คลังชงตั้งกอช.ก่อนกบช.

คลังชงตั้งกอช.ก่อนกบช.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ก.ค.) นายสมชัย สัจจพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แนวทางการจัดตั้งกองทุนการออมเพื่อชราภาพ (กอช.) นั้น คาดว่าจะเสนอร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งกอช.ให้ครม.พิจารณาภายในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อให้บังคับใช้ได้ในวันที่ 1 ม.ค. 53 เป็นต้นไป พร้อมกับการจัดตั้งสำนักงานการออมเพื่อการชราภาพ ซึ่งจะมีรูปแบบการจัดตั้งและบริหารเหมือนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อทำหน้าที่บริหารเงินกองทุนให้เกิดดอกผล เนื่องจากรัฐบาลรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี

ทั้งนี้ สศค.ศึกษาพบว่า เพื่อการออมที่เหมาะสม ซึ่งวัดจากเส้นความยากจนของประชาชนที่มีรายได้เดือนละ 1,400-1,500 บาทนั้นมีอัตราการออมที่เหมาะสมคือ ประชาชนช่วงอายุ 20-31 ปี ควรออมเงินเดือนละ 100 บาท รัฐสมทบให้อีก 50 บาท เมื่อเกษียณอายุจะมีรายได้ต่อเดือน 3,260 บาท ช่วงอายุ 31-50 ปีควรออมเงินเดือนละ 250 บาท รัฐสมทบอีก 80 บาท จะมีรายได้ต่อเดือน 2,042 บาท ช่วงอายุ 51-60 ปี ควรออมเงินเดือนละ 500 บาท รัฐสมทบอีก 100 บาท จะมีรายได้ต่อเดือน 576 บาท โดยรายได้ต่อเดือนดังกล่าวนี้ยังไม่รวมเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีกเดือนละ 500 บาที่จะได้จากรัฐบาลด้วย

กอช.ถือเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) นอกระบบ เพราะการจัดตั้งกบช.อาจทำได้ยาก ขณะที่รัฐบาลต้องการให้แรงงานนอกระบบที่มีถึง 24 ล้านคน มีระบบการออมเพื่อรองรับเมื่อเกษียณอายุ จึงจัดตั้งในรูปแบบกอช.ก่อน และจะรับเป็นสมาชิกเฉพาะแรงงานนอกระบบเท่านั้น โดยที่รัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินให้ตั้งแต่ช่วงอายุ 60-80 ปี หากเสียชีวิต เงินที่เหลือสามารถตกทอดสู่ลูกหลานได้

สำหรับแรงงานที่จะเข้าเป็นสมาชิก กอช. นั้น สามารถขึ้นทะเบียน และส่งเงินได้ที่ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) รวมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น (ปอท.) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แรงงาน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเก็บเงินส่งเข้ารัฐ ซึ่งสามาชิกสามารถสมทบเงินได้สูงสุดถึงเดือนละ 1,000 บาทแต่รัฐยังสมทบในอัตราคงที่ ที่กำหนดคือ 50 80 และ 100 บาท และกรณีที่ต้องการไถ่ถอนเงิน สามารถทำได้ แต่ต้องให้คณะกรรมการกองทุน เป็นผู้กำหนด รวมถึงสามาชิกที่ส่งเงินสมทบไม่สม่ำเสมอ จะคิดตามยอดคงค้างที่นำส่งเข้ารัฐ มาจ่ายคืนเมื่อวัยเกษียณ ซึ่งเงินที่ได้รับต่อเดือนจะน้อยลงด้วย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook