนาญได้ ต่อมาคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (จัดตั้งตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการผลักดันระบบการออมเพื่อวัยสูงอายุแห่งชาติ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ (มอบนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ) เพื่อผลักดันให้เกิดการออมเพื่อวัยสูงอายุแห่งชาติขึ้น ซึ่งได้จัดให้มีการนำเสนอผลการศึกษาในเรื่องดังกล่าวจากหลายหน่วยงาน รวมทั้ง กระทรวงการคลังได้เสนอโครงการกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) (เดิมใช้ชื่อกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.))

ซึ่งได้นำเสนอผลการศึกษาโครงการ กอช. ต่อคณะอนุกรรมการผลักดันระบบการออมเพื่อวัยสูงอายุแห่งชาติ มาแล้วจำนวน 4 ครั้ง (ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552) ได้ข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯ ดังมีสาระสำคัญ ต่อไปนี้

2. สาระสำคัญ

2.1 เหตุผลและความจำเป็นในการจัดตั้ง

2.1.1 ความครอบคลุมในระบบการออมเพื่อการชราภาพยังไม่ทั่วถึง

จากข้อมูลปี 2551 พบว่ามีจำนวนผู้มีงานทำทั่วประเทศ 37.55 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ จำนวนคน (ร้อยละ 37 ของผู้มีงานทำ) และแรงงานนอกระบบ จำนวน 23.55 ล้านคน (ร้อยละ 63 ของผู้มีงานทำ) โดยแรงงานที่ได้รับความคุ้มครองเป็นแรงงานในระบบ จำนวน 11.3 ล้านคน (ร้อยละ 30 ของผู้มีงานทำ ) ดังนั้น แรงงานที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นแรงงานนอกระบบทั้งจำนวนและแรงงานในระบบที่เหลือจำนวน 2.7 ล้านคน ดังนั้น รวมผู้ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 26.25 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของผู้มีงานทำ

1.1.1 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว พบว่าภายใน 20 ปี (ปี 2551 - 2571) สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุต่อประชากรรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากร้อยละ 10.12 เป็นร้อยละ 20.22 และอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อประชากรวัยทำงาน (Elderly Dependency Ratio) เพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่า จากร้อยละ 15.16 เป็น 31.88 เกิดความเสี่ยงของภาครัฐที่จะต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากมาเลี้ยงดูคนชรา ในขณะที่ความเสี่ยงจากรายได้ภาษีคนวัยทำงานจะลดลงตามจำนวนคนวัยทำงานที่มีทิศทางลดลงด้วย

1.1.2 ขาดช่องทางการออมที่เป็นระบบในการส่งเสริมวินัยการออมและเพิ่มเงินออมภาคครัวเรือน

ปัจจุบันเครื่องมือการออมระยะยาวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและสอดคล้องกับความสามารถในการออมของประชาชนโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบยังมีอยู่น้อยมาก ซึ่งหากประชาชนได้มีช่องทางหรือเครื่องมือการออมที่เป็นระบบ และเข้าถึงได้ง่ายแล้ว ก็จะสามารถระดมเงินออมภาคครัวเรือนได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเงินออมภาคครัวเรือนมีความสำคัญในการเป็นแหล่งเงินทุนที่มั่นคง กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมประชาชนให้มีวินัยในการออม ดูแลตนเองได้ในวัยชรา ลดภาระของลูกหลานและรัฐบาลได้อีกด้วย

1.2 วัตถุประสงค์

1.2.1 เพื่อให้มีระบบการออมเพื่อการชราภาพมีความครอบคลุมทั่วถึงแรงงานทุกคน สร้างความเท่าเทียม และเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ

1.2.2 เพื่อให้แรงงานมีระดับรายได้หลังเกษียณอย่างน้อยขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตวัยชรา

1.2.3 เพื่อให้มีกองทุนที่มีการบริหารและสามารถลดภาระรัฐบาลได้ในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ

1.3โครงสร้าง กอช.

1.3.1 รูปแบบ เป็นกองทุนการออมเพื่อการชราภาพขั้นพื้นฐานที่วัยแรงงาน ได้รับสิทธิตามกฎหมาย กำหนดการจ่ายเงินเข้ากองทุน (Defined contribution) สมาชิกมีบัญชีรายบุคคล และเปิดให้มีการออมภาคสมัครใจด้วย

1.3.2 ความครอบคลุม ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมตามกฎหมายอื่น ๆ (แรงงานนอกระบบ) ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปี ได้รับสิทธิตามกฎหมายในการเป็นสมาชิกกองทุน ส่วนผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถเข้ากองทุนได้ตามความสมัครใจ (สะสมฝ่ายเดียว)

1.3.3 ผู้ที่ได้รับการยกเว้น วัยแรงงานที่ทุพพลภาพ ไร้สมรรถภาพ หรือเป็นผู้สูญเสียความสามารถในการทำงานอย่างถาวร

2.1.2 การจ่ายเงินเข้ากองทุน

1) ผู้ออม สามารถเลือกจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนเป็นรายเดือน หรือรายงวด (3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี) ก็ได้ โดยรายเดือน สะสมตามสิทธิเดือนละ 100 บาท สำหรับรายงวด จ่ายตามจำนวนเดือน เช่น ราย 6 เดือน แรงงานจะต้องจ่าย 600 บาท เป็นต้น และสะสมตามความสมัครใจได้เดือนละ 100 - 1,000 บาท

2) รัฐบาล จ่ายสมทบให้ตามสิทธิ เป็นลำดับขั้นตามช่วงอายุของผู้ออม คือ

(1)อายุ 20 - 30 ปี สมทบเดือนละ 50 บาท

(2)อายุ 30 ปี 1 เดือน - 50 ปี สมทบเดือนละ 80 บาท

(3)อายุ 50 ปี 1 เดือน - 60 ปี สมทบเดือนละ 100 บาท

ทั้งนี้ กรณีรายงวด รัฐสมทบให้ตามจำนวนเดือนเช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้น (ตามข้อ 2.3.3) ไม่ต้องจ่ายสะสม และรัฐสมทบให้ ร้อยละ 50 ของกรณีปกติ

3.3.5 การจ่ายผลประโยชน์ สมาชิกได้รับผลประโยชน์ตามบัญชีรายตัว โดยได้รับการรับประกันจากรัฐบาลในส่วนเงินต้น รวมดอกผลขั้นต่ำไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาวประเภท 1 ปี (เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง) โดยอัตราบำนาญได้จากบัญชีเงินสะสมคำนวณตามจำนวนปีที่สมาชิกประสงค์จะรับ รวมกับบัญชีเงินสมทบคำนวณแบบบำนาญตลอดอายุขัย ดังนั้น สมาชิกจะได้รับบำนาญไปตลอดอายุขัย และหากเสียชีวิตก่อนเวลาที่กำหนด ทายาทจะได้รับเงินคืนในส่วนของบัญชีเงินสมทบที่เหลือ โดยการรับผลประโยชน์จากกองทุนมีเงื่อนไข ดังตาราง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook