คลังเร่งแจ้งเกิดกอช. ออมเงินไว้ใช้ยามชรา

คลังเร่งแจ้งเกิดกอช. ออมเงินไว้ใช้ยามชรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ความหวังที่จะเห็นคนไทยเกือบทั้ง 65 ล้านคน มีระบบบำเหน็จบำนาญในช่วงวัยเกษียณทำท่าจะเกิดขึ้นได้จริงในรัฐบาลชุดนี้ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยขุนพลทางเศรษฐกิจคนสำคัญ อย่างนาย กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง คอยผลักดันเต็มที่

ยืนยันชัดหลังการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ว่าภายในเดือนก.ย.นี้ กระ ทรวงการคลังจะเร่งจัดตั้งกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ด้วยการเสนอครม. พิจารณา และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ซึ่งเร็วที่สุดคือเริ่มใช้ได้ทันทีในต้นปี53 นี้

เป้าหมายหลักที่ขุนคลังยืนยันจะทำให้กฎ หมายนี้เกิดขึ้นก็เพื่อให้แรงงานนอกระบบที่มีถึง 24 ล้านคน ออมเงินไว้ใช้ยามแก่เฒ่า โดยรัฐยืนยันจะทุ่มงบให้ปีละ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสมทบกับเงินออมทุกเดือนของประชาชนที่รัฐกำหนดให้แต่ละคนออมได้ตั้งแต่ 100-1,000 บาท/เดือน

โดยแบ่งการสมทบจากรัฐตามช่วงอายุ ดังนี้ หากเป็นแรงงานวัยรุ่นมีอายุช่วง 20-30 ปี รัฐจะสมทบให้ 50 บาท/เดือน

แต่หากเข้าสู่วัยกลางคนที่ 31-50 ปี รัฐจะสมทบให้มากขึ้นอีกเป็น 80 บาท/เดือน ขณะที่แรงงานรุ่นใหญ่สุดรัฐจะสมทบให้เต็มที่ 100 บาท/ เดือน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะหน่วยงานออกแบบ กอช. ระบุว่า หากแรงงานวัยรุ่นต้องการมีเงินเดือนหลังเกษียณมากก็อาจต้องออมมากหน่อย แต่หากตามสมมติฐานของสศค.แล้ว ถ้าออมเดือนละ 100 บาท ไปจนถึงอายุ 60 ปี จะรับเงินจากกอง ทุนนี้กลับคืนในช่วงอายุ 60-80 ปี เดือนละ 3,260 บาท และหากรวมกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐแจกอีกเดือนละ 500 บาท ก็จะได้รับทันทีเดือนละ 3,760 บาท

ส่วนแรงงานวัยกลางคน หากอยากได้รับเงินบำนาญเดือนละ 2,042 บาท รวมกับเบี้ยยังชีพ 500 บาทเป็น 2,542 บาท จะต้องออมเดือนละ 250 บาท และแรงงานวัยดึกหากอยากได้บำนาญเดือนละ 576 บาท รวมกับเบี้ยยังชีพ 500 บาทเป็น 1,076 บาท จะต้องออมเดือนละ 500 บาท และหากผู้รับบำนาญเสียชีวิตก่อนอายุ 80 ปี เม็ดเงินส่วนที่เหลือที่จะได้รับจะกลายเป็นมรดกตกทอดทันที

กอช. ถือเป็นการออมของประชาชนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รัฐต้องการดึงแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนเข้าสู่ระบบการออมด้วยความสมัครใจ จะทำให้เกิดเม็ดเงินในกองทุนนี้สูงถึง 50,000-100,000 ล้านบาท

ประกอบกับเม็ดเงินที่รัฐจะทุ่มลงไปอีก 2 หมื่นล้านบาท/ปี จะทำให้ยอดเงินกองทุนสูงถึง 1.2 แสนล้านบาทในปีแรก การบริหารเม็ดเงินดังกล่าวเป็นหน้าที่ของสำนักงานการออมเพื่อการชราภาพที่จะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

รัฐรับประกันเป็นมั่นเหมาะว่ากองทุนดังกล่าว ต่อปีจะต้องมีผลตอบแทนต่อผู้ออมไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ของค่าเฉลี่ย 5 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่

และหากที่สุดแล้วการบริหารเงินกองทุนไม่ได้อย่างที่รับประกันไว้ รัฐจะต้องชดเชยส่วนที่ขาดหาย ดังนั้นจึงจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นที่เป็นบาดแผลใหญ่ของกบข. จนทำให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุน ต้องมาขับไล่เลขาธิการกบข. อย่างที่ผ่านมา

และเพื่อให้เป็นความเสมอภาคกับสมาชิกกบข. การออมผ่านกอช. จะได้รับการยกเว้นภาษีเช่นเดียวกับกองทุนอื่นๆ

แรงงานนอกระบบ 24 ล้านรายจะเป็นใครบ้าง กระทรวงการคลังระบุว่าเป็นได้ทั้งหมดที่ไม่เป็นสมาชิก กบข. ไม่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากภาครัฐที่จ่ายเงินสมทบเพื่อวัยเกษียณอยู่แล้ว

ฉะนั้นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้มีอาชีพขับรถรับจ้าง ทั้งวินมอเตอร์ไซค์ รถตู้และรถแท็กซี่ สามารถเข้าร่วมได้ทั้งหมด ขึ้นกับความสามารถในการออม

นอกจากความหวังที่จะสร้างสวัสดิการวัยเกษียณแก่แรงงานนอกระบบแล้ว รัฐบาลยังหวังอีกว่าเม็ดเงินที่เกิดใหม่คราวนี้จะส่งผลให้มีนักลงทุนสถาบันเกิดขึ้นอีกรายในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาตลาดทุนไทยให้เติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook