กทช.บี้ค่ายมือถือ ฒพรีเพดฒวันใช้งานหมดแต่เงินเหลือต้องคืนลูกค้า ห้ามตัดสัญญาณ

กทช.บี้ค่ายมือถือ ฒพรีเพดฒวันใช้งานหมดแต่เงินเหลือต้องคืนลูกค้า ห้ามตัดสัญญาณ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
2 ปีกว่าแล้วสำหรับการเรียกร้องสิทธิผู้บริโภคในการใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบพรีเพด pre-paid โดยไม่ต้องถูกจำกัดวันหมดอายุระหว่างสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กับผู้ให้บริการมือถือ หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ออกประกาศเรื่องมาตรฐานสัญญาบริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งในข้อ 11 ของประกาศฉบับนี้ระบุว่า บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการล่วงหน้าต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า

แต่ในทางปฏิบัติผู้ให้บริการยังคงกำหนดวันหมดอายุไว้เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยอ้างว่า การจะปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ได้ กทช.จะต้องพิจารณาอนุมัติแบบสัญญาเสียก่อน ซึ่งผู้ประกอบการได้ส่งแบบสัญญาให้ กทช.พิจารณาไปเป็นปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ดังนั้นระหว่างที่ยังไม่มีการอนุมัติแบบสัญญาใหม่ตามประกาศฉบับนี้ก็จะปฏิบัติตามแนวทางเดิมที่เคยทำมาแต่เดิม

ล่าสุดที่ประชุม กทช.ได้มีมติให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเปิดให้บริการแก่ผู้ร้องเรียน 6 คนที่ถูกระงับการใช้บริการ แม้ว่าวันที่เติมเงินจะหมดลงก็ตาม อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวจะมีผลบังคับเฉพาะตัวผู้ร้องเท่านั้น

โดย น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเครือข่ายผู้บริโภค 6 คน ได้ดำเนินการยืนเรื่องร้องเรียนเข้าไปที่ กทช. กรณีถูกระงับการใช้บริการเนื่องจากวันใช้งานหมดอายุลง ประกอบด้วย 1.นายวีระวุฒิ ธรรมยงค์กิจ 2.นายสมเกียรติ เขียวชุ่ม 3.ร.ต.เอกชัย วิทยะ ยื่นร้องเรียนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ว่า ระงับการให้บริการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ กทช.มีคำสั่งเยียวยาความเสียหายเป็นการชั่วคราว

4.น.ส.สกาวรัช บัวเอี่ยม ยื่นคำร้องขอให้เยียวยาความเสียหายเป็นการชั่วคราวกรณี บจ.ทรูมูฟกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า 5.น.ส.ปัทมนันท์ บุณเสรีพิพัฒน์ และ 6.นายสมชาย วิริยกิจโกศล ยื่นคำร้องขอให้เยียวยาความเสียหายเป็นการชั่วคราวกรณี บจ.ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย กำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า

นอกจากนี้ สบท.ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการคืนเงินแก่ผู้บริโภคในกรณีซิมการ์ดหมดอายุ แต่ยังมีเงินเหลือในบัญชีให้ กทช.พิจารณา โดยมีแนวปฏิบัติ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ต้องคืนเงินคงค้างในซิมการ์ดที่หมดอายุ เพราะเงินส่วนนี้ไม่ใช่เงินของโอเปอเรเตอร์ 2. ผู้บริโภคเลือกโอนเงินคงเหลือในซิมการ์ดไปยังเลขหมายอื่นที่ยังใช้งานได้ และ 3.เสนอให้เพิ่มวันหมดอายุในบัตรเติมเงินขั้นต่ำเป็น 90 วัน เพราะเวลาที่กำหนดอยู่ทุกวันนี้สั้นเกินไป

เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กทช.ได้มีมติให้ผู้ประกอบการเปิดบริการแก่ผู้ร้องทั้ง 6 คนต่อไป แม้ว่าวันที่เติมเงินจะหมดลงก็ตาม แต่มติดังกล่าวจะมีผลบังคับเฉพาะตัวผู้ร้องเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการทั่วไป ขณะเดียวกัน กทช.มีมติให้นำแนวปฏิบัติที่ สบท.เสนอทั้ง 3 ข้อข้างต้นไปใส่ไว้ในแบบสัญญาที่ผู้ประกอบการจะนำไปใช้ในอนาคต ซึ่งหมายความว่า หากผู้ประกอบการต้องการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ คือต้องคืนเงินคงค้างในซิมการ์ดที่หมดอายุหรือให้โอนมูลค่าเงินดังกล่าวไปยังเลขหมายอื่นได้ รวมทั้งต้องขยายเวลาวันหมดอายุบัตรเติมเงินเป็นขั้นต่ำ 90 วัน

นอกจากนี้ สบท.กำลังจะต่อยอดโดยจะทำข้อเสนอการเยียวยาชั่วคราวผู้บริโภคให้ กทช.พิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยมีหลักการว่า หากผู้บริโภครายอื่นร้องเรียนเข้ามาโดยมีพฤติการณ์ในกรณีเดียวกับ 6 คนที่ กทช.ได้มีมติ ก็ให้เลขาธิการสำนักงาน กทช. สามารถลงนามให้มีคำสั่งเยียวยาแก่ผู้ร้องได้โดยไม่ต้องเสนอเรื่องให้บอร์ด กทช.พิจารณา

ขณะเดียวกันจะมีผู้ร้องเรียนเข้ามาอีกกลุ่มที่ต่างจากกรณีแรก คือเป็นผู้ใช้บริการที่ถูกระงับบริการเนื่องจากเงินที่เติมไว้หมดอายุ และได้ไปชำระเงินเพื่อให้ใช้บริการได้แล้ว แต่ยังมีเงินคงค้างก่อนถูกระงับสัญญาณที่ยังไม่ได้คืน โดยจะขอให้ กทช.มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการคืนเงินส่วนนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook