นิทาน

นิทาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันนี้มิได้มีเจตนาจะชวนมาฟังนิทาน เพียงแต่จะมาเล่าเรื่อง นิทาน ที่ได้อ่านมาจากพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า นิทาน (nidana) ตามรูปศัพท์แปลว่า เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด ต้นเค้า มีความหมายเท่ากับ เหตุ สมุทัย ปัจจัย ชาติกา และปภวะ ดังปรากฏในมหานิทานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ ทีฆนิกาย มหาวรรค ที่มีพระพุทธดำรัสตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ เพราะเหตุนั้นในที่นี้ (จึงพึงเห็นว่า) ภพนี้แหละเป็นเหตุ ภพนี้แหละเป็นนิทาน (ต้นเหตุ) ภพนี้แหละเป็นสมุทัย ภพนี้แหละเป็นปัจจัยแห่งการเกิด นิทานในสูตรนี้ คือ อาการที่เป็นปัจจัยในปฏิจจสมุปปบาท

นอกจากนี้ นิทาน ยังใช้หมายถึง กรรมเก่าที่ส่งผลให้เป็นอย่างที่เป็นในชาติปัจจุบัน ความหมายในลักษณะนี้มักมใช้เกี่ยวกับอดีตประวัติของพระพุทธเจ้า ดังจะเห็นได้จากอรรถกถาชาดกที่แบ่งประวัติในอดีตของพระพุทธเจ้าออกเป็นตอน ๆ ซึ่งสรุปได้ว่า ประวัติในอดีตเรียกว่า ทูเรนิทาน ส่วนประวัติในชาติปัจจุบันเรียกว่า สันติเกนิทาน และชาดกเองถือเป็นนิทาน คือ เป็นเรื่องที่แสดงถึงว่าพระโพธิสัตว์ได้ทำกรรมไว้หรือบำเพ็ญบารมีใดไว้ในอดีตชาติจึงเป็นปัจจัยให้ได้รับผล คือ ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในชาติปัจจุบัน ต่อมา ได้มีการใช้นิทานเป็นชื่อหนังสือที่แต่งเกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้า เช่น โสตัตถกีมหานิทาน ชินมหานิทาน สัมปิณฑิตนิทาน ซึ่งนิทานเหล่านี้ล้วนแต่กล่าวถึงประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเป็นตัวนำเรื่องแล้วเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน

งคมไทยรับเอาคำนิทานมาใช้ในความหมายว่าเป็นเรื่องเล่าที่อาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ส่วนมากจะเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องจริงหรือไม่ใช่เรื่องที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือ และเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดนิทานประเภทต่าง ๆ ในสังคมไทย เช่น นิทานพื้นบ้าน นิทานคำกลอน และแม้แต่ชาดกเองคนไทยก็เรียกว่า นิทานชาดก ซึ่งตามความหมายก็คงเข้าใจว่าเป็นเรื่องเล่า แต่ในความเป็นจริงแล้วคำนี้มีความหมายลึกซึ้งกว่า ชาดก (เรื่องที่เกิดแล้วในอดีต) ที่บ่งบอกให้รู้ว่าทำกรรมใดไว้จึงได้มารับผลอย่างนี้ในปัจจุบัน.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook